“มะฮ์ดี ซาเรอ์” ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมอิหร่าน : ครบรอบ 4 ปี ลอบสังหารนายพลกอเซม สุไลมานี สหรัฐฯ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์

สัมภาษณ์ "มะฮ์ดี ซาเรอ์" (Mehdi Zare Bieib) ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทย เนื่องในวาระครบรอบ 4 ปี ลอบสังหารนายพลกอเซม สุไลมานี

“มะฮ์ดี ซาเรอ์” (Mehdi Zare Bieib) ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทย

3 มกราคม เมื่อสี่ปีที่แล้ว หนึ่งในผู้นำทางทหารชั้นยอดของอิหร่าน “นายพลกอเซม สุไลมานี” ถูกสหรัฐฯ ลอบสังหาร โดยใช้โดรนโจมตีทางอากาศในอิรักขณะเขาเดินทางออกจากสนามบินนานาชาติแบกแดด 

“โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น รับว่าเป็นผู้ออกคำสั่งสังหาร โดยระบุว่านายพลสุไลมานี “ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของทหารสหรัฐฯ หลายพันนาย”

การโจมตีดังกล่าวก่อให้เกิดความโกรธไปทั้งในอิหร่านและตะวันออกกลาง พร้อมเสียงเรียกร้องให้แก้แค้นดังกระหึ่มจากขบวนการต่อสู้ต่างๆ

ก่อนที่นายพลสุไลมานีจะเสียชีวิต เขาเป็นบุคคลที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในฐานะผู้บัญชาการสนามรบที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของประเทศอิหร่านและตะวันออกกลาง

สุไลมานีมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มติดอาวุธที่หลากหลาย ซึ่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเรียกกลุ่มเหล่านี้ว่า “ฝ่ายอักษะแห่งการต่อต้าน” ขณะที่ชาติตะวันตกเรียกพวกเขา “นักรบตัวแทนของอิหร่าน”

ในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษในฐานะผู้บัญชาการ “กองกำลังกุดส์” (Quds force) หน่วยทหารชั้นยอดในสังกัด “กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน” หรือ “IRGC” สุไลมานีสามารถสร้างเครือข่ายกองกำลังพันธมิตรที่ทรงประสิทธิภาพครอบคลุมตั้งแต่เยเมนไปจนถึงเลบานอน โดยทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ แต่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสราเอลและสหรัฐอเมริกา

แม้สี่ปีผ่านไปนับตั้งแต่การลอบสังหาร ทว่าปัญหาระหว่างทั้งสองประเทศ “อิหร่าน-สหรัฐฯ” รวมไปถึงแนวรบของสรัฐฯ กับกองกำลังฝ่ายต่อต้านต่างๆ ก็ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น

โอกาสนี้ เดอะพับลิกโพสต์ ได้สัมภาษณ์ “มะฮ์ดี ซาเรอ์” (Mehdi Zare Bieib) ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทย ต่อมุมมองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนายพลสุไลมานี

“มะฮ์ดี ซาเรอ์” เพิ่งมารับตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมฯ ประจำประเทศไทยเมื่อปลายเมษายนปีที่ผ่านมา แทนคนเก่าที่หมดวาระ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นเขาเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น หัวหน้าสำนักเลขาธิการสภาสูงสุดขององค์กรวัฒนธรรมและการสื่อสารอิสลาม ผู้อำนวยการรองอธิการบดีองค์การวัฒนธรรมนานาชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หัวหน้าองค์การศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมนานาชาติ เป็นต้น

ชาติตะวันตกไม่บรรลุวัตถุประสงค์

ในการพูดคุยกับเดอะพับลิกโพสต์ “มะฮ์ดี ซาเรอ์” ชี้ชัดว่า แม้การลอบสังหารนายพลกอเซม สุไลมานีผ่านไป 4 ปีแล้วก็ตาม แต่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตนต้องการ

“เป้าหมายของสหรัฐฯ ในการสังหารนายพลสุไลมานี ก็เพื่อจะกำราบขบวนการนักต่อสู้ต่างๆ (ในตะวันออกกลาง) ที่ต่อต้านผู้ก่อการร้ายตะวันตกหรือกลุ่มคนที่พวกเขาสร้างขึ้น เพราะเชื่อว่าเมื่อสิ้นนายพลสุไลมานีแล้วจะทำให้ขบวนการต่อสู้ปราศจากผู้นำที่มีอิทธิพลในการชี้นำ และทำให้นักต่อสู้หรือเหล่าขบวนการมุกอวามะห์พวกนี้อ่อนแอ”

“ซึ่งทรัมป์ก็ยอมรับว่าตนเป็นคนที่ออกคำสั่งให้ลอบสังหารนายพลสุไลมานี เพื่อที่จะทำให้กองกำลังของนายพลสุไลมานีอ่อนแอลง นี่คือเป้าหมายของอเมริกา”

“หลังจากนายพลสุไลมานีถูกสังหารแล้ว อเมริกาเชื่อว่าจะทำให้อิหร่านอ่อนแอลง บรรดามุกอวามะห์หรือนักต่อสู้อ่อนแอลงตามแผนและเป้าหมายที่อเมริกาวางเอาไว้ แต่ทว่าเป้าหมายนั้นหาได้เกิดขึ้นจริงไม่ ในทางกลับกันการสังหารนายพลสุไลมานียิ่งทำให้บรรดาขบวนการต่อต้านและนักต่อสู้กลับยิ่งเข้มแข็งขึ้น” มะฮ์ดี ซาเรอ์ กล่าว

ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมฯ อธิบายว่า เพราะนายพลสุไลมานีไม่ได้เป็นแค่เพียงนายพลผู้บังคับบัญชาการรบแต่เท่านั้น แต่เขาเป็นแนวคิดและแนวทางในการต่อสู้กับชาติตะวันตกในเชิงประจักษ์

“ท่านเป็นแนวคิดหนึ่ง เป็นแนวคิดและวิถีแห่งการต่อสู้ในเชิงจิตวิญญาณ เพื่อให้ได้รับชัยชนะ เพื่อต่อสู้กับการกดขี่ เพื่อปลดปล่อยการกดขี่ เช่นที่ผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านได้เคยกล่าวถึงท่านไว้ว่า…นายพลสุไลมานีไม่ได้เป็นแค่เป็นคนๆ หนึ่ง แต่ท่านเป็นสุไลมานีที่เป็นแนวคิด เป็นแนวคิดที่บรรดานักต่อสู้จะได้นำเอาไว้เป็นไอดอล ยึดเอาเป็นแบบอย่างปฏิบัติตาม ตามวิถีของต่อสู้ของท่าน” มะฮ์ดี ซาเรอ์ กล่าว

เขาย้ำว่า “สิ่งที่เป็นวิถีและแนวคิดหรือแนวทางการต่อสู้นั้น ไม่สามารถทำให้ตายลงเพียงแค่เพียงสังหารคนต้นแบบแค่เพียงคนเดียวได้หรอก สิ่งที่เป็นแนวคิดและแนวทางนั้น เมื่อคนที่เป็นผู้นำตายไปหรือถูกสังหารก็จะมีคนใหม่ลุกขึ้นมาแทนที่”

“ด้วยแนวคิดแบบนี้แหละที่ทำให้นักต่อต้านหรือนักต่อสู้ที่เคยอ่อนแอไม่มีความกล้ามากพอที่จะต่อสู้ ได้รับอิทธิพลทางความคิดและลุกขึ้นมาต่อสู้ตามอย่างเต็มกำลัง อย่างในเยเมน และที่อื่นๆ”

“การตัดกำลังคนแค่เพียงคนหนึ่งมันไม่ใช่ว่าจะทำให้คนอื่นๆ อ่อนแอ แนวคิดแห่งการต่อสู้นี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป” ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมฯ กล่าว

ชะฮีดสุไลมานีที่ยิ่งใหญ่กว่านายพลสุไลมานี

ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมฯ ชี้ให้เห็นนัยยะสำคัญบางอย่างหลังนายพลสุไลมานี ถูกลอบสังหารว่า การเสียชีวิตนี้ได้ทำให้ผู้บัญชาการทหารกองกำลังชั้นยอดถูกรู้จัก เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ และทำให้เขาเป็นไอดอลของนักต่อสู้

“ก่อนหน้าที่นายพลสุไลมานีจะถูกสหรัฐฯ ลอบสังหารนั้น มีคนที่รู้จักนายพลสุไลมานีน้อยมาก แม้แต่ในอิหร่านก็ยังมีคนน้อยมากที่รู้จักนายพล เว้นแต่คนที่สนใจเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ คนที่สนใจการเมือง หรือคนที่อยู่ในแวดวงการทหาร คนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองเท่านั้นที่รู้จักท่าน”

“แต่เมื่อนายพลได้เป็นชะฮีด (สละชีพในหนทางของพระเจ้า) คนเกือบทั้งโลกที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองได้รู้จักท่าน และเวลานี้ผู้คนเรียกขานนามของท่าน ว่า “ชะฮีดสุไลมาน หรือ ชะฮีดสุไลมานี”

“ซึ่งคำว่า…ชะฮีดสุไลมาน นั้นมีสถานภาพที่ยิ่งใหญ่กว่านายพลสุไลมานหลายพันเท่า” และทุกวันนี้ ชะฮีดสุไลมานีได้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เป็นไอดอลของนักต่อสู้ ที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยการถูกกดขี่ไปทั่วโลก” ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมฯ อธิบายพร้อมย้ำว่า “ชะฮีดสุไลมานีจึงยิ่งใหญ่กว่านายพลสุไลมานี”

นายพลกอเซม สุไลมานี

สืบทอดวิญญาณของสุไลมานี

ตามคำอธิบายของ ”มะฮ์ดี ซาเรอ์” ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมฯ ดูเสมือนว่านายพลกอซิม สุไลมานี ที่เสียชีวิตจะยังคงมีอิทธิพลทางความคิดและจิตวิญญาณต่อชาวอิหร่านและขบวนการต่อต้านต่างๆ ยิ่งกว่าช่วงเวลาที่เขายังมีชีวิต

“ผมขอยกตัวอย่างนักรบในเยเมน พวกเขาเป็นรู้จักกันในนามนักต่อสู้กางเกงวอร์มสามขีด ไม่มีอาวุธอะไรมากมาย ไม่มีเครื่องแบบทหารสวมใส่ วันนี้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้นมาได้อย่างไร?”

“นี่คือการสืบทอดอุดมการณ์การต่อสู้แบบนายพลสุไลมานีหรือชะฮีดสุไลมานี สิ่งที่นายพลสุไลมานีสร้างในเยเมนคือการสร้างแนวทางแห่งการต่อสู้ การที่ฝ่ายตะวันตกกล่าวว่า อิหร่านไปสร้างความปั่นป่วนในโลกอาหรับนั้นเป็นสิ่งตรงกันข้าม พวกตะวันตกต่างหากที่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนในโลกอาหรับ พวกเขาไม่ต้องไม่ต้องการให้เลบานอน ซีเรีย อิรัก และเยเมนรวมตัวกันได้”

“แต่ท่านชะฮีดสุไลมานีมาสร้างแนวทางและแนวคิดให้กลุ่มโลกอาหรับกลุ่มนี้รวมตัวกันได้ ผู้ที่มาสร้างความปั่นป่วนที่แท้จริงในโลกอาหรับแท้จริงแล้วคืออเมริกาและอิสราเอล”

“ความแตกต่างระหว่างนายพลสุไลมานีกับชะฮีดสุไลมานีคือ ชะฮีดสุไลมานีได้สร้างแนวทางแห่งการเปลี่ยนแปลงขึ้น สร้างทางเดิน ทางแห่งการต่อสู้ให้กับนักรบนักต่อสู้ทั้งหลายได้เดินตาม”

เครืองมืออิหร่านในการขยายอิทธิพล?

นักวิชาการและนักวิเคราะห์บางส่วนมีมุมมองว่า นายพลกอเซม สุไลมานีและกองกำลังกุดส์ เป็นเครืองมือของอิหร่านในการขยายอิทธิพลในตะวันออกกลาง และเป็นตัวแสดงสำคัญที่ทำให้ภูมิภาคนี้มีความโกลาหล สำหรับกรณีนี้ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมฯ ชี้ว่า “อิหร่านไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออะไรในการโชว์ว่ามีอำนาจในตะวันออกกลาง”

“เพราะสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองเห็นนั้น ก็คือว่าอิหร่านมีอำนาจและแสนยานุภาพเหนือกว่าทุกประเทศในตะวันออกกลาง ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออะไร”

“ทุกคนก็รู้ว่าอิหร่านมีศักยภาพในด้านการพัฒนาต่างๆ ทั้งความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ ความสามารถในด้านพลังงานนิวเคลียร์ ทุกคนรู้ทุกคนเห็น มันชัดเจนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ชะฮีดสุไลมานีมาโชว์ หรือมาสร้างอำนาจในตะวันออกกลางหรอก”

“ที่จริงแล้วคนแบบนายพลสุไลมานีนี้ในอิหร่านมีจำนวนมาก! ไม่ใช่ว่าเรามีนายพลสุไลมานีคนเดียวที่สามารถทำแบบนี้ได้ สิ่งที่อิหร่านต้องการทำหรือให้ความสำคัญกับนายพลหรือชะฮีดสุไลมานี เพื่อที่จะส่งออกแนวทางแห่งการต่อสู้ ส่งออกแนวคิดต่อต้านการกดขี่ต่างหาก จึงต้องใช้ชื่อชะฮีดสุไลมานีมาโปรโมทการต่อสู้ ในระดับโลกนี่อิหร่านก็มีแรงกิงค์ในการต่อสู้ที่คนทุกคนยอมรับอยู่แล้ว”

เหตุระเบิดงานรำลึกครบรอบนายพล

สถานการณ์ในตะวันออกกลางทวีความซับซ้อนขึ้นไปอีก  เมื่อเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในอิหร่าน ในบ่ายวันพุธ (3 ม.ค.) ที่เมืองเคอร์มาน ทางตอนใต้ของประเทศ ในสถานที่ฝังร่างของนายพลกอซิม สุไลมานี ระหว่างที่ประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงการจากไปของนายพลรายนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 100 กว่าราย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมฯ แจงที่มาที่ไปของสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นว่า คนกลุ่มนี้ต้องการทำลายแนวคิดหรือแนวทางของนายพลสุไลมานี และต้องการเบี่ยงเบนสายตาของผู้คนจากแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มฮามาส

“ล่าสุดกลุ่มดาอิช หรือ IS ก็ได้ออกมายอมรับแล้วว่า พวกเขาเป็นคนทำเอง แล้วถามว่า ดาอิช หรือ IS มาจากตรงไหน? ก็มาจากอเมริกา ที่ฮิลลารี คลินตันก็ได้ออกมายอมรับแล้วว่าพวกเขาเป็นคนสร้างอัล-กออิดะห์และดาอิช (IS) ขึ้นมาเอง ซึ่งคนทั่วไปก็จะมองว่า คนมุสลิมฆ่ากันเองอีกแล้ว ซึ่งอันที่จริงพวกดาอิชมาฆ่าชาวอิหร่าน เพื่อต้องการเบี่ยงเบนสายตาของผู้คนจากการต่อสู้ของพี่น้องในกาซา ในปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่เกิดจากแนวคิดการประสานงานของชะฮีดสุไลมานี แต่พวกมันได้คิดผิดอย่างมากที่ไปสังหารเด็กและสตรี”

แต่พวกเขาคิดผิด!

นอกจากเหตุระเบิดในอิหร่านแล้ว ยังมีเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำฮามาสในเลบานอน โจมตีทางอากาศสังหารนายพลจัตวา ซัยยิด ราซี มูซาวี นายทหารอาวุโสของอิหร่านในซีเรีย โจมตีสังหารแกนนำฮัชด์ชะบีในอิรัก ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับช่วงเวลาครบรอบการลอบสังหารนายพลกอเซม สุไลมานี เหตุการณ์เหล่านี้จะเชื่อมโยงกันหรือฝ่ายศัตรูของอิหร่านที่ต้องการส่งสัญญาณบางอย่างหรือไม่? เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมฯ กล่าวว่า

“เมื่อแนวคิดหนึ่งถูกจุดติดแล้ว มีผู้คนหรือนักต่อสู้ได้ยอมรับและแพร่ขยายไปแล้ว ในอิรักก็ยอมรับในแนวคิดนี้ ในซีเรียแนวคิดนี้ก็ถูกจุดติดไปแล้วมีคนยอมรับและยึดถือเป็นแนวทางแห่งการต่อสู้ ในปาเลสไตน์นักต่อสู้ชาวฮามาสก็ยอมรับแล้ว พวกตะวันตกจึงต้องการหยุดยั้งแนวคิดนี้ ก็ไปฆ่าทีละคน เช่น ไปฆ่าซัยยิดราซี ในซีเรีย ไปฆ่าผู้นำการต่อสู้ในอิรักอีกที่หนึ่ง ฆ่าผู้นำที่กำลังต่อสู้อีกที่หนึ่ง เพื่อที่ประกาศว่า เฮ้ยเรา (ชาวตะวันตกและสมุน)กำลังต่อต้านแนวคิดนี้นะ เรายังอยู่นะ เราไม่ได้หายไปไหน พวกยุโรปและอเมริกาได้แสดงตนว่า ยังต้องการทำลายแนวคิดนี้อยู่“

“แต่ว่าพวกเขาก็ยังคิดผิดเหมือนเดิม เพราะคิดว่าการฆ่าบุคคลที่เป็นผู้นำแล้ว จะสามารถทำให้แนวคิดนี้หายไป แต่กลับกันการที่พวกเขาทำแบบนี้ก็จะมีผู้คนมากมายลุกขึ้นมาสืบสานอุดมการณ์รับงานแห่งการต่อสู้นี้ต่อ การฆ่าคนหนึ่งก็จะเกิดขึ้นมาอีกตั้งไม่รู้เท่าไหร่ เหมือนสุภาษิตไทยที่ว่า “ตายสิบเกิดแสน”

“คนพวกนี้คิดผิด คิดว่าการฆ่าผู้นำจะสามารถห้ามปรามแนวคิดแห่งการต่อสู้นี้ได้ คนพวกนี้ไม่เชื่อว่า การเข่นฆ่าผู้คนนี่มันจะมีกรรมตามสนองตามมา คนพวกนี้ไม่มีความเชื่อในเรื่องกรรม แต่ให้รู้ไว้เถิดว่าคนพวกนี้จะได้รับกรรมตามสนองอย่างแน่นอนในอนาคต“

สิ่งที่โลกควรตระหนัก

ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมฯ ย้ำว่า โลกต้องรับรู้ว่า การกดขี่ข่มเหงคนอื่นนั้นจะไปสามารถข่มเหงได้ตลอดไป ชาวโลกต้องตระหนักว่า อิสรภาพและเสรีภาพนั้นเป็นของชาวโลกทุกคน ไม่ได้เป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิเท่ากันในการที่จะดำรงอยู่ในโลกนี้อย่างไม่ถูกกดขี่และมีอิสรภาพ โลกจะต้องรู้ว่า การมีแค่เพียงประเทศเดียวที่จะสามารถทำลายมติของชาวโลกส่วนใหญ่ได้นั้น เวลานั้นมันกำลังจะหมดไป สิ่งแบบนี้จะไม่มีอยู่ในโลกอีกต่อไป

“โลกจะต้องรับรู้ว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถใช้ทรัพยากรในประเทศของตัวเองเท่านั้น หากจะใช้ทรัพยากรของประเทศอื่นจะต้องใช้ในวิถีที่ชอบธรรม อย่าเข้าไปรุกรานเพื่อนำเอาทรัพยากรของประเทศอื่นด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรม เหมือนที่อเมริกามันกำลังทำ การที่อเมริกามันข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศต่างๆ เพื่อกอบโกยทรัพยากรของประเทศอื่นนั้น โลกต้องรับรู้ว่า มันจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป”

“เรามีคำขวัญหรือสาส์นที่จะบอกกับชาวโลกว่า “ไฮฮาดมินนัสซิลละห์” คือถ้ามีการกดขี่ขึ้นมาเมื่อไหร่ อย่ายอม ต้องต่อสู้ เราต้องออกห่างจากการถูกกดขี่และความต่ำต้อย การยอมถูกกดขี่บนความต่ำต้อยนั้นย่อมไม่ใช่เรา” ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทยกล่าวทิ้งท้าย