การก่อตั้งรัฐอิสราเอลมีรากฐานมาจากมรกดกของลัทธิจักรวรรดินิยมยุโรป แต่ทิศทางของระบอบการปกครองนี้ในปัจจุบันอาจย้อนกลับมาสร้างภัยคุกคามต่ออำนาจครอบงำของตะวันตกในในตะวันออกกลางและที่อื่น ๆ ตามที่นักวิเคราะห์อย่าง “โรเบิร์ต แฟนตินา” และ “นิโก เฮาส์” กล่าวในรายการ The Critical Hour ทาง สปุตนิก สื่อรัสเซีย เมื่อวันพฤหัส 3 ต.ค.
“จำไว้ว่าประเทศอิสราเอลคือสัตว์ประหลาดที่สหรัฐฯ สร้างขึ้น และตอนนี้พวกเขาควบคุมมันไม่ได้แล้ว” แฟนตินากล่าวเตือน เขายังเสริมว่า “ความเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะลากสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามครั้งใหญ่ในตะวันออกกลางกำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน และนั่นจะเป็นหายนะสำหรับทุกคน”
โครงการไซออนนิสต์ ซึ่ง “ธีโอดอร์ เฮอร์เซล” ผลักดันในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นั้นมีแนวคิดในเชิงลัทธิการแบ่งแยกทางเชื้อชาติอย่างชัดเจน โดยเขาพยายามนำเสนอว่าอิสราเอลจะเป็นฐานหน้าด่านของ “อารยธรรมตะวันตก” ในการต่อต้าน “ความป่าเถื่อน” ของโลกอาหรับ
แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับจากมหาอำนาจยุโรปอย่างดี โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งรัฐอิสราเอลบนดินแดนที่ตนล่าอาณานิคมในลิแวนต์ แต่ในเวลาต่อมา สหรัฐฯ กลับกลายมาเป็นผู้สนับสนุนที่ทรงอิทธิพลที่สุดของอิสราเอล หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ปัจจุบัน การปกป้องอิสราเอลกลายเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนโยบายตะวันตกในตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และผลประโยชน์ของตนอย่างมาก การกระทำของอิสราเอล โดยเฉพาะท่าทีเชิงทหารต่อเพื่อนบ้าน ทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ตกอยู่ในอันตราย
“ผมเชื่ออย่างจริงจังว่าสหรัฐฯ ต้องการข้อตกลงหยุดยิง เพราะพวกเขามีผลประโยชน์ในเลบานอน” เฮาส์กล่าวและว่า “[อิสราเอล] ไม่สามารถรับมือกับสงครามนั้นได้ด้วยตัวเอง นั่นหมายความว่าเราจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งนั่นเป็นท่าทีที่ไม่เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ”
ความเห็นของเขาสะท้อนถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าสหรัฐฯ ซึ่งในปัจจุบันกำลังพัวพันในสงครามตัวแทนกับรัสเซียในยูเครน อาจไม่สามารถรับมือกับความขัดแย้งขนาดใหญ่อีกครั้งในตะวันออกกลางได้ หากสงครามหลายด้านของอิสราเอลขยายตัว โดยเฉพาะหากต้องเผชิญหน้ากับอิหร่าน สหรัฐฯ อาจถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งที่ไม่พร้อมและไม่ต้องการเข้าร่วม
ช่วงเวลาของความตึงเครียดนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐฯ ขณะที่นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ใช้ถ้อยคำที่แข็งกร้าวและเรียกร้องให้สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลในการต่อสู้หลายแนวรบ ความคิดเห็นของชาวอเมริกันเริ่มเบื่อหน่ายกับการแทรกแซงทางทหารในต่างแดน เฮาส์เน้นย้ำว่าการที่สหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามอีกครั้งในตะวันออกกลางจะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่นิยมในประเทศอย่างแน่นอน
ในขณะเดียวกัน ดุลอำนาจในภูมิภาคก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป อิทธิพลของรัสเซีย การเพิ่มขึ้นของอิหร่าน และการเข้ามามีบทบาทของจีนในการทูตตะวันออกกลางเป็นปัจจัยที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้การครองอำนาจของตะวันตกยากขึ้น แนวร่วมตะวันตกที่เคยลงทุนมหาศาลในอิสราเอลอาจกำลังเป็นตัวการที่ทำให้การเสื่อมถอยของอิทธิพลของตะวันตกในภูมิภาคนี้เร่งตัวขึ้น
โครงการไซออนนิสต์ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกยกย่องว่าเป็นฐานที่มั่นของอารยธรรมตะวันตก อาจกลายเป็นปัจจัยหลักในการเร่งความเสื่อมถอยของอำนาจครอบงำโลกของตะวันตก ความขัดแย้งในภูมิภาคไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการอยู่รอดของอิสราเอลเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจที่อาจกำหนดอนาคตของระเบียบโลก