UNFPA หนุนพลังเยาวชนและผู้หญิง เข้าถึงสิทธิทางเลือกด้านสุขภาพ

UNFPA กรมอนามัย เรกคิทท์ และ ภาคีร่วมเสริมพลังเยาวชนและผู้หญิง ให้เข้าถึงสิทธิและทางเลือกด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์

UNFPA ประเทศไทย ร่วมกับกรมอนามัย บริษัทเรกคิทท์ (Reckitt) และพันธมิตรหลักจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม กลุ่มเยาวชน วัยรุ่น และ องค์กรพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมตลาดความรู้ งานเสวนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อ “เสริมพลังเยาวชนและผู้หญิง: การเข้าถึงสิทธิและทางเลือกด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์” เพื่อต่อยอดข้อปฏิบัติที่ดีและสร้างความร่วมมือในการผลักดันให้กลุ่มเยาวชนและผู้หญิงได้รับสิทธิและบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างทั่วถึง โดยงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เสริมพลังเยาวชนเข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวให้ทั่วถึงอย่างเท่าเทียม” (Empowering our Youth Project , Access to Sexual and Reproductive Health and Rights, and Family Planning for All) สนับสนุนโดย Reckitt และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประเทศไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือครั้งนี้หน่วยงานภาคีต่างๆ เน้นการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ เป้าหมายที่ 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) และ เป้าหมายที่ 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้กำหนดนโยบายและภาคส่วนต่างๆได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และนวัตกรรมที่จะช่วยลดความรุนแรงบนฐานเพศและเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเปราะบาง

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวนโยบายเรื่องสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ว่า กรมอนามัยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายที่ส่งเสริมให้ประชากรวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะเยาวชนและผู้หญิง ได้รับสิทธิและบริการที่ตรงตามหลักสิทธิและความต้องการ เราจะเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างระบบสุขภาพที่ครอบคลุมและเป็น
มิตรกับทุกคน

ดร.จูลิตตา โอนาบันโจ ผู้แทน UNFPA ประจำประเทศมาเลเซียและผู้อำนวยการ UNFPA ประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิและทางเลือกด้านอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นสิ่งที่ทุกคนควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม พลังผลักดันและขับเคลื่อนจากปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน โดยปัจจ้ยที่ 1 คือ การให้ข้อมูลและบริการที่ถูกต้องและครบถ้วนเพื่อเพิ่มความรู้และข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ให้แก่เด็กผู้หญิง ผู้หญิง และเยาวชนที่มีภูมิหลังในทุกบริบท นี่รวมถึงการแจกจ่ายถุงยางอนามัยและการวางแผนครอบครัว รวมถึง การให้ความรู้เรื่องเพศอย่างครอบคลุม (Comprehensive Sexuality Education) ปัจจัยที่ 2 คือ คือการสร้าง สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการและข้อมูล สำหรับผู้หญิง เด็กผู้หญิง กลุ่ม LGBTQAI+ และเยาวชนกลุ่มเปราะบาง โดยคำนึงถึงอุปสรรคด้าน ค่านิยมและวัฒนธรรม ที่ขัดขวางไม่ให้พวกเขาได้รับสิทธิด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ปัจจัยที่ 3 คือการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนและผู้หญิง ในทุกโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยทั้งหมดนี้ ความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายสิทธิและทางเลือกด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมช่วยการเคารพเสียงของเยาวชนและผู้หญิงในการกำหนดอนาคตของตัวเอง ซึ่งเป็นรากฐานสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง”

ด้าน นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า งานในวันนี้จะเป็นเหมือนตลาดความรู้สำหรับท่านผู้กำหนดนโยบายทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคีเครือข่ายที่ทำงานเรื่องนี้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้อปฏิบัติที่ดี บทเรียน และรูปแบบ เพื่อนำไปปรับใช้กับนโยบาย และพื้นที่ที่มีความต้องการกระตุ้นความรับรู้เรื่องสิทธิและทางเลือกอนามัยการเจริญพันธุ์มากขึ้น เนื่องจาก สิทธิและทางเลือก “Rights and Choices” เรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นเรื่องของทุกคน”

ในส่วนของภาคีจากภาคเอกชน ดร.นพ.ปณต ประพันธ์ศิลป์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ภูมิภาคอาเซียน บริษัทเรกคิทท์ กล่าวเสริมว่า “เรกคิทท์มีความภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับ UNFPA และภาคีภาครัฐ ภาคประชาสังคม และกลุ่มเยาวชนวัยรุ่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกผ่านการเสริมพลังเยาวชน วัยรุ่น และผู้หญิง เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ประชากรทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน วัยรุ่นและผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่สุดได้มีโอกาสอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อสร้างรากฐานที่ดีในการพัฒนาชีวิตภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) และ เป้าหมายที่ 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ)”

“งานครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ ศูนย์อนามัยเขตที่ 1 เชียงใหม่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, มูลนิธิรักษ์ไทย, สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย(สวท) ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, กลุ่มพลังโจ๋ จังหวัดแพร่, กลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่, เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย, และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เสริมพลังเยาวชนเข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวให้ทั่วถึงอย่างเท่าเทียม” (Empowering our Youth Project , Access to Sexual and Reproductive Health and Rights, and Family Planning for All) สนับสนุนโดย Reckitt และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประเทศไทย ซึ่งมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่ส่งเสริมศักยภาพและความเท่าเทียมด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์” หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประเทศไทย กล่าวย้ำ