โดย สมาน อู่งามสิน
อ.มัลลิกา คณานุรักษ์ พ.ม., ศศ.บ. , กศ.ม. (ภาษาไทย) จากภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้รวบรวมเพลงกล่อมเด็กไทยมุสลิมภาคใต้ จากหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ของจังหวัดปัตตานีและจัดพิมพ์เป็นเล่มเมื่อเดือนมกราคม 2524 โดยได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือในการแปลภาษายาวีเป็นภาษาไทยจากคุณอนันต์ วัฒนานิกร คุณวัน มโรหบุตร อ.ไพฑูรย์ มาศมินทร์ไชยนรา และคุณนิมะ สุไลมาน
เรา อาจจินตนาการได้ว่า มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์มีบทเพลงกล่อมเด็กของตนเอง ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีชีวิตอยู่บนภูสูง หรือในป่าดงดิบ หรือบนฝั่งทะเล หรือในหุบเหวลึกก็ตาม อ.มัลลิกา ได้กรุณาอธิบายความหมายและความสำคัญของเพลงกล่อมเด็กของชนชาติต่างๆ ไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า
“มนุษย์ ทุกชาติทุกภาษามีเพลงกล่อมเด็กไว้สำหรับ ร้องกล่อมลูก เพื่อให้ลูกรักนอนหลับ ไม่ร้องไห้กวนโยเย ชาติทางยุโรปมีชื่อเรียกเพลงกล่อมเด็กต่างๆ กัน เหมือนๆ กับการเรียกชื่อเพลงกล่อมเด็กไทยในแต่ละภาค เช่น อังกฤษเรียกเพลงกล่อมเด็กว่า Mother Goose อเมริกาเรียก Lullaby ฯลฯ ส่วนเพลงกล่อมเด็กของไทยภาคเหนือเรียก เพลงอื่อ หรือเพลงอื่อลูก ภาคอีสานกับภาคกลางเรียกเหมือนกันว่า เพลงกล่อมลูกหรือเพลงกล่อมเด็ก ภาคใต้ไทยพุทธ เรียกเพลงร้องเรือ เพลงชาน้อง เพลงช้าน้อง เพลงนอน และเพลงแปล ส่วนภาคใต้ไทยมุสลิม เรียกเพลงกล่อมเด็กว่า อูเละ ตีโด คำว่า อูเละ หมายถึง การร้องขับกล่อม ส่วนคำว่า ตีโด หมายถึง นอนหลับ รวมความแล้วหมายถึงการร้องขับกล่อมให้นอนหลับ
ฉันทลักษณ์ ของเพลงกล่อม เด็กแต่ละชาติ แต่ละภาษาแตกต่างกัน แม้เพลงกล่อมเด็กของไทยในแต่ละภาคก็มีฉันทลักษณ์ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะเพลงกล่อมเด็กเป็นวรรณคดีประเภทมุขปาฐะ (Oral Literature) และเพลงกล่อมเด็กไม่ว่าชาติใด ภาษาใด น่าจะมีวิวัฒนาการมาจากการเล่านิทาน หรือนิยายให้เด็กฟังในเวลานอน เพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน และรู้สึกอบอุ่นใจว่าขณะที่นอนหลับมิได้อยู่คนเดียว มีคนอยู่เป็นเพื่อนด้วย เด็กจะได้ไม่ว้าเหว่ เด็กก็จะนอนหลับอย่างสบาย แต่การหานิทาน หรือนิยายมาเล่าให้เด็กฟังนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากกว่าเด็กจะนอนหลับ จึงได้คิดหาทำนองเพลงช้าๆ มาใส่ไว้ด้วย จนกลายเป็นเพลงกล่อมเด็ก”
ถ้า ศึกษาต่อยอดองค์ความรู้ที่อ.มัลลิกาได้รวบรวมไว้จะพบว่า เนื้อหาของเพลงกล่อมเด็กไทยมุสลิมภาคใต้ อาจแบ่งเป็นหมวดหมู่อย่างไม่ละเอียดนักได้ดังนี้ คือ ว่าด้วยความยากลำบากในการเลี้ยงลูก ว่าด้วยศาสนาอิสลาม ว่าด้วยปรัชญาชีวิตที่ผูกพันกันของมนุษย์ พืช และสัตว์ และว่าด้วยสภาพชีวิตทางสังคมของคนไทยมุสลิมที่เกี่ยวข้องกับคนไทยพุทธและคน จีน ลองเริ่มอ่านดูสักบทหนึ่งจากหลายบทที่ว่าด้วยความยากลำบากในการเลี้ยงลูก
“ตีโดร์ ละฮ์ ตีโดร์ อาแก เราะ ตีโดร์
ตาโกะ ละฮ์ มูแซ ตือฆอลง ตีโดร์
เนาะ ละฮ์ มาฤ อาเมะ ออแฤ ตีโดร์
บือแฌ ละฮ์ มาตอ อารี ซูเดาะฮ์ มาแล
ฌาแง โดะ ตาโกะ เมาะ โดะ อาดอ
อาเยาะฮ์ มูบือรมี บูวะ กือรีญอ
บางัตละฮ์ บาลิ อาเยาะฮ์ มูอาแว
ตาโกะ ละฮ์ มูแซ เนาะ มาแก อาแว
อีบู บาเปาะ มิสเกน เตอร์ฮูตอ
กานเอ็น ซือฮ์อลัย ฮารัม ดี ปิงฆัน
ตาเระ กืออาตะฮ ดี บอวะฮ ฮารือฆัน
ซาเซาะฮ์ญอ อีตู บูกัน ซือดีกิต
ดีซูโละฮ์ ญาเมาะ เตาะ บือรานิง ฆีฆิ
บีลอ มือนางิฮ์ บูญี ซือดีกิต
ดารี ปาดอ ตีโด ซือมือรา บังเกล”
คำแปล
“นอนเถิดลูกจงนอน
ระวังเรือปลาจะมา
มันจะมาจับคนนอน
หลับเสียเถิดดึกมากแล้ว
อย่ากลัวเลยแม่ยังอยู่
พ่อเจ้าเขาไปทำงาน
ขอให้พ่อเจ้ากลับมาเร็วไว
กลัวเรือปลาจะมากินเจ้า
พ่อแม่ยากจนเป็นหนี้
ผ้าผืนเดียวก็ไม่มีนุ่ง
ผ้าเปียกลูกถือไว้
ถ้ายกขึ้นสูงข้างล่างก็เปลือย
แม่ไล่ยุงมิให้กัดเจ้า
เมื่อไรเจ้าร้องไห้เสียงดัง
แม่จะลุกขึ้นดูโดยเร็วเอย”