การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์: ความล้มเหลวของอิสราเอลในสงครามจิตวิทยาและการประชาสัมพันธ์

Photo: AA

สงครามในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การปะทะกันทางทหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสงครามจิตวิทยาและการประชาสัมพันธ์ด้วย และในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา อิสราเอลต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักในสองสนามนี้ ไม่ใช่เพราะปาเลสไตน์มีแผนยุทธศาสตร์ที่เหนือกว่า แต่เป็นเพราะ “อิสราเอลกำลังก่ออาชญากรรมสงครามและถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะปกป้องหรือสร้างความชอบธรรมในสายตาประชาคมโลก

อิสราเอลเคยใช้โศกนาฏกรรมจากอดีตเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ของตนในฐานะรัฐที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด แต่ข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฉนวนกาซาได้ทำให้การเล่าเรื่องนี้ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก

ความพยายามของอิสราเอลในการนำเสนอว่าตนเองเป็น “เหยื่อ” และปาเลสไตน์เป็น “ผู้ก่อการร้าย” กำลังเผชิญกับแรงต่อต้านที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เปิดการสอบสวนผู้นำอิสราเอล รวมถึงนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ยอมรับพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา ข้อกล่าวหาเหล่านี้ได้ทำให้ความชอบธรรมของอิสราเอลในสายตาส่วนหนึ่งของประชาคมโลกสั่นคลอน

ในอดีต อิสราเอลสามารถอาศัยเครือข่ายสื่อกระแสหลักของตะวันตกเพื่อควบคุมการเล่าเรื่อง (narrative) และสร้างภาพลักษณ์ของตนในฐานะรัฐประชาธิปไตยที่เผชิญกับ “ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย” แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ในยุคของโซเชียลมีเดีย ซึ่งข้อมูลข่าวสารกระจายออกไปอย่างไร้พรมแดน ภาพของเด็กที่เสียชีวิตจากระเบิดอิสราเอล การทำลายโรงพยาบาล และความอดอยากในฉนวนกาซา กลายเป็นข้อเท็จจริงที่สร้างแรงสั่นสะเทือนมากกว่ากลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ที่อิสราเอลเคยใช้

แม้อิสราเอลจะอ้างว่าการสังหารพลเรือนจำนวนมากเป็น “สิ่งจำเป็น” ในการกำจัดฮามาส แต่เมื่อเวลาผ่านไป 15 เดือน ฮามาสยังคงดำเนินปฏิบัติการทางทหารได้อย่างต่อเนื่อง ยังคงสามารถซ่อนตัว รวบรวมเชลยศึก และตอบโต้จากซากปรักหักพังของจาบาเลียและข่านยูนิส สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีปฏิบัติการโจมตีที่รุนแรง แต่อิสราเอลยังไม่สามารถทำลายโครงสร้างของฮามาสได้อย่างเด็ดขาด

แทนที่จะบรรลุเป้าหมายหลัก อิสราเอลกลับเปิดเผยให้โลกเห็นถึงความเสียหายอันร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับพลเรือน ทำให้เกิดแรงกดดันจากนานาชาติ และสร้างความลำบากใจให้กับพันธมิตรตะวันตกหลายราย

เมื่อสงครามไม่ได้ตัดสินเพียงแค่ในสนามรบ

สงครามในยุคปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแสนยานุภาพทางทหารเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความสามารถในการควบคุมการเล่าเรื่องและสร้างความชอบธรรมในระดับโลก การที่อิสราเอลถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทำให้สงครามครั้งนี้กลายเป็นภาระหนักของรัฐบาลเนทันยาฮู และเพิ่มแรงกดดันทางศีลธรรมต่อพันธมิตรของอิสราเอลในโลกตะวันตก

ท้ายที่สุดแล้ว อิสราเอลไม่ได้เผชิญกับความท้าทายในสนามรบของกาซาเพียงอย่างเดียว แต่ยังพลาดโอกาสในการควบคุมกระแสสังคมโลกในสงครามจิตวิทยาและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งอาจกลายเป็นความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของสงครามสมัยใหม่