อีกครั้ง! ภาคประชาชนมุสลิม ชงร่างพรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฉบับใหม่ให้สนช.พิจารณา

ความพยายามอีกรอบของภาคประชาชนมุสลิม ในการแก้พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540  ชงร่างพรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฉบับใหม่ให้สนช.พิจารณา

ที่ผ่านมา มีความพยายามหลายครั้งแล้วในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540  โดยหลายฝ่ายต่างก็นำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาหลายฉบับแล้ว

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ย่านรามคำแหง กรุงเทพฯ ได้มีการจัดเวที สนช.พบประชาชนมุสลิม โดยมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะ ได้เดินทางมาพบปะกับประชาชนมุสลิม

ซึ่งในโอกาสนี้ ภาคประชาชนมุสลิมกลุ่มหนึ่งนำโดยสภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย ได้ยื่นร่างแก้ไขพรบ. ผ่านทางรองประธานสนช.เพื่อนำไปพิจารณา รวม 6 ฉบับ ได้แก่ ร่างพรบ.สตรีและครอบครัว ร่างพรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม  ร่างพรบ.การบริหารกิจการฮาลาล ร่างพรบ.ฮัจย์ ร่างพรบ.การเมืองอิสลาม และร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ

ทั้งนี้ไฮไลต์สำคัญของของงานครั้งนี้อยู่ที่ ร่างพรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ….. โดยคณะผู้ยกร่างได้ให้นายทวีศักดิ์ หมัดเนาะ เป็นผู้นำเสนอในที่ประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญหลายประเด็นที่น่าสนใจ

DSC_0049

 

ชี้ พรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ล้าสมัย-ก่อความเสียหายต่อสังคมมุสลิม

นายทวีศักดิ์ หมัดเนาะ ตัวแทนคณะผู้ยกร่าง กล่าวในที่ประชุมว่า พรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 มีผลบังคับใช้มานานกว่า 16 ปีแล้ว แม้พรบ.ฉบับนี้จะก่อให้เกิดโครงสร้างการบริหารสังคมมุสลิมที่ชัดเจนกว่าในอดีต โดยจัดโครงสร้างตามระบบการบริหารราชการแผ่นดินของไทย แต่ก็สร้างความเสียหายต่อสังคมมุสลิมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

“สาเหตุสำคัญเพราะการได้มาซึ่งผู้นำและกรรมการในองค์กรมาจากการลงมติของเสียงส่วนใหญ่ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา เมื่อมาจากเสียงส่วนใหญ่ ผู็มีอิทธิพลก็เข้ามาและเป็นผู้กำหนดนดยบายขององค์กรศาสนาเพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง”  นายทวีศักดิ์ กล่าว

9 ประเด็นหลัก ข้อเสีย พรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540

คณะผู้จัดทำร่างพรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฉบับใหม่ได้สรุปข้อเสียของพรบ.ฉบับปี 2540 ไว้ 9 ข้อ ดังนี้

1. การได้มาซึ่งผู้นำและกรรมการในองค์กรมาจากการลงมติเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งปฏิเสธหลักการศาสนา ก่อให้เกิดความแตกแยกขนานใหญ่ในสังคมมุสลิมทุกระดับ

2.เกิดกระบวนการบิดเบือนข้อมูลประชากรสัปบุรุษ เพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบในการลงคะแนนเสียง และมีการโยกย้ายสัปบุรุษเพื่อขอจัดตั้งมัสยิดอย่างมีวาระแอบแฝง

3.มีช่องโหว่ให้ตีความเข้าข้างตัวเองเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

4.เปิดช่องให้ผู็มีอิทธิพลและร่ำรวยเข้าสู่ตำแหน่งโดยง่าย

5.มีการใช้ตำแหน่งและอำนาจหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง

6. เกิดปัญหาการไม่เชื่อฟังและความขัดแย้งในองค์กร

7.ผู้นำและกรรมการในองค์กรอิสลามบางคน มีคุณสมบัติและพฤติกรรมไม่เหมาะสม

8.ไม่มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่ของกรรมการที่ชัดเจน

9. ไม่มีบทกำหนดลงโทษผู้กระทำผิด

สาระสำคัญของ ร่างพรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฉบับใหม่

เรื่องใหม่ที่คณะผู้ยกร่างนำเสนอผ่านร่างพรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฉบับใหม่ โดยสรุปได้แก่

1.ใช่หลักการปรึกษาหารือหรือ “มูชาวาเราะห์” แทนการมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ ในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทุกระดับ

2. บัญญัติให้มีการ “บัยอะห์” หรือการให้สัตยาบัน โดยการเปล่งวาจาต่อหน้าจุฬาราชมนตรี

3. จัดตั้ง “คณะมัจลิซชูรอ” หรือสภา ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญศาสนาอิสลาม 15 คน มีหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรมศาสนาอิสลาม และคัดเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทสไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด

4. แบ่งแยกหน้าที่ด้านศาสนากับหน้าที่ด้านบริหาร

5. กำหนดคุณสมบัติด้านการศึกษาของจุฬาราชมนตรีและสภาชูรอ รวมทั้งต้องมีประสบการณ์ด้านศาสนาไม่น้อยกว่า 20 ปี

นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากที่แตกต่างไปจากพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540

ที่ผ่านมาความพยายามในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 มีมาหลายครั้งหลายฉบับแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ นอกจากนั้นในแต่ละครั้งก็สร้างแรงกระเพื่อมและความขัดแย้งรหว่างมุสลิมที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อร่างพรบ.ฉบับนั้นๆ พอสมควร และสำหรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้จะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่ นับจากนี้จึงนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

 

*** อ่านเพิ่มเติม ร่างพรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ…..  ฉบับเต็ม และข้อสรุปจากผู้ยกร่าง

สรุปโดยคณะผู้ยกร่างพรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม

พรบ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม