ภายหลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี “ซือแป๋มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธานได้สรุปประเด็นที่จะแก้ไข ปรับปรุง สาระร่างรัฐธรรมนูญ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพื่อ “ถกลับ” ในส่วนของโครงสร้างและข้อเสนอแนะที่ต้องปรับปรุง “บทเฉพาะกาล” ของแม่น้ำ 4 สาย ซึ่งส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ “กรธ.” ประกอบการพิจารณา ที่ลงนามโดย “พล.อ.ธีรชัย นาควานิช” ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาฯ คสช.
ล่าสุด “กรธ.” ได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว โดยจะครบกำหนดส่งมอบให้กับรัฐบาลในวันที่ 25 เม.ย. 2559 ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้เวลา กรธ.ไว้ 180 วัน และเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา “ประธานกรธ.” ได้เปิดตัว “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์” จำนวน 279 มาตรา ที่พร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการออกเสียงประชามติต่อสื่อมวลชน รวมทั้งได้ชี้แจงสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญให้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่ง ชาติ (สนช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และหัวหน้าส่วนรัฐวิสาหกิจ
โดยสาระสำคัญหลักของร่างรัฐธรรมนูญได้วางหลักการทั่วไป คือ “ประโยชน์ประชาชนเป็นใหญ่” และมุ่งให้ความทัดเทียม ตลอดทั้งคุ้มครองป้องกันสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นหลักสำคัญ จึงได้กำหนดชัดเจนว่าอะไรเป็นหน้าที่รัฐ เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเรียกร้อง พร้อมทั้งให้อำนาจประชาชน ชุมชน มีสิทธิติดตามเร่งรัด และฟ้องร้อง หากรัฐไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนด
ขณะที่ “การป้องกันปราบปรามทุจริต” ได้กำหนดกลไกเรื่องนี้ไว้ชัดเจน 15-16 ประการ ซึ่งร้ายแรงทั้งสิ้น รวมทั้งในรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐส่งเสริมประชาชนตระหนักอันตรายจากเรื่องดัง กล่าว ทั้งภาคราชการ และเอกชน พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนชี้เบาะแส และกำหนดหน้าที่ประชาชนไม่เห็นดีงามกับเรื่องนี้
ส่วนที่เกี่ยวกับ “องค์กรอิสระ” ได้ เปลี่ยนวาระการดำรงตำแหน่งเป็น 7 ปี เท่ากันหมดรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการให้มีทางเลือกหลากหลายจากคนที่มาสมัคร เพื่อได้คนดี มีฝีมือ ซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ ส่วนที่มองว่ากรธ.ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป ซึ่งไม่มีบทบัญํญัติรัฐธรรมนูญ คือ หากเกิด “วิกฤติทางการเมือง” ให้ประธาศาลเรียกประชุมทุกองคาพยพ อาทิ ประธานศาลปกครอง ศาลฎีกา ประธานสภา มาประชุมร่วมกันหาทางออก
ส่วน “บทเฉพาะกาล” ได้เพิ่มเติมตามคำร้องขอจากครม. คสช. สปท. สนช. ใช้วิธีการสรรหา เพื่อทดลองระบบการเลือก โดยกำหนด 250 คน เลือกบุคคลมาจากพื้นที่ต่างๆ และระหว่าง 5 ปี สว.มีอำนาจพิเศษเกี่ยวกับการดูแลกฎหมายปฏิรูป ร่วมกับสภา ดูแลรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่จะกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ติดตามเร่งรัดการปฏิรูป แต่ไม่มีอำนาจจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกฯ ยกเว้น กรณีไม่สามารถเลือกนายกฯตามบัญชีรายชื่อ โดยสภาเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 250 เสียง เพื่อประชุมมีมติ 2 ใน 3 ยกเว้นให้เลือกนายกฯ
นี่คือภาพรวมคร่าวๆของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่หากพิจารณาลงในรายละเอียดโดยเฉพาะประเด็นข้อเสนอแนะจาก “แม่น้ำ 4สาย” อาจจะดู “ขัด” กับความต้องการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และแม่น้ำ 4 สาย อยู่บ้าง โดยเฉพาะประเด็น “วิธีการได้มาซึ่ง ส.ส.” นั้น ทาง “กรธ.” เห็นว่า ไม่สามารถเข้ากับหลักการที่ “กรธ.” วางไว้ในร่างรัฐธรรมนูญได้ จึงยืนยันว่าจะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และส่วนนี้ก็จะไม่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล ขณะที่ “ที่มาของ ส.ว.” ทาง “กรธ.” เห็นว่า จะเขียนในบทเฉพาะกาลในระยะแรก มี ส.ว. มาจากการสรรหาจำนวน 250 คน แต่ขอให้จำนวน 50 คน จากทั้งหมด 250 คน สรรหาจากผู้ได้รับเลือกตามสาขาวิชาชีพ 20 สาขาวิชาชีพ ตามที่กำหนดไว้เดิม
ขณะที่ประเด็นด้าน “อำนาจ ส.ว.” นั้น ให้มีอำนาจตามปกติ บวกกับอำนาจที่ “แม่น้ำ 4 สาย” ขออำนาจในการผลักดันการปฏิรูป “การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” รวมทั้งถ้าขัดแย้งกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎร กับวุฒิสภา ในเรื่องกฎหมายปฏิรูป ก็ให้พิจารณาในที่ประชุมร่วม
ส่วนการ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เขียนไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณา 2 สภาร่วมกันที่เรียกว่ารัฐสภา การควบคุมการบริหารที่บอกว่า ให้ ส.ว. มีอำนาจขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทาง “กรธ.” คิดว่าเป็นหน้าที่ของ ส.ส. จึงไม่มีบทบัญญัตินี้ไว้ใน “บทเฉพาะกาล”
นอกจากนี้ในส่วนของ “ที่มานายกรัฐมนตรี” การให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ นั้น “กรธ.” พิจารณาแล้วเห็นว่ายังคงยืนยันในหลักการเดิมที่ให้พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อ ว่าที่นายกฯ 3 ชื่อ แต่หากเกิดกรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ ให้มีการประชุมรัฐสภา คือประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อขอยกเว้นการเลือกนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อ 3 คน ถ้ารัฐสภาเสียงข้างมาก 2 ใน 3 เห็นด้วย เมื่อได้รับการยกเว้นตามมติของรัฐสภาแล้ว กลับไปให้สภาผู้แทนฯ เป็นผู้ดำเนินการเลือกนายกฯ กันเอง โดย ส.ว. มีบทบาทเพียงร่วมกับ ส.ส. อนุมัติการยกเว้น
ขณะที่ข้อเสนอแนะของ “แม่น้ำ 4 สาย” ที่มี “คสช.” เป็นหัวเรือใหญ่ ให้ “กรธ.” ปรับปรุงแก้ไข “บทเฉพาะกาล” นั้นต้องการ ให้ทบทวนระบบการเลือกตั้งส.ส. โดยน่าจะใช้บัตร 2 ใบและให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น โดยมี ส.ส. จำนวนไม่เกิน 3 คน แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนใช้สิทธิเลือกตั้งได้เพียง 1 คน
โดยในส่วนของส.ว.นั้นต้องการให้ ส.ว. มีจำนวน 250 คน ซึ่งเป็นกึ่งหนึ่งของ ส.ส. ให้มี “ที่มา” จาก การคัดสรรหรือแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ วิธีการดำเนินการโดยคณะกรรมการอิสระจำนวน 8-10 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาตาม “ยุทธศาสตร์ชาติ” รวมทั้งต้องการแต่งตั้งข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ซึ่งไม่ใช่ คสช. ในปัจจุบัน ให้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน ประกอบด้วย “ปลัดกระทรวงกลาโหม-ผบ.สส.-ผบ. 4 เหล่าทัพ”
คือบก-เรือ-อากาศ-ตำรวจ
จึงทำดูเหมือนว่า “กรธ.” ของ “ซือแป๋มีชัย” ไม่ตอบสนองข้อเสนอแนะของ “แม่น้ำ 4 สาย” ทั้งหมด แต่เมื่อนำเนื้อหาของข้อเสนอแนะมาไล่เลียงตามไปดู โดยเฉพาะในสัดส่วนของ “ส.ว.” ที่ถูกมองว่า จะเป็น “นอมินี” แห่งการ “สืบทอดอำนาจ” นั้น “กรธ.” ยังชงตัวเลขไว้เท่าเดิมคือ 250 คน มาจากการคัดสรร 200 คน ที่เหลืออีก 50 คนมาจากเลือกไขว้ของกลุ่มสาขาวิชาชีพ
อย่างไรก็ดีร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับมีชัย” นี้ทำให้เห็นว่า “ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” ในระยะแรกนี้ “ศูนย์อำนาจใหม่” นั้นไปกระจุกรวมตัวกันที่ “องค์กรอิสระ” ทั้ง ป.ป.ช.-กกต.-กสม. ซึ่งมีวาระ ให้อยู่ในตำแหน่งวาระละ 7 ปี โดยที่ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” จะเป็นองค์กรที่มีบทบาทและทรงพลังมากที่สุด หากพิจารณาตามมาตรา 205 ได้กำหนดให้มีจำนวน 9 คน มีวาระอยู่ในตำแหน่ง 9 ปี มีอำนาจหน้าที่ “วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจของ ส.ส.-ส.ว.-รัฐสภา-คณะรัฐมนตรี”
โดยองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาคดี และในการทำคำวินิจฉัย “ต้องประกอบด้วยไม่น้อยกว่า 5 คน” และ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนซึ่งครบองค์ประชุม” มีมติด้วยเสียงข้างมาก นั่นหมายความว่า ตุลาการ 3 คน สามารถ “ชี้ขาด ชี้เป็นชี้ตาย” ประเทศชาติได้ทุกเรื่อง
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงนี้จึงถือเป็นทางออกของ “เนติบริกร” ชั้นยอดกล่าวคือ ดูเหมือน คสช. จะไม่ได้ดังใจทั้งหมด แต่กระนั้นแนวทางใหญ่ ก็ไม่ได้สูญเสียอะไรมากนัก ยังคงเดินตามกรอบมาตรา 35 ขณะที่ กรธ. ก็สามารถยืดอกได้ถึง “ความเป็นตัวของตัวเอง” ไม่ได้ทำตาม “ใบสั่ง” เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีควาวมเป็นไปได้สูงว่าจะ “ฉลุย”ในชั้น คสช. ซึ่งอาจจะมีการต่อรองอะไรเพิ่มอีกบ้าง แต่หลักใหญ่ใจความคงเป็นไปตามนี้
แม้พรรคเพื่อไทยจะออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการเชิญชวนให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในชั้นประชามติ แต่ในฝั่งของฝ่าย “กุมอำนาจ” ไม่ได้แสดงความวิตกกังวลใดๆออกมา ไม่ว่าจะมาจาก “ซือแป๋มีชัย” เองหรือ พี่ใหญ่อย่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนานยกฯและรมว.กลาโหม ที่ยทืนยันว่าใครเห็นด้วยก็ไปลงว่าเห็นด้วย ใครไม่เห็นด้วยก็ไปลงไม่เห็นด้วย เพราะเป็นมติของประชาชน
จากนี้ไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกส่งผ่านไปยัง คสช.แล้วนำไปวัดดวงในขั้นประชามติต่อไปว่าจะฉลุยเช่นเดียวกันหรือไม่!?!