เมื่อการเมืองอยากลงเลือกตั้ง ประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็ฉลุย!!

เข้าสู่ช่วงท้ายมหกรรมแห่งความสุข เทศกาลสงกรานต์ ที่ยังเหลืองานประเพณีสงกรานต์พระประแดงนับเป็นงานประเพณีเก่าแก่ช่วง ระหว่าง 22-24 เมษายนนี้ ก่อนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ  

บรรยากาศ ของความสุข สนุกสนานรื่นเริง ที่เคล้าไปกับความปั่นป่วนวุ่นวาย  การเมาแล้วขับ อุบัติเหตุบนท้องถนน เจ็บตายมากเป็นสถิติโลกที่ยังเหมือนเดิมเพิ่มเติมเข้ามาคือ “วิกฤติภัยแล้ง” ขั้นสาหัส และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย

ขณะที่บรรยากาศ “การเมือง” ยังคงร้อนต่อเนื่องตามสถานการณ์ “ประชามติ”  ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน ส่อว่าจะเป็นชนวนให้เกิดการปะทะคารม สะท้อน “ปมขัดแย้งทางความคิด” ระหว่างฝ่ายที่เอาด้วยกับพวกที่ไม่เห็นด้วย

ไม่เพียงแต่มีการแสดงออกในทางตรงข้ามกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ซือแป๋มีชัย” เท่านั้น ล่าสุดกำลังเปิดประเด็นให้มีการถกเถียงเพิ่มกันอีกเงื่อนไข “คำถามพ่วง” ในขั้นตอนทำ “ประชามติ” ที่กำหนดชี้ชะตาการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 ว่าประชาชน เจ้าของสิทธิ 47 ล้านเสียงทั่วประเทศ จะลงมติ “รับ” หรือ “ไม่รับ”

ร่างฯ ซึ่งปกติ “ปมเงื่อน” เดิมๆ ทั้ง “ที่มา” ของนายกรัฐมนตรี-ส.ว.ลากตั้ง และหมวดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักอยู่แล้ว แต่ “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) เสียงข้างมาก 152 ต่อ 0 เสียง ลงมติเพิ่ม  ในขั้นตอน “ทำประชามติ” ด้วยการเติมคำถามที่ 2 หรือ “คำถามพ่วง” หัวข้อ “วุฒิสภา” ซึ่งมาจากการสรรหา หรือ “ลากตั้ง” จำนวน 250 คนร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้หรือไม่

เท่ากับว่า การทำประชามติ ต้องมี 2 คำถาม คือ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” กับ ต้องเห็นชอบด้วยหรือไม่กับอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิลงประชามติเกิดความสับสน เพราะคำถามพ่วง บางแง่มุมจะไปทับซ้อนกับคำถามแรกของการทำประชามติ

แน่นอนว่า ฝ่ายการเมือง อย่าพรรคเพื่อไทย และกลุ่มนปช.ที่ประกาศจุดยืนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เอาด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับมหาปราชญ์” ที่นำโดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้นโดยมีเหตุปัจจัยหลักคือ ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงไม่เอื้อต่อประชาชนในการใช้อำนาจ พรรคเพื่อไทยจึงมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

ขณะที่พรรคเก่าแก่อย่าง “ประชาธิปัตย์”  แม้ไม่ปลื้มกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังออกลูกอิดออด ไม่กล้าพูดเต็มปาก จะลงเรือลำเดียวกับพรรคเพื่อไทยร่วมโค่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ เพราะภายในพรรคก็ยังเสียงแตก มีทั้งก๊กที่อยากให้ผ่านและล้มร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก ปรากฏว่าท่าทีของ มือเก๋าเกมอย่าง “บรรหาร ศิลปอาชา” ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนามองว่าน่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ และรีบจัดการเลือกตั้ง และคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ขณะที่ “พรรคภูมิใจไทย” เองก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เมื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศชัดตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ว่าพรรคภูมิใจไทยจะไม่ทำตัวเป็น “ทางตัน” ทางการเมือง

กลาย เป็นว่า พรรคใหญ่มองร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นลบ แต่พรรคเล็กมองร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นบวก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เปลี่ยนไป ทำให้พรรคเล็กมีโอกาสได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น ส่วนพรรคใหญ่มีโอกาสได้ ส.ส.น้อยลง ขณะที่กลุ่มพลังมวลชน อย่าง กปปส.เองไม่ขัดข้องกับร่างรัฐธรมนูญฉบับมีชัยนี้

ดูเหมือนว่าทาง “ผู้กุมอำนาจรัฐ” เองก็รู้ว่า “นักการเมือง” มีอาการใกล้จะ “ลงแดง” หรือ “อดอยากปากแห้ง”หลังจากที่ต้องหยุดกิจกรรมทางการเมืองมากว่า 2 ปี จึงเปิด “ไฟเขียว” ให้มีคำถามพ่วงประชามติ เพิ่มอำนาจ ส.ว.ลากตั้ง โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยจะผ่านประชามติ

ไม่เพียงแค่นี้เท่านั้น ฝั่ง “ผู้กุมอำนาจรัฐ” ยังท้าทายไปยัง “นักการเมือง” ที่ ออกมาต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยว่า ขอให้นักการเมืองที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ และยืนยันไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้จดจำ และทำตามที่พูดไว้ด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นความมั่นใจของผู้กุมอำนาจรัฐที่จับอาการ “ปากอย่างใจอย่าง” ของนักเลือกตั้งอาชีพ ที่ไม่เอาด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบคำถามพ่วงประชามติ แต่มุ่งไปที่สนามเลือกตั้ง

นี่ แหละ ทหารถึงได้จับทางถูก และไม่กลัวแรงกระเพื่อมประชามติ ที่สำคัญไม่ต้องแปลกใจ ถ้าสถานการณ์จากนี้ไป คสช.ต้องลุยไล่บี้พวกปากดี จัด “ของแข็ง” ให้พวกวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ไม่ว่ามองในมุมไหน  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีแววผ่านประชามติแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ และเชื่อว่าคนใน คสช.ก็ต้องมั่นใจเหมือนกันว่า “ต้องผ่าน” ถึงขั้นมี “ข้อเสนอแบบเปลี่ยนผ่าน” ออกมาให้เห็นกันแบบไม่ต้องอ้อมค้อม  ทั้งเรื่อง “ส.ว.ลากตั้ง-นายกฯคนนอก”

แต่คำถามที่จะตามมาก็คือ ถ้า “ไม่ผ่าน” จะทำอย่างไร “ใคร” ต้องรับผิดชอบ หรือไม่คสช.อาจเตรียมแผนสองเอาไว้แล้วก็เป็นได้..!!