ความเหลื่อมล้ำทางด้านวัฒนธรรมของสังคมชนบทและเมืองเป็นเรื่องที่พบในสังคม ทั่วไป ทว่าความแตกต่างมาก น้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่สภาพภูมิประเทศ เบื้องหลังทางด้านประวัติศาสตร์ นโยบายของทางการ การศึกษา ศาสนา เป็นต้น หมู่บ้านชาวหุยที่ตั้งอยู่ตามภูมิภาคต่างๆของแผ่นดินมังกรมีลักษณะอย่างไร เหมือนอย่างที่ท่านคิดหรือเปล่า ? ตอนนี้ผู้เขียนใคร่นำเสนอหมู่ Huihuideng ของเมืองต้าหลี่ มณฑลยูนนาน
ปัจจุบันหมู่บ้าน Huihuideng ตำบล Yongjian Weishan ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของมณฑลยูนนาน Huihuideng เป็นหมู่บ้านมีประชากรทั้งหมด 1,243 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 4,783 คน ห่างจากเมืองต้าหลี่ประมาณ 36 กิโลเมตร Huihuideng เป็น หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนที่ราบ ประชากรในหมู่บ้านทั้งหมดเป็นชาวหุยที่นับถือศาสนาอิสลาม มีหมู่บ้านใกล้เคียงที่ห่างจากตัวหมู่บ้าน ไม่ไกลมาก มีประมาณ 4-5 หมู่บ้าน ส่วนมากเป็นหมู่บ้านชาวหุยเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามีจำนวนประชากรน้อยกว่า Huihuideng อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 14.9 องศาเซลเซียส ตามสถิติของการอัตราประชากรในหมู่บ้านระบุ ว่า ช่วงที่สถาปนาสาธารณจีนใหม่ค.ศ. 1949 หมู่บ้านดังกล่าวมีประชากรทั้งหมด 423 ครัวเรือนมีจำนวนประชากรจำนวน 2,118 คน ปีค.ศ. 1980 มีประชากรทั้งหมด 3,790 หลัง จากที่รัฐบาลจีนปฏิรูปการเปิดประเทศ มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและทางรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายลูกโทน แต่สำหรับกลุ่มชนชาติในชนบทนั้นสามารถมีบุตรได้ 2 คน ผลการสำรวจประชากรในหมู่บ้านในปี ค.ศ.1998 จึงมีประชากร 4,518 คน จะเห็นได้ว่าการอัตราการเจริญเติบโตของประชากรในหมู่บ้านนั้นมีความสอดคล้องกับนโยบายของทางรัฐบาล
กล่าวกันว่าสมัยราชวงศ์หยวน กุบไลข่าน (หลานของเจงกิสข่าน) นำกองทับมาปราบปรามเมืองต้าหลี่จนได้รับชัยชนะ และจัดให้ทหารอาศัยอยู่ในพื้นที่ ในสมัยนั้นเป็นคนตระกูล Tie,Shi,Long สมัยราชวงศ์หมิงกองทัพที่นำโดย MuYing (บุตรบุญธรรมของกษัตริย์จูหยวนจาง) และ Chang Yuchun เข้าพิชิตยูนนานและพม่า ชาวหุยในบริเวณดังกล่าวจึงได้รับพระราชทานแซ่(ตระกูล)Zhu, Hu, Ma, Mi, Yang เป็นต้น สมัยราชวงศ์ชิงนั้นเป็นถือว่าเป็นกลียุคของชาวหุยในแผ่นดินจีน ชาวบ้าน Huihuideng ในยุคนี้ก็ไม่แตกต่างอะไรกับชาวหุยทั่วไป กล่าวกันว่าในสมัยนั้นชาวบ้านในหมู่บ้าน Huihuideng และ หมู่บ้านใกล้เคียงถูกทหารชิงมารังควานและ เข่นฆ่าผู้คนตายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้นำครอบครัว และช่วงนี้เองที่เกิดกบฏมุสลิมในมณฑลยูนนาน เพื่อต่อต้านรัฐบาลของราชวงศ์ชิง นำโดยวีระบุรุษชาวหุยที่ชื่อว่าตู้เหวินซิ่ว เนื่องด้วยจุดชุมนุมของตู้เหวินซิ่วในช่วงต้นนั้นอยู่ที่หมู่บ้าน Xiaoweigeng เป็นหมู่บ้านที่ไม่ไกลจาก Huihuideng มากนัก จึงมีชายฉกรรจ์ของ Huihuideng เข้าร่วมอุดมการณ์ด้วยไม่น้อย
ด้วยเหตุที่หมู่บ้าน Huihuideng ตั้ง อยู่ที่ราบและตั้งอยู่บริเวณใจกลางของหลายๆ หมู่บ้านจึงกลายเป็นที่ลี้ภัยของเด็กและสตรี เมื่อทหารแมนจูของราชวงศ์ชิงมาเห็นจึงไม่ได้ทำลาย หมู่บ้านนี้จึงมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า Liu yi cun (เหลือไว้หมู่บ้านหนึ่ง) หลังจากที่ราชวงศ์ชิงล่มสลายก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงที่เกิดสงครามภายในของจีน ชาวบ้านในหมู่บ้านHuihuideng นิยม ทำการค้ากับโลกภายนอกมากขึ้น เกิดขบวนคาราวานม้าเป็นจำนวนมาก และมีเส้นทางค้าขายที่ชัดเจนมากขึ้นคือทางเหนือเดินทางไปถึงธิเบต ทางใต้ไปถึงเมืองสิบสองปันนา ทางตะวันตกเดินทางเข้าประเทศพม่าและเข้าสู่ทางภาคเหนือของไทยและบางส่วนก็ เดินทางไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นต้น
ชาวหุยนั้นมีเชื้อสายในการทำการค้าอยู่แล้ว แม้ว่าก่อนการสถาปนาจีนใหม่นั้นชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก การทำการค้าเป็นเรื่องรอง กล่าวกันว่าก่อนสถาปนาประเทศนั้นทั้งหมู่บ้านมีม้ามากกว่า 1,500 ตัว และเส้นทางสัญจรของม้าในสมัยนั้นเป็นพื้นทางทางด้านการคมนาคมในสมัยใหม่นี้ นอกจากนั้นแล้วในช่วงดังกล่าวยังเกิดอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น มีโรงงานมัดย้อม แปรรูปหนังสัตว์ แปรรูปน้ำมัน และมีพ่อค้าแม่ขายมากขึ้น ในช่วงนี้มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชากรอย่างชัดเจน แต่หลังจากปี ค.ศ.1979 นโยบาย การจัดสรรที่ดินนั้นเปลี่ยนไปในรูปแบบของการเหมารวม โดยทางการจัดสรรให้ที่ดินเพื่ออยู่อาศัยเป็นหลัก จึงทำให้ที่ดินทำกินนั้นมีจำกัด แต่ขณะเดียวกันก็เกิดอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร งานก่อสร้าง การขนส่ง การค้าวัสดุยา และร้านค้าเบ็ดเตล็ดต่างๆ ทุกวันนี้เมื่อเดินดังกล่าวเข้าหมู่บ้านจึงไม่ต้อง ห่วงเรื่องปากท้องและของใช้พื้นฐานที่จำเป็น
ระบบเศรษฐกิจที่น่าชื่นชมของหมู่บ้าน Huihuideng ทุก วันนี้ก็คือระบบตลาดนัด ในหมู่บ้านจะมีลานกิจกรรมขนาดใหญ่ ภายในลานประกอบด้วยที่อาคารและที่โล่ง เมื่อถึงทุกวันที่ลงท้ายด้วยเลขห้าของเดือน (วันที่ 5,15,25) ชาว บ้านก็จะนำสินค้าต่างๆ ที่มีอยู่ภายในครัวเรือนมาจำหน่ายกันและกัน นอกจากเป็นสินค้าที่ทำขึ้นเองแล้ว ยังอาจเป็นสินค้าที่ชาวบ้านในหมู่บ้านไปรับมาเพื่อจำหน่ายให้แก่กัน ดังนั้นภายในตลาดนัดนั้นคุณสามารถเลือกซื้อของได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ บรรยากาศตลาดอาจ ‘วุ่นวาย’ หน่อย แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ พ่อค้าแม้ขายทั้งหมดนั้นเป็นคนภายในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียงเท่านั้น ไม่ใช่พ่อค้าคนกลางที่มาจากกองคาราวานสินค้าต่างถิ่น ระบบการค้าในหมู่บ้านนี้จึงไม่ต้องห่วงเรื่อง ‘เงินทองนั้นจะไปไหน’
ตั้งแต่เริ่มมีการก่อสร้างมัสยิดในสมัยราชวงศ์หมิง ค.ศ.1372 บรรพบุรุษของชาว Huihuideng ก็ เริ่มจัดให้มีอิหม่ามและครูสอนศาสนา แต่รูปแบบการศึกษานั้นมีความชัดเจนก่อนสงคราม โลกครั้งที่สอง มีการสอนความรู้ทางด้านศาสนาและความรู้ทางด้านวัฒนธรรมจีน โดยมีการเชิญครูชาวฮั่นจากต่างหมู่บ้านมาสอนตำราโบราณของจีน ในปัจจุบันลูกหลาน Huihuideng นั้น ประกอบด้วยผู้ที่เลือกเรียนสามัญและศาสนา เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ แล้ว ดูเหมือนคนรุ่นหลังๆ จะเลือกเรียนภาคสามัญมากกว่า แต่กระนั้นก็ตามเมื่อเรียนจบชั้นสูงสุดในหมู่บ้าน (มัธยมศึกษาปีที่ 3) มีน้อยคนมากที่จะเลือกศึกษาต่อ สถานภาพทางด้านการสมรสของชาว Huihuideng จึงต่ำกว่าที่ทางการกำหนด
‘การแนะนำ’ เพื่อให้ทั้งฝ่ายชายและหญิงรู้จักและสมรสนั้น เป็นเรื่องที่ชาว Huihuideng ให้ความสำคัญมาก ตามกฎหมายการสมรสของจีนในปัจจุบันนั้น กำหนดไว้ว่าสถานภาพของผู้ชายนั้นสามารถสมรสเมื่ออายุ 22 บริบรูณ์และผู้หญิงนั้นสามารถสมรสตอนอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ชาว Huihuideng ส่วนมากยังคงถือว่า อายุไม่ถึงเกณฑ์ไม่ใช่ปัญหา ให้ผ่านพิธี ‘นิกะฮ์’ เป็นสำคัญ เมื่อถึงเกณฑ์แล้วค่อยกระเตงลูกไปจดทะเบียนสมรสตามที่กฎหมายกำหนด แต่บางคู่ก็ไม่มีการจดทะเบียนสมรสย้อนหลัง เพราะคิดว่าทะเบียนสมรสนั้นไม่เกิดคุณและโทษอะไรมาก
บ้านพักของชาว Huihuideng ยัง คงเป็นบ้านโบราณแบบจีน เพราะเป็นหมู่บ้านแบบโบราณที่รัฐบาลต้องการให้อนุรักษ์รักษาไว้ ดังนั้นถ้ามองจากภายนอกนั้น จะมองเห็นหลังคาบ้านแบบจีนที่เป็นสีเดียวกัน และมีกำแพง(ทึบ)ที่ ห้อมล้อมทั้งสี่ด้านรอบบ้านอย่างหนาแน่น เมื่อเดินเข้าไปในบ้านแล้วเราจะพบว่าโครงสร้างของแต่ละบ้านนั้นจะคล้ายๆ กันคือมีห้องโถงสำหรับรับแขก และห้องนอนอยู่หลังเดียวกัน ส่วนห้องครัวและห้องสุขานั้นจะอยู่ทั้งสองข้าง ตรงกลางเป็นบริเวณลานบ้านอเนกประสงค์ บ้างไว้ตากพืชผลทางการเกษตร บ้างไว้ปลูกดอกไม้ บ้างเป็นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ
จะมีบ้าน เรือนบางส่วนที่มีการต่อเติมรูปแบบของบ้านให้เป็นรูปแบบใหม่ เช่นมีห้องสุขาภายในบ้าน แต่ยังคงมีบ้านเรือนบางส่วนที่แยกที่พักและห้องสุขาอย่างชัดเจน และยังคงเป็นห้องสุขาแบบโบราณ เพราะชาวบ้านบางส่วนยังคงนำมูลไปใช้ประโยชน์กับไม้ผลต่างๆ ซึ่งการ ‘รียูส’ แบบนี้จะต้องให้มีการ ‘ปฏิรูป’ ใหม่ด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://www.yslzc.com/zhexieren/jcshj/mmqt/gnmsltb/200811/28523.html
หนังสือเรื่อง ประวัติชาวหุยต้าหลี่ สำนักพิมพ์ชนชาติยูนนาน ปี 2009
http://www.yslzc.com/zhexieren/jcshj/mmqt/gnmsltb/200811/28523.html
อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
nisareen@mfu.ac.th