ตั้งแต่ ศาสนาอิสลามเผยแผ่เข้าสู่ผืนแผ่นดินจีน ในอดีตนั้นสถานภาพของศาสนาอิสลามในจีนนั้นขึ้นลงตามสถานการณ์ของบ้านเมือง ตั้งแต่ศาสนาอิสลามเข้าสู่จีนในสมัยราชวงศ์ถัง ‘ชาวเปอร์เซีย’ ที่อยู่ในฐานะแขกบ้านแขกเมือง ได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดี ในสมัยนี้นอกจากข้าราชการทูตานุทูตแล้วยังมีชาวเปอร์เซียไม่น้อยที่เข้าจีน เพื่อทำการค้า และปักหลักในจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สมัยราชวงศ์หยวนจาก ‘ชาวเปอร์เซีย’ กลายเป็น ‘ชาวหุย’ ได้รับการดูแลจากทางการอย่างดี มีผลงานทางด้านต่างๆไม่น้อย ราชวงศ์หมิง-ชิง ในภาพรวมนั้นเป็นช่วงที่ชาวหุย ‘ตกต่ำ’ ที่สุด ไม่ได้รับการดูแลอย่างเช่นเคย มิหนำซ้ำยังถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหด จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่โหดร้ายในอดีต
ต้นราชวงศ์ชิงนัก วิชาการชาวหุยหลายคนที่ใช้หลักของลัทธิหยู (ขงจื๊อ) ในการศึกษาอิสลาม เช่น ZhangDaiyu, LiuZhi เป็นต้น จนกระทั่งก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเริ่ม มีชาวหุยจำนวนไม่น้อยที่ได้เดินทางไปศึกษาความรู้ทางศาสนาทางกลุ่มประเทศ ตะวันออกกลาง จึงทำให้แวดวงอิสลามในจีน ช่วงนี้จึงมีนักวิชาการและบุคคลสำคัญชาวหุย ที่ทำการฟื้นฟู และเรียกร้องการศึกษาอิสลามไม่น้อย เช่น MaJian (1906-1978) นักแปลและนักวิชาการร่วมสมัย ChenKeli (1920-1966) เป็นทั้งนักแปล นักคิดและนักปฏิบัติที่ยิ่งใหญ่
MaJian เป็นชาวหุย เกิดชาว Shadian เมือง Gejiu มณฑลยูนนาน สมัยเด็กร่ำเรียนภาษาจีนและภาษาอาหรับในมณฑลยูนนาน หลังจากนั้นเดินทางไปศึกษาภาษาเปอร์เซียที่เมือง GuYuan มณฑลหนิงเซียะ ปีค.ศ.1928 ได้เดินทางไปเรียนภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ ณ มหาวิทยาลัย Shanghai Normal มีผลการเรียนดีเด่น จึงได้รับทุนการศึกษาจากสมาคมศาสนาอิสลามในสมัยนั้น เดินทางไปศึกษา ภาษาอาหรับและปรัชญาอิสลาม ณ มหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัรและมหาวิทยาลัยไคโร รวมเป็นเวลา 10 ปี ระหว่างที่ MaJian ศึกษา เขาเริ่มมีผลงานการแปล โดยแปลตำราโบราณของจีนเป็นภาษาอาหรับ เช่น ตำรา Lunyu (ตำราเกี่ยวกับวาทะและคำสอนของขงจื๊อ) นิทานสุภาษิตจีน เป็นต้น หลังจากที่ MaJian หลังจากเดินทางกลับจีนด้วยผลการเรียนที่ดีเด่นในปีค.ศ. 1939 เขาได้ทำงานทางด้านสายการศึกษาที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามของจีนในมณฑลต่างๆ ตั้งแต่ ยูนนาน ฉงชิ่ง เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น ในช่วงนี้ MaJian ได้เริ่ม แปลอัล-กุรอานเป็นภาษาจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1946 เขาสอนภาษาอาหรับที่ภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยปักกิ่งและหลังจากปี ค.ศ.1954 MaJian ดำรงตำแหน่งสภาผู้แทนราษฎรจีน 5 สมัย
สมัยที่ MaJian ศึกษาที่มหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัรและมหาวิทยาลัยไคโร เขาก็เริ่มแปลงานวรรณกรรมต่างๆ ของจีนเพื่อเผยแพร่และ ตีพิมพ์เป็นภาษาอาหรับ เช่นวาทะและจริยธรรมของขงจื๊อ นิทานสุภาษิตจีน เป็นต้นขณะเดียวกัน MaJian ก็แปลตำราต่างๆ จากภาษาอาหรับเป็นภาษาจีน เช่น หนังสือเกี่ยวกับปรัชญาอิสลาม ประวัติกลุ่มประเทศอาหรับ เป็นต้น และผลงานการแปลกุรอานของเขานั้นเป็นที่ยอมรับของประชาชนจีนทั่วไป เพราะภาษาและสำนวนโวหารที่ใช้นั้นมีความรวบรัด สละสลวย เข้าใจง่าย MaJian เขียนในบทนำของหนังสือที่เขาแปลจากภาษาจีนเป็นภาษาอาหรับ มีใจความว่า “ ผมคือมุสลิมและผมก็เป็นคนจีน ทำทั้งหน้าที่ทางด้านศาสนาและพลเมือง ผมยอมปฏิบัติตามภารกิจของทั้งสองนี้ และช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมที่ไม่รู้ภาษาจีนให้เข้าใจปรัชญาและวัฒนธรรมจีน และภารกิจที่หนักอึ้งของ ผมคือ เผยแพร่ศาสนาเทวนิยมของศาสนามูฮัมหมัด (ซ.ล.) สู่จีน เพื่อให้พลเมืองของประเทศผมนั้นเข้าใจสัจธรรมที่แท้จริงของศาสนาอิสลาม ”
แม้ว่าประเทศจีนและ กลุ่มประเทศอาหรับนั้นมีการติดต่อทางการทูตมานาน แต่หลังจากยุคล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกในศตวรรษ ที่ 16 ทำให้การติดต่อระหว่างกันนั้นชะงักลง ผลงานทางด้านวิชาการของเขานั้น สามารถกล่าวได้ว่าผลงานของเขานั้นเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์แบบสองทาง โดยภาพรวมแล้วในช่วงเวลานั้นโลกอาหรับจะรู้จักประเทศจีนผ่านสื่อทางตะวันตก และแทบจะไม่มีงานแปลตรงจากจีนเลย ผลงานการแปลของ MaJian จึงมีบทบาทค่อนข้างมาก
ตลอดช่วงเวลาที่ MaJian มีชีวิตอยู่นั้น ผลงานของเขาที่ถ่ายทอดสู่จีนนั้นครอบคลุมเนื้อหาประวัติศาสตร์อิสลาม หลักชารีอะฮ์ ปรัชญา การศึกษา และความรู้ทางด้านภาษาอาหรับ รวมทั้งเนื้อหาทางด้านวรรณกรรมและดาราศาสตร์ และเนื้อหาที่เขาเผยแพร่สู่กลุ่มประเทศอาหรับนั้นประกอบด้วยการเมือง กฎหมาย ผลงานทางด้านวิชาการ วัฒนธรรมต่างๆ ของจีน เป็นต้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า MaJian นั้นเป็นผู้ที่มีคุณงามความดีต่อการ แลกเปลี่ยนของจีนกับโลกอาหรับอย่างมาก
นอกจาก MaJian แล้วชาวหุยผู้ที่มีบทบาทในช่วงดังกล่าวไม่น้อยคือ ChenKeli เป็นทั้งนักแปล นักคิดและนักปฏิบัติที่ยิ่งใหญ่ ChenKeli เป็นชาวเมือง Nangcheng มณฑลเหอหนานซึ่งเป็นมณฑลที่อยู่ตรงกลางของจีน ChenKeli เติบโตในครอบครัวมุสลิมที่เคร่งครัด หลังจากที่เขาเรียนจบระดับประถมแล้ว เขาก็มีความมุ่งมั่นในการเรียนภาษาอาหรับ หลังจากนั้นไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในมณฑลกานซู และได้เรียนภาษาอาหรับที่กับนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของจีนในสมัยนั้น เขามุ่งศึกษาปรัชญาอิสลาม หลักชารีอะฮ์ วรรณกรรมของประเทศอาหรับ เขามีความมุ่งมั่นในการศึกษาวิชา อัล-หะดีษอย่างลึกซึ้ง และเขาเป็นคนแรกที่แปลหนังสืออัล-หะดีษ ของจีน
หลังจากที่เขาจบ เขาได้กลับไปเป็นอิหม่ามที่บ้านเกิด ระหว่างนั้นเขาเขียนหนังสือเรื่อง ‘มองศาสนาอิสลามผ่านศาสดามูฮัมหมัด’ แล้วได้ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1951 จากนั้นหนังสือเล่มดังกล่าวได้ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอูรดู ภาษาอาหรับ เป็นต้น ในปีค.ศ. 1952 MaJianได้เชิญไปสอนภาควิชาภาษาตะวันออกที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ระหว่างที่สอนนั้นประธานสมาคมอิสลามแห่งประเทศจีนได้เชิญเขาไปช่วยสอน เขาจึงย้ายออกจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งปีค.ศ. 1956 และไปสอนที่สมาคมอิสลาม แห่งประเทศจีน ChenKeli มีความตั้งใจในการสอนและระหว่างที่เขาสอนนั้น เขาสัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะเขาจะใช้เวลาว่างจากการสอนทำงานแปล ทว่าทางสมาคมมี ความมุ่งหวังให้เขาเข้าร่วม ‘รับฟัง’ นโยบาย ทางด้านการเมืองเสมอ และในที่สุดเขาก็เลย ตัดสินใจจากสมาคม ระหว่างที่เขาอยู่ปักกิ่งนั้น มีหนังสือพิมพ์ต่างๆ เชิญชวนให้เขาเสนอบทความ ที่เกี่ยวข้อง แต่ ChenKeli นั้นตอบเพียงประโยคสั้นๆ ว่า “ชีวิตของฉันนั้นทำงานเพื่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) เท่านั้น”
เมื่อทนกับสิ่งต่างๆ ในเมืองหลวงไม่ได้ ChenKeli ตัดสินใจกลับบ้านเกิดของเขา การตัดสินใจกลับบ้านครั้งนี้ นอกจากความตั้งใจในการเขียนตำราและทำงานแปลแล้ว เนื่องด้วยหย่าร้างกับภรรยาเขายังต้องรับผิดชอบดูแล บุตรสาวและบุตรชาย เนื่องด้วยเมือง Hezhou ต้องการเชิญเขาไปเป็นอิหม่าม เมื่อเขาได้ตั๋วรถไฟแล้วก็เตรียมตัวเดินทาง ในวันเดินทาง ปรากฏว่าวันเดินทางตอนขึ้นรถถึงจะรู้ว่าตั๋วที่ได้มานั้นเป็นตั๋วปลอม เมื่อมีการตรวจสอบประวัติและเช็คไปที่ต้นสังกัดที่เคยทำงาน ปรากฏว่าคำตอบจากต้นสังกัดที่เคยทำงานคือ “คนคนนี้ คือสมาชิกของฝ่ายขวา (อนุรักษ์และต่อต้านการเมือง) พวกคุณลงโทษได้เลย” ดังนั้น เขาจึงได้ถูกทางการจัดให้ไปใช้แรงงานในเหมืองแร่เป็นเวล 3 ปี เมื่อไปถึงเหมือนแร่ ทางการจัดให้เขาดูแลห้องสมุด เขาจึงใช้โอกาสที่นี้ทำงานแปลและเขียนหนังสือ
หลังจากที่เขาได้รับ ความอิสระ เขากลับบ้านเกิดและทุ่มเทการเขียนและแปลหนังสือ ซึ่งผลงานต่างๆ ของเขานั้นครอบคลุมประวัติศาสตร์อิสลาม ประวัติความสัมพันธ์ของจีนและกลุ่มประเทศอาหรับ เป็นต้น เมื่อเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมจีนเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1966 สถานการณ์ทั่วประเทศจีนในขณะนั้นคือ การทำลายวัฒนธรรมทางด้านตั้งแต่จารีต ประเพณีที่สืบทอดกันมา ศาสนา เป็นต้น เนื่องด้วย ChenKeli เป็นคนที่มีความศรัทธาอย่างแน่วแน่ และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจุดยืนของตัวเอง ในปีค.ศ. 1970 เขาจึงถูกทหารเรดการ์ดยิงตาย ขณะนั้นเขามีอายุเพียง 46 ปี ก่อนที่เขาจะโดนยิงเขายังคงยืนยันว่า“ให้ข้าพเจ้ายืนตาย ดีกว่าให้อยู่แบบคุกเข่า”
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
http://baike.baidu.com/view/1935361.htm
http://www.norislam.com/?viewnews-14505
http://www.2muslim.com/forum.php?mod=viewthread&tid=149067
อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
nisareen@mfu.ac.th