ฟาริดา สุไลมาน…บุปผาเหล็กแห่งสองวัฒนธรรม

… ทั้งๆ ที่ ‘จังหวัดสุรินทร์’ มีมุสลิมอยู่เพียงแค่ 5 ครอบครัว แต่เธอก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนของคนที่นั่นมาแล้ว 3 สมัย

… ทั้งๆ ที่ ‘อีสาน’ คือถิ่นของคนเสื้อแดง  ที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยส่องแสงจรัส แต่เธอก็เลือกที่จะกระโดดมาอยู่ ‘พรรคมาตุภูมิ’

… ทั้งๆ ที่พื้นเพเธอมาจากภาคอีสาน แต่กลับเข้าใจปัญหาที่ปลายด้ามขวานในระดับที่ดียิ่ง

… บทบาทและย่างก้าวบนเส้นทางการเมืองทั้งในอดีตและอนาคต ของ ‘ฟาริดา สุไลมาน’ ส.ส.หญิงจากจังหวัดสุรินทร์คนนี้ จึงมีนัยน่าสนใจนัก…

อยู่ ภาคอีสานที่กระแสคนเสื้อแดงแรงมาก แล้วเส้นทางการเมืองก็โตมาจากพรรค ‘ไทยรักไทย’ ต่อเนื่องมาถึง ‘พลังประชาชน’ แต่ทำไมถึงตัดสินย้ายมาอยู่พรรคมาตุภูมิ?

ถ้า เราเป็นคนที่ เห็นแก่ตัว อยู่ในภาคอีสาน อย่างไรเราต้องอยู่พรรคเพื่อไทยแน่นอน เหมือนกับทางภาคใต้อย่างไรก็ต้องอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกันเราเองก็โตมาจากไทยรักไทย ต่อเนื่องมาถึงพลังประชาชน ในทางการเมืองก็มีความรู้สึกว่าเราได้มาจากพรรค ไม่ได้คิดว่าทุกอย่างมาจากตัวเรา เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ องค์ประกอบของตัวเราเองก็มีส่วน พรรคเองก็มีส่วนประกอบสำคัญ แต่ถามว่า ทำไมในเมื่อเราโตมาจากพลังประชาชน ทางอีสานส่วนใหญ่ก็ยังอยู่เพื่อไทยอยู่ เราคิดอย่างไร?

ซึ่งต้องย้อน กลับไปช่วงพรรคพลังประชาชนถูกยุบ เหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น เราถือว่าเป็นวิกฤติ ความสับสน ความแตกแยกของประชาชน ของการเมือง

ช่วง ที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นช่วงที่เราไปทำฮัจญ์ อยู่ซาอุฯ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าตอนอยู่ที่โน่นบ้านเมืองมันวุ่นวายขนาดไหน เพราะไปฮัจญ์เกือบยี่สิบวัน พอจะกลับมาเขาก็บอกว่า จะมีการซื้อตัว ส.ส. คนละ 20 ล้าน อันนี้คือข่าวที่เราได้รับรู้จากสื่อ ช่วงนั้นก็มีความรู้สึกสับสนกับวิถีทางของเราเอง แล้วพรรคก็ถูกยุบ กลับมาเราจะไปอยู่ตรงไหน อย่างไร

ตอนแรกก็คิดว่ายังไม่กลับดีกว่า เพราะว่าเมื่อตรวจสอบไปแล้ว ปรากฏว่า ส.ส.สุรินทร์ทุกคนโหวตให้ท่านอภิสิทธิ์ โหวตให้พรรคประชาธิปัตย์ ทุกคนก็เรียกเราให้กลับเพื่อไปโหวตให้ท่านอภิสิทธิ์ ก็คิดว่าถ้าเรากลับมาโหวตอย่างนั้น เราจะไปมองหน้าประชาชนอย่างไร นี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีความรู้สึกว่า ถ้าอย่างนั้นเราอย่ากลับดีกว่า เราอยู่ซาอุฯ ให้โหวตเสร็จแล้วค่อยกลับ แต่ก็มานั่งคิด อีกทีว่า ถ้าเราไม่กลับ เดี๋ยวก็ถูกหาว่าเราถูกซื้อตัวไม่ให้กลับ ไม่ให้โหวต ในที่สุดเราก็กลับมา แล้วก็ตัดสินใจว่า เราโหวตข้างประชาชนดีกว่า ก็ตัดสินใจโหวตให้พลังประชาชน

หลังโหวตเรามีเวลาอีกราว 60 วัน ที่จะย้ายพรรค ทีนี้พอโหวตพลังประชาชนแล้วแพ้ เราก็มาคิดว่าแม้แต่เสียงข้างมากเราไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้  ถ้าการเมืองเป็นแบบนี้ เราจะกำหนดทิศทางอย่างไร ก็มาคุยกับท่านอารีเพ็ญ ท่าน     นัจมุดดีน ซึ่งก็ยังไม่สังกัดพรรคไหน ขณะที่ตอนนั้น ส.ส.มุสลิมหลายคนเริ่มสังกัดพรรคแล้วบ้าง เหลือเรากันแค่ 2-3 คน ก็เลยคิดกันว่า ถ้าการเมืองเป็นแบบนี้ก็น่าจะมาหาทางรวมตัวกัน   ในส่วน ส.ส.มุสลิม เพื่อที่ส่วนหนึ่งที่จะมีโอกาสช่วยพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะในส่วนของปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ แล้วขณะเดียวกันเราก็ยอมรับว่าสังคมมุสลิมของเราวันนี้มีความว้าเหว่ เราขาดผู้นำโดยเฉพาะหลังท่านวันนอร์ถูกตัดสิทธิ์

ถึงบอกว่า จุดยืน อุดมการณ์ตรงนี้ เรา   คิดใหม่ เพราะถ้าเราเห็นแก่ตัวเราต้องอยู่พลังประชาชน แต่เพราะเราต้องการให้กลุ่มมุสลิมได้เกิด อยากเห็นพี่น้องมุสลิมได้มีที่พึ่งเหมือนกับ เมื่อก่อนที่กลุ่มวาดะห์เข้มแข็งเป็นเอกภาพ ก็เลยตัดสินใจว่ามาอยู่ตรงนี้ เพราะถ้าเราไม่มา ก็มีแค่สองคนแค่ท่านอารีเพ็ญกับท่านนัจมุดดีนซึ่งจะไม่มีพลังตั้ง พรรคการเมืองได้

เมื่อเรายอมเสียสละคนหนึ่งแล้วจะทำให้กลุ่มตรงนี้ เกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะรู้ว่าอนาคตข้างหน้าเราจะต้องสู้กับอะไรอีกเยอะ ก็ต้องยอม แล้วต้องไปอธิบายกับคนในพื้นที่ว่าเหตุผลที่เรามาเพราะอะไร โดยสรุปคืออยากให้กลุ่มมุสลิมเกิด แม้เราจะต้องเสี่ยงกับอนาคตทางการเมืองก็ตาม

ประเมินสถานการณ์ข้างหน้าอย่างไร

ประเมิน ไม่ออก (หัวเราะ) คือการเมืองไทยเราไม่สามารถมานั่งวิเคราะห์ได้ว่าหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง หรือประชาธิปไตยจะต้องเป็นไปตามที่หลายๆ คนประเมิน เหมือนอย่างที่หลายคนประเมินจากเหตุการณ์ราชประสงค์ว่าคนตายเยอะรัฐบาลจะ ต้องลาออก แต่เมืองไทยมันไม่ใช่

เวลาลงพื้นที่ชาวบ้านมาถามเรื่องย้ายพรรคบ้างไหม

ก็ มีอยู่ ช่วงที่โหวตท่านประชา พรหมนอก ก็มีครูคนหนึ่งโทรมาบอกว่า ฟารีดา ครูชื่นชมหนูมากนะ ที่หนูไม่ทรยศประชาชน แล้วอาจารย์ก็ร้องไห้ เราก็ตกใจเพราะว่า เราเพิ่งมาจากซาอุฯ ยังไม่รู้ว่าประชาชนคิดอย่างไร ขณะเดียวกันมีป้า   คนหนึ่งชื่อป้าบุปผาโทรมาขณะที่เราอยู่ห้องสภาใหญ่ บอกว่า ฟารีดา ป้าขอบคุณหนูมากที่หนูโหวตใหกับนายกฯ ทักษิณ
หลังโหวต ท่านประชาก็บอกว่า ถ้าการเมืองมันเป็นขั้วความขัดแย้งขนาดนี้ก็น่าจะหาพรรคกลางๆ อยู่ ท่านประชาก็มาชวนว่าถ้าอย่างนี้เรามาทำพรรคเล็กๆ กลางๆ กัน ก็เลยบอกว่าถ้ายุบพรรคเพื่อแผ่นดินจะมาอยู่กับพวกเรา อันนี้หลังเราโหวตท่านประชา แต่ปรากฏว่าเพื่อแผ่นดินก็ไม่ยุบ

เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ามา หลายคนก็บอกว่าพรรคปฏิวัตินี่ มันคนละขั้ว จริงๆ เราไม่เคยรู้จัก พล.อ.สนธิ เป็นการส่วนตัวมาก่อนเลย แม้ว่าท่านจะเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้มีโอกาสคุยกับท่านหลังจากที่เรามารวมตัวกัน คำพูดหนึ่งที่ท่านพูดว่า อยากเห็นการเมืองที่มีคุณธรรม อยากเห็นสังคมมมุสลิมมีการพัฒนา มีเอกภาพ ซึ่งท่านก็พยายามที่จะรวมตัวมุสลิมกัน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งก็ได้เท่าที่มี แต่ท่านก็มีความมุ่งมั่น

พอได้มาสัมผัสตัวตนของ ท่าน ก็เข้าใจได้ว่า ใครอยู่ในสถานะ ในตำแหน่งนั้นก็ต้องทำแบบท่าน เพราะฉะนั้นนี่คือคำตอบที่เราเข้าใจในตัวตนของท่าน

การเมืองสำหรับผู้หญิงเป็นเรื่องยากไหม

ถือว่า ยากระดับหนึ่ง เพราะพื้นฐานสังคมไทยไม่ยอมรับที่จะให้ผู้หญิงมาเป็นนักการเมือง แล้วโดยเฉพาะสังคมมุสลิมก็ยิ่งไม่สนับสนุน เพราะถือว่าผู้หญิงควรไปทำหน้าที่ดูแลครอบครัว แต่ขณะเดียวกันเราอยู่ในสถานการณ์ที่อาจจะไม่เหมือนสามจังหวัดภาคใต้ เราอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ซึ่งมีมุสลิมอยู่แค่ประมาณ 5 ครอบครัว จะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมกับสังคมที่ไม่มีมุสลิมเลย

ขณะเดียวกันเราจะ อยู่ในสังคมตรงนั้นจะทำอย่างไรให้เขายอมรับ แล้วก็อยู่ได้โดยไม่มีความแตกแยก เราว่าตรงนี้ยากมากกว่า แล้วการจะอยู่อย่างไรที่จะให้เราดำรงไว้ซึ่งความเป็นมุสลิม ตรงนี้ยิ่งยากสุดๆ

ก้าวสู่ถนนการเมืองอย่างไร

การ มาเป็น ส.ส. จริงๆ เราก็ไม่ได้คิดแต่แรก ความตั้งใจคืออยากจะไปดูแลครอบครัว แต่เมื่อปรากฏว่าพี่ชายซึ่งจะลงสมัคร ส.ส.ของพรรคไทยรักไทยประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ชาวบ้านในพื้นที่ก็บอกว่าขอให้คนบ้านนี้ได้เป็นตัวแทนให้กับประชาชนที่นั่น มาร้องขอเราทั้งน้ำตา แล้วถ้าเราปฏิเสธเขาจะมองว่าเราเป็นคนเห็นแก่ตัวหรือเปล่า เห็นแก่ครอบครัวหรือเปล่า ทั้งที่เราบอกว่าความสุขของเราคือการได้อยู่กับลูกกับครอบครัว ถ้าเราไปเป็นผู้แทนแล้วชีวิตครอบครัวจะอยู่อย่างไร  แต่เมื่อประชาชนร้องขอ ประชาชนต้องการ บางครั้งเราก็ต้องดูว่าเราจะเลือกอย่างไร ในที่สุดก็ตัดสินใจลงสมัคร

เราเป็น ส.ส.ที่อยู่ในสภาวะความขัดแย้งของสองวัฒนธรรมอย่างมาก มุสลิมหลายคนไม่เข้าใจว่ากว่าที่จะฟันฝ่ามาถึงตรงนี้มันยากเย็นขนาดไหน

เป็นนักการเมืองมุสลิมที่ไปเติบโตในพื้นที่ไม่ใช่มุสลิม สร้างความยอมรับอย่างไร?

การเมือง มันไม่ได้สร้างกันแค่วันเดียว ไม่ใช่ว่าใครมีเงินแล้วจะไปซื้อเสียงประชาชนได้ ยิ่ง เดี๋ยวนี้ประชาชนมีการศึกษา ฉลาด โดยเฉพาะคนอีสานที่รักใครเขาก็รักจริง

คุณ พ่อเคยบอกเสมอว่า อยู่อย่างไรที่จะอยู่กับเขาได้ โดยไม่ต้องไปสร้างรั้วมากั้นให้ป้องกันบ้าน แต่ว่าจะทำอย่างไรที่อยู่แล้วจะทำให้ประชาชน ที่นั่นมาเป็นรั้วบ้าน เราอยู่ตรงนั้นได้มาเล่นการเมืองได้ เราต้องสามารถที่อยู่แล้วให้เขารัก

การเมือง ของครอบครัวเราไม่ได้สร้างภายในวันเดียว คือทำกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า ร่วมเกือบร้อยปีที่บรรพบุรุษเขาทำ แล้วเขาไป    อยู่ตรงนั้นอยู่คนเดียวแล้วสามารถทำให้คนใน  พื้นที่รัก แล้วถามว่าเขาอยู่อย่างไร หลักศาสนานี่เป็นสิ่งพิสูจน์เห็นได้ชัดเลย

แม้ว่าเราจะเป็นครอบครัวเดียว แต่ความเอื้อเฟื้ออาทร อยู่แบบเป็นมิตร เอื้อไมตรีต่อกัน เสียสละ แบ่งปันเพื่อน ตรงนี้มากกว่า

มองปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

ถ้า พี่เป็นมุสลิมที่ไม่ได้แต่งงานกับคุณมุข    สุไลมาน ซึ่งเป็นคนสามจังหวัด พี่คงจะไม่เข้าใจปัญหาเลย (หัวเราะ) คงไม่มีโอกาสได้ไปรู้ว่าสังคมมุสลิมที่โน่นเป็นอย่างไร มันทำให้เรามองเห็นภาพสองมิติในสองวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจนขึ้น และ    ดีกว่าคนอื่นๆ

ตอนแรกที่เพิ่งแต่งงานกับคุณมุข แล้วลงไปใต้ภาพที่เราเห็นที่นั่นมันไม่เหมือนสังคมอีสานที่สังคมปะปนกัน เราเป็นภรรยานักการเมืองเราไปนั่งคุยกับชาวบ้านได้ แต่พอไปโน่นเราต้องไปนั่งหลังครัว มีผ้ากั้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของพี่น้องมุสลิมที่โน่น
พอเราไปเราก็พยายามที่จะเข้าใจ ทั้งที่เราไม่เข้าใจ (หัวเราะ) พยายามที่จะเรียนรู้ความแตกต่างให้อยู่ร่วมกันได้ ก็เริ่มจะทำความเข้าใจว่าสังคมที่นั่นไม่เหมือนที่ีอีสานเราน่ะ

และ สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นและสัมผัสได้คือ ผู้หญิงที่นั่นไม่ค่อยมีโอกาสรับรู้เรื่องการเมือง เพราะส่วนใหญ่ผู้ชายจะมาเจอกันที่มัสยิด ชุมนุมกันที่ร้านน้ำชา แต่ผู้หญิงอยู่บ้าน แล้วผู้หญิงจะมีโอกาสรับรู้เรื่องราวการบ้านการเมืองจากใครล่ะถ้าผู้หญิงไม่ มาสื่อด้วยกันเอง

ช่วงที่อยู่ที่นั่น ประมาณปี 43 เรามีความรู้สึกว่าภาคใต้เป็นอะไรที่น่าอยู่ มีความสุข ซึ่งตอนนั้นกับตอนนี้มันแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตของคนสามจังหวัดทำให้การแก้ปัญหามีความผิดพลาด บางครั้งอาจจะไปมุ่งเน้นว่า การยุติปัญหาจะต้องใช้การทหารนำ แก้แบบมิติความมั่นคง คือมองปัญหาเป็นปัญหาการแบ่งแยกดินแดนมิติเดียว ซึ่งก็จะต้องใช้การแก้ปัญหาแบบการทหาร คือความมั่นคง แต่ถ้าเรามองว่า มิติของปัญหาภาคใต้เองเป็นมิติของสังคมและวัฒนธรรม ภาครัฐก็จะต้องแก้ปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง

อะไรคือความมุ่งมั่นที่ต้องการทำในเส้นทางงานการเมือง

โดย ปรกติคนทั่วไปเลือกผู้แทนมาก็อยากจะให้มาพัฒนาพื้นที่ ถนนหนทางประปา คืองานด้านสาธารณูปโภค อันนี้คือเป้าหมายพื้นๆ ของคนทั่วไป แต่เราคิดว่า ณ ปัจจุบัน คงไม่ใช่เพียงแค่นี้ ยังมีเรื่องการศึกษา การพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ อีกมากมาย แต่ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองก็จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน

ถ้าถามว่ามี อะไรบ้างมุ่งมั่นที่จะทำ ก็มีหลายอย่าง พื้นฐานเราก็อยากเห็นในพื้นที่มีความเจริญ แต่ว่าสิ่งที่เป็นหัวใจสูงสุดตอนนี้ เราอยากเห็นความรักความสามัคคีของคนในชาติมากกว่า ไม่อยากเห็นคนต้องมาแตกแยกกัน

แค่สามจังหวัดภาคใต้ก็เจ็บปวดมากพอแล้ว แล้วมาวันนี้ในบ้านเราคนไทยแตกกันเป็นเสี่ยงๆ ตรงนี้เราจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างกลับคืนมา