คนหนุ่มสาวโดยเฉพาะนักศึกษานั้น ทุกยุคทุกสมัยถูกคาดหวังไว้เสมอว่าจะเป็นกลุ่มพลังที่เป็นแนวหน้าในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหากจะกล่าวถึงขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหรือคนหนุ่มสาว แล้ว กระแสหลักของการพูดถึงก็มักจะกล่าวถึงขบวนการเคลื่อนไหวของขบวนการหนุ่มสาว ในโลกตะวันตก เช่น ขบวนการนักศึกษาในฝรั่งเศสในปี 1968 หรือขบวนการคนหนุ่มสาวอเมริกันที่ออกมาต้านสงครามเวียดนาม เป็นต้น
แต่กระแสหลักของการรับรู้ดังที่ได้กล่าวไป ได้บดบังการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวชายขอบอื่นๆ ที่มีอยู่ทุกหัวระแหงในโลก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวในสังคมมุสลิม
มัลคอล์ม เอ็กซ์ (Malcolm X) คนอเมริกันผิวดำที่หันมานับถือศาสนาอิสลามโดยใช้ชื่อว่า ‘มาลิก เอลชับบาซ’ (Malik El-Shabazz) สมาชิกคนสำคัญของขบวนการ ‘ชาติแห่งอิสลาม’ (Nation of Islam) ในอเมริกา เขาเองนั้นถือว่าเป็นผู้จุดประกายการต่อสู้ให้กับคนหนุ่มสาวมุสลิมในสังคม อเมริกา และได้ความยอมรับนับถือจากคนหนุ่มสาวมุสลิมทั่วโลก โดยในช่วงที่เขาออกตระเวนไปยังทวีปแอฟริกา เขาได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมนักศึกษามุสลิมแห่ง ไนจีเรีย (Nigerian Muslim Students’ Association) อีกด้วย
ในโลกตะวันออก การต่อสู้ของขบวนการนักศึกษามุสลิมที่มีความเข้มข้นควรกล่าวถึงก็เห็นจะเป็น ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษามุสลิมในอินเดีย (Students Islamic Movement of India: SIMI) ในปลายทศวรรษที่ 1970 อันเป็นขบวนการสนับสนุนการปลดปล่อยสังคมอินเดียออกจาก การครอบงำของตะวันตก รวมถึงสร้างสังคมมุสลิม ขึ้นมาเอง แต่มาภายหลังรัฐบาลอินเดียกลับ ป่าวประกาศให้องค์กรนักศึกษานี้เป็นพวกนอกกฎหมาย โดยระบุว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายองค์กรก่อการร้าย
นอกจาก นี้ยังมีขบวนการนักศึกษา-คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ความขัดแย้งเกี่ยวกับ ศาสนา-วัฒนธรรม อีกหลายแห่งที่ไม่ได้ถูกถ่ายทอดเรื่องราวสู่โลกแห่ง ‘ข้อมูลข่าวสารภาษาอังกฤษ’ อันเป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนรุ่นใหม่โดยส่วนใหญ่ (รวมทั้งตัวผู้เขียน) ได้รับรู้ รับทราบ ถึงเรื่องราวการต่อสู้ของ ‘กลุ่มบุคคลชายขอบ-กระแสรอง’ ที่มีอยู่ทั่วโลก
แม้แต่ประเทศไทยเอง กระแสหลักในการรับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวก็มักจะกล่าวถึงการ ต่อสู้ในส่วนกลาง อย่างเช่นการลุกฮือขับไล่เผด็จการทหารในเดือนตุลาคม 2514 ซึ่งในช่วงเดียวกันนั้นน้อยคนนักที่จะทราบว่าขบวนการนักศึกษาในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ก็มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นกัน คือ แนวร่วมสหพันธ์นักศึกษามุสลิมที่เป็นแกนนำสำคัญในการต่อสู้ โดยมีหนังสือพิมพ์เสียงนิสิต (SUARA SISWA) เป็นกระบอกเสียงสำคัญในการเผยแพร่อุดมการณ์ของแนวร่วมนักศึกษามุสลิมในยุค นั้น โดยหนังสือพิมพ์เสียงนิสิต มีหัวหน้ากองบรรณาธิการในขณะนั้นดำเนินการอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ส่วนที่โกตาบารู รัฐกลันตันได้มีการรวมตัวจัดตั้งขบวนการ GIP (Garakan Islam Pattani) หรือพรรคอิสลามก้าวหน้าแห่งปัตตานี ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองบางพรรคในมาเลเซีย
เมื่อหมุนเข็ม นาฬิกากระชับเวลาเข้ามาสู่ยุคสมัยปัจจุบัน ในปัญหาความขัดแย้งพื้นที่ชายแดนใต้ ที่เริ่มได้รับการจับจ้องมาใหม่อีกครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ขบวนการนักศึกษามุสลิมเองก็มีบทบาททั้งเป็นปกป้องสิทธิให้กับคนในพื้นที่ และอีกด้านหนึ่งก็พบว่านักศึกษาเองเป็นเหยื่อจากการกระทำของอำนาจรัฐ
ใน งานเขียนของเอกรินทร์ ต่วนศิริ (อดีตอุปนายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่เขียนเกี่ยวกับ ‘การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่เหตุการณ์ความรุนแรง’ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ ‘สถานการณ์ชายแดนใต้ มุมมองของภาคประชาสังคม’ จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการประสานงานภาคประชาชนเพื่อจังหวัดชายแดนใต้ โดยอธิบายการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษายุคหลังปี 2547 ว่าแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
หนึ่ง อดีตนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยแล้วทำงานกับหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องภาคใต้ ที่เห็นเด่นชัดคือ คือ กลุ่มนักศึกษาที่ทำงานกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักศึกษาที่เป็นผู้ชาย ทำงานกับเยาวชนในพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่เยาวชน กลุ่มเยาวชนใจอาสา ที่ทำงานเกี่ยวกับการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาผู้หญิงที่เรียนจบแล้วและเคยทำกิจกรรมในพื้นที่มาก่อน และกลุ่มเครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษาทั่วประเทศหลังจากได้ลงไปสัมผัสและทำความ เข้าใจปัญหาชายแดนใต้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่าง นักศึกษาในพื้นที่กับนอกพื้นที่ การก่อกำเนิดของเครือข่ายฯ ถือเป็นความร่วมมืออย่างจริงจังผ่านมิตรภาพของคนวัยเดียวกันที่พยายามศึกษา เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยหัวใจ ด้วยข้อมูลตรงจากพื้นที่
สอง คือกลุ่มนักศึกษาทั่วไปซึ่งมีกิจกรรมลงพื้นที่บ่อยครั้ง หลายกิจกรรมมีหน่วยงานจากทั้งในและนอกพื้นที่มาเป็นผู้ให้ความร่วมมือ ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้ได้เรียนรู้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น มีช่องทางในการทำวิจัยเพื่อศึกษาปัญหาอย่างลึกซึ้ง
นอกจากการทำหน้าที่ ปกป้องสิทธิและช่วยเหลือแล้ว และดังที่กล่าวไปในขั้นต้นว่าบ่อยครั้งนักศึกษาที่เข้าไปทำงานด้านสิทธิ มนุษยชน หรือนักเรียนนักศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนาในท้องถิ่น ถูกอำนาจรัฐคุกคามกลั่นแกล้ง เช่น การข่มขู่ ตรวจค้น จับกุม รวมถึงขั้นทำร้ายร่างการจนถึงแก่ชีวิต
ในปัจจุบันการต่อสู้ของ นักศึกษาในส่วนกลางอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ถูกวาดภาพให้เป็น ‘กระแสหลัก’ นั้นคงจะกลายเป็นอดีตที่ไม่หวนกลับมาอีก
กระนั้นก็ตามการ ต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่ภาพที่ถูกเผยแพร่ ข่าวที่กล่าวถึงก็ยังกลับไม่มีมากนัก …หรือว่าการต่อสู้นี้ยังคงจะยังเป็นกระแสรองต่อไปอีกนานเท่านาน?
เขียนโดย : ปาลิดา ประการะโพธิ์, วิทยากร บุญเรือง
ที่มา : นสพ.พับลิกโพสต์ ฉ.33 ต.ค.53