สำหรับชาวปาเลสไตน์ ปี 1948 เป็นเครื่องหมายของ “นัคบา” หรือ “ความหายนะ” เมื่อประชาชนหลายแสนคนถูกบังคับให้ต้องออกไปจากบ้านของตัวเอง
ซึ่งสำหรับชาวอิสราเอล ปีเดียวกันนี้เป็นเครื่องหมายของการสร้างรัฐของตนเองขึ้นมา
“โศกนาฏกรรมในปาเลสไตน์ไม่ใช่แค่โศกนาฏกรรมในประเทศ แต่มันเป็นโศกนาฏกรรมของโลก เพราะมันเป็นความอยุติธรรมที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพของโลก” Arnold Toynbee นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ระบุ
อันที่จริง นัคบาไม่ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 1948 ต้นกำเนิดของมันมีมาตั้งแต่สองศตวรรษที่แล้ว
ประวัติศาสตร์การกวาดล้างนี้เริ่มต้นย้อนกลับไปในปี 1799 ด้วยความพยายามของนโปเลียนที่จะรุกคืบเข้าไปในปาเลสไตน์เพื่อตรวจสอบการแผ่ขยายของอังกฤษและการเรียกร้องของเขาต่อชาวยิวทั่วโลกที่จะทวงคืนแผ่นดินของพวกเขาด้วยการเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส
เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1799 นอกกำแพงเมืองเอเคอร์ในปาเลสไตน์ที่ออตโตมานควบคุมอยู่ เมื่อกองทัพของนโปเลียน โบนาปาร์ต เข้ายึดเมืองนี้ มีการรณรงค์ทุกส่วนเพื่อเอาชนะออตโตมาน และสถาปนาการมีอยู่ของฝรั่งเศสในดินแดนนี้
ในการค้นหาพันธมิตร นโปเลียนได้ออกจดหมายฉบับหนึ่งที่เสนอให้ปาเลสไตน์เป็นแผ่นดินเกิดของชาวยิวภายใต้การคุ้มครองของฝรั่งเศส เขาได้เรียกร้องให้ชาวยิว “ลุกขึ้น” ต่อสู้กับสิ่งที่เขาเรียกว่า บรรดาผู้กดขี่ของพวกเขา
การร้องขอของนโปเลียนถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง แต่ท้ายที่สุดเขาก็ถูกกำจัด ในเอเคอร์วันนี้ สิ่งเดียวที่เป็นความทรงจำเกี่ยวกับเขาก็คืออนุสาวรีย์บนยอดเนินแห่งหนึ่งที่คอยดูแลเมืองนี้อยู่
ทว่าโครงการของนโปเลียนเพื่อแผ่นดินเกิดของชาวยิวในภูมิภาคนี้ภายใต้ความคุ้มครองแบบอาณานิคมไม่ได้ตายไปด้วย 40 ปีต่อมา แผนการนี้ถูกฟื้นฟูขึ้นมา แต่ว่าโดยอังกฤษ
วันที่ 19 เมษายน 1936 ชาวปาเลสไตน์ได้เริ่มนัดหยุดงานทั่วประเทศเพื่อประท้วงการอพยพครั้งใหญ่ของชาวยิว และสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นพันธมิตรของอังกฤษกับขบวนการไซออนิสต์
อังกฤษตอบโต้ด้วยการใช้กำลัง ระหว่างการนัดหยุดงานหกเดือนนั้น ชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารไปมากกว่า 190 คน และบาดเจ็บมากกว่า 800 คน
“ฉันไม่สามารถจินตนาการถึงลัทธิไซออนิสต์ที่ปราศจากความรุนแรงได้ ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการสถาปนารัฐอิสราเอล” ดร.Anis Sayegh
เพื่อไม่ให้เกิดการจลาจลของประชาชน ผู้นำอาหรับจึงแนะนำให้ชาวปาเลสไตน์ยุติการนัดหยุดงาน
ผู้นำปาเลสไตน์น้อมรับแรงกดดันจากผู้นำชาติอาหรับ และตกลงที่จะพบกับคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงที่นำโดย Lord Peel
ในรายงานเดือนกรกฎาคม 1937 คณะกรรมการของ Peel ได้แนะนำให้มีการแบ่งแยกปาเลสไตน์ รายงานนี้ได้วาดแนวชายแดนของรัฐยิวให้อยู่ในพื้นที่หนึ่งในสามของปาเลสไตน์ และให้รัฐอาหรับอยู่ในพื้นที่สองในสามที่เหลือ เพื่อรวมเข้ากับบริเวณที่เป็นประเทศจอร์แดนปัจจุบัน
แนวแผ่นดินจากเยรูซาเล็มไปถึงจัฟฟาจะคงอยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ คณะกรรมการชุดนี้ยังได้แนะนำว่าในพื้นที่ที่จำเป็นให้ทำการขนย้ายชาวปาเลสไตน์จากที่ดินที่ถูกจัดสรรให้กับรัฐยิวใหม่
ข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนี้ถูกตีพิมพ์อย่างกว้างขวาง และก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างร้อนแรง
ขณะที่การจลาจลของชาวปาเลสไตน์ดำเนินต่อไป การตอบโต้ของอังกฤษก็ยิ่งแข็งกร้าวขึ้น ระหว่างปี 1936 ถึง 1937 อังกฤษได้สังหารชาวปาเลสไตน์ไปมากกว่า 1,000 คน ตำรวจกองทัพอังกฤษ 37 นาย และชาวยิว 69 คนเสียชีวิตด้วยเช่นกัน
ชาวปาเลสไตน์ไม่กี่คนที่คาดฝันว่าพวกเขาจะกลายเป็นเหยื่อของสิ่งที่ต่อมาภายหลังถูกเรียกว่า “การกวาดล้างชาติพันธุ์”
“เมื่ออังกฤษเตรียมที่จะออกไปจากปาเลสไตน์ เราไม่มีอาวุธ พ่อให้เงินผมมา และผมเอาไปซื้อปืนพร้อมกระสุนสามนัดในราคา 100 ลีราปาเลสไตน์” Sami Kamal Abdul Razek ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์
หลังจาก 30 ปีแห่งการปกครองของอังกฤษ คำถามเกี่ยวกับปาเลสไตน์ได้ถูกกล่าวถึงที่สหประชาชาติ ซึ่งได้กลายเป็นที่ประชุมสำหรับความขัดแย้ง
วันที่ 29 พฤศจิกายน 1947 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้คิดแผนสำหรับการแบ่งแยกปาเลสไตน์ มติ 181 ของยูเอ็นได้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นรัฐอาหรับและรัฐยิว โดยที่เยรูซาเล็มเป็นเมืองระหว่างประเทศ
รัฐยิวได้รับดินแดน 56 เปอร์เซ็นต์ เมืองจัฟฟาถูกรวมเข้าไว้ในเขตของรัฐอาหรับ และดินแดนที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าฉนวนกาซ่านั้นถูกแยกมาจากพื้นที่ทางการเกษตรที่อยู่โดยรอบมัน
แต่การทำรัฐอาหรับที่เสนอมานั้นเป็นได้ทุกอย่างแต่ไม่ได้ผลจริงในสายตาของชาวปาเลสไตน์
เมื่อร่างมติฉบับนั้นถูกนำเสนอเพื่อการออกเสียงลงคะแนน หนังสือพิมพ์อาหรับได้แสดงรายการ “ชื่อที่น่าละอาย” ของประเทศต่างๆ ที่ออกเสียงให้กับแผนการแบ่งแยกของยูเอ็น และชาวอาหรับได้ออกมาประท้วงตามท้องถนน
หลังจากมติแบ่งแยกนั้น อังกฤษประกาศว่าจะยุติอาณัติปกครองของตนในปาเลสไตน์ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948
ต้นปี 1948 กองกำลังกึ่งทหารของยิวได้เริ่มเข้ายึดดินแดนในปาเลสไตน์เพิ่มขึ้นอีก สิ้นเดือนกรกฎาคม ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 400,000 คนถูกบังคับให้ต้องออกไปจากบ้านของตัวเอง และสภาพความเป็นผู้ลี้ภัยของพวกเขาเพิ่งได้เริ่มต้นขึ้น
“ผมขอสาบานต่อพระเจ้า เราได้รู้รสชาติของมันแล้ว เราได้รู้รสชาติของความอดอยากหิวโดยอย่างที่ไม่มีใครเคยพบ” Hosni Mohammad Smada ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์
ในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น นักการทูตชาวสวีเดน เคาท์ Folke Bernadotte ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ไกล่เกลี่ยของยูเอ็นในปาเลสไตน์ ภารกิจของเขาคือการพยายามหาข้อยุติแบบสันติวิธี
ท่านเคาท์ผู้นี้ได้สำรวจหมู่บ้านของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกทำลาย และได้ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยทั้งในปาเลสไตน์และจอร์แดน ขนาดของภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมได้ปรากฏชัดขึ้น เมื่อเขาได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด การเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อรอรับอาหารและความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ
เคาท์ Bernadotte ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับภัยพิบัติต่อมนุษย์ ด้วยการทำงานกับกาชาดเขาได้ช่วยเหลือนักโทษสงครามจากค่ายกักกันของนาซีมากกว่า 30,000 คน คราวนี้เขาสนับสนุนเรียกร้องสิทธิ์ของชาวปาเลสไตน์ในการกลับไปสู่บ้านของตนเอง
ในรายงานลงวันที่ 16 กันยายน 1948 เขาเขียนว่า
“มันคงจะเป็นการกระทำผิดหลักการยุติธรรมขั้นพื้นฐาน ถ้าหากเหยื่อผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ถูกปฏิเสธสิทธิ์ในการกลับคืนสู่บ้านเรือนของตนเอง ขณะที่ผู้อพยพชาวยิวหลั่งไหลเข้ามาในปาเลสไตน์ และอย่างน้อยๆ ก็มีการคุกคามของการเข้ามาแทนที่ผู้อพยพชาวอาหรับอย่างถาวร ซึ่งพวกเขาได้ตั้งรกรากอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว”
ข้อเสนอแรกของท่านเคาท์ผู้นี้คือให้มีการกำหนดเขตแดนที่แน่นอนผ่านการเจรจา มีสหภาพทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองรัฐ และให้ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์กลับสู่ภูมิลำเนา ข้อเสนอนี้ถูกคว่ำไป
วันที่ 17 กันยายน หลังจากวันรายงานยูเอ็นของเขา ขบวนรถของเคาท์ Bernadotte ถูกซุ่มโจมตีในเยรูซาเล็ม เขาถูกยิงในระยะประชิดโดยสมาชิกกลุ่มกองโจรยิว Stern
การต่อสู้แห่งประวัติศาสตร์เพื่อปาเลสไตน์ มีลักษณะเป็นการเรียกร้องสิทธิ์และการต่อต้านการเรียกรองสิทธิ์ ของชาวอาหรับและชาวยิว แต่ปัจจัยหนึ่งที่ถูกมองข้ามไปที่อยู่เบื้องหลัง “นัคบา” หรือ “ความหายนะ” ของชาวปาเลสไตน์ ในปี 1948 ก็คือบทบาทของอังกฤษ มหาอำนาจแห่งจักรวรรดิ์เก่าแก่
ดังนั้น ผลประโยชน์ของใครที่ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดจากอังกฤษในปาเลสไตน์? มันให้เกียรติแก่หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาอย่างไร? และอะไรคือการคำนวณและการวินิจฉัยผิดพลาดของมันในการวาดแผนที่ของปาเลสไตน์ขึ้นมาใหม่และเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของมัน?
65 ปีแห่งสถานภาพรัฐของอิสราเอล ยังคงเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและการถกเถียงกันต่อไป
ประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะ ผู้ดัดแปลงประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ขณะที่ข้อมูลใหม่ เอกสารใหม่ และนักประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ปรากฏขึ้นมา ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตรวจสอบว่า ประวัติศาสตร์เองเป็นสนามต่อสู้แห่งหัวใจและความนึกคิดของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้อย่างไร
เรียบเรียงจาก www.aljazeera.com
นักแปล, โต๊ะข่าวต่างประเทศ