ภาคประชาสังคมใต้ออกแถลงการณ์ จี้ตรวจสอบกรณีผู้ถูกควบคุมตัวขาดอากาศจนหมดสติในค่ายทหาร

นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ หลังถูกนำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ระหว่างการซักถาม วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 (เครดิตภาพ: มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)

องค์กรภาคประชาสังคมใต้ ออกแถลงการณ์จี้ตรวจสอบกรณีผู้ถูกควบคุมตัวขาดอากาศจนหมดสติในค่ายทหาร และเร่งตรากฏหมายป้องกันและต่อต้านการซ้อมทรมาน

กรณีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้ กฎอัยการศึกในค่ายอิงคยุทธบริหาร ถูกพบหมดสติในศูนย์ซักถามของค่ายเมื่อเวลาประมาณ 3:00 น. เจ้าหน้าที่ประจำค่ายจึงส่งตัวนายอับดุลเลาะเข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้น ได้มีการส่งตัวต่อไปรักษาต่อ ณ อาคารผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) โรงพยาบาลปัตตานี

ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แกนนำภาคประชาสังคมใต้ในการออกแถลงการณ์ครั้งนี้ระบุว่า ได้รับข้อมูลว่า นายอับดุลเลาะมีอาการสมองบวมอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากการขาดอากาศ หายใจเป็นเวลานานในระหว่างการควบคุมตัว ขณะนี้ยังคงไม่รู้สึกตัวและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

มูลนิธิฯ ระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้รับรายงานว่า นายอับดุลเลาะถูกจับและควบคุมตัว ภายใต้ อำนาจพิเศษตามกฏอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เวลาประมาณ 16:00 น. หลังจากเจ้าหน้าที่ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านเลขที่ 219/2 หมู่ 3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่นำตัวนายอับดุลเลาะไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรสาย บุรี จ.ปัตตานี ก่อนนำตัวส่งไปยังหน่วยซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ประจำค่ายอิงคยุทธบริหารในเวลาประมาณ 19:30 น. เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อมา ในเวลา 9:00 น. ญาติพบว่า นายอับ ดุลเลาะได้ถูกส่งตัวไปยังห้อง ไอซียู โรงพยาบาลปัตตานีแล้ว

ในขณะนี้ มีการนำเสนอข่าวและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าวจำนวนมาก อีกทั้ง ตัวแทนภาค ประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่บางส่วนได้ออกมาแสดงความกังวลว่า นายอับดุลเลาะอาจถูกซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวในค่ายทหาร

ดังนั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรและบุคคลท้ายแถลงการณ์จึงขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ขอให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ โดยมูลนิธิฯเสนอให้มีนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ตัวแทนภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนเป็นผู้นำการตรวจสอบและมีมาตรการรับรองอำนาจของคณะกรรมการในการเข้าถึงข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ และมีความเป็นอิสระจากหน่วยงานความมั่นคงเพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งอาจส่งผลต่อความเป็นกลางในการค้นหาความจริง ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบพึงตระหนักว่า การทรมานมีหลายวิธีที่อาจไม่พบร่องรอยบาดแผลจากการทรมาน เช่นวอเตอร์บอร์ดิ้ง (Waterboarding) ดังนั้นจึงต้องมีแพทย์นิติเวชศาสตร์ที่เป็นอิสระร่วมในการตรวจสอบด้วย

2.หากพบว่ามีการกระทำอันใดที่ละเมิดต่อร่างกายของนายอับดุลเลาะจริง ขอให้ออกมาตรการชดเชย เยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวให้สภาพร่างกายและจิตใจกลับมาสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงสภาพ เดิมที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ พร้อมทั้งลงโทษเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้งใน ทางวินัยและอาญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของสังคมต่อเจ้าหน้าที่และรัฐบาล

3.เจ้าหน้าที่และหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องเคารพยึดถือและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง มาตรการในการป้องกันและยุติการทรมานโดยเด็ดขาด เพื่อให้ประชาชนมีความไว้วางใจและร่วมกัน สร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้

4.ขอให้รัฐบาลไทยเร่งรัดในการตรากฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการทรมานและการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และอนุสัญญาป้องกันบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันร้ายแรงเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐ

5.มูลนิธิฯเห็นพ้องกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติว่า การใช้อำนาจตาม กฎหมายพิเศษเพื่อปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนใต้ที่มักขาดการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักนิติธรรม ทำให้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัว ดังนั้น นอกจากกฏหมายเหล่านี้ไม่ สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้แล้ว ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น มูลนิธิฯจึงขอให้ หน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณายุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้อง สงสัยโดยขอให้ใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติแทน

6.ในระหว่างพิจารณาการยุติการบังคับใช้กฏหมายพิเศษ ขอให้กำหนดมาตรการที่ชัดเจนและจัดตั้ง กลไกป้องกันการซ้อมทรมานและการกระทำใดๆที่อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งขอให้ยอมรับนับถือสิทธิต่างๆของผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามมาตรฐานสากล เช่น การอนุญาตให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที พบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะ การเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระจากภายนอก โดยเฉพาะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและหน่วยงานภาคประชาสังคม สามารถเข้าร่วมตรวจสอบสถาน ที่ควบคุมตัวและเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวอย่างสม่ำเสมอและสัมภาษณ์ผู้ถูกควบคุมตัวได้อย่างอิสระโดย ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รวมถึงการสร้างกลไกตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานโดยมีหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น

7.ขอให้รัฐบาลออกกฎระเบียบในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจนโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของ หลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม เช่นการตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัว เยี่ยมฯลฯ และลงโทษเจ้าหน้าที่ ที่ละเลย หรือละเมิดกฎระเบียบดังกล่าวอย่างจริงจัง

องค์กรร่วมลงนาม

มุลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
กลุ่มด้วยใจ
องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development Foundation)

บุคคลร่วมลงนาม

ซาฮารี เจ๊ะหลง
อสมา มังกรชัย, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
Solar Gasia
อับดุลสุโก ดินอะ
ทวีศักดิ์ ปิ
มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ
อับดุลสุโก ดินอะ