อิหร่านเป็นผู้รับผิดชอบการโจมตีโรงผลิตน้ำมันซาอุดิอาระเบียสองแห่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้นำจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ได้ระบุในแถลงการณ์ร่วม อัลจาซีรารายงาน
ทั้งสามประเทศซึ่งเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (23 ก.ย.) ที่ผ่านมา ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน กล่าวว่า สหราชอาณาจักรอาจถอนตัวจากข้อตกลงปี 2015 นี้
การโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันของซาอุฯ ด้วยโดรน เมื่อวันที่ 14 กันยายน ได้เพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อปีที่แล้ว
จอห์นสันได้พบกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง และนายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาในการประชุมประจำปีผู้นำโลกที่สหประชาชาติ เพื่อประสานงานยุทธศาสตร์ของพวกเขาต่ออิหร่าน
“เป็นที่ชัดเจนสำหรับเราว่า อิหร่านคือผู้รับผิดชอบการโจมตีครั้งนี้ ไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลอื่นๆ” ผู้นำทั้งสามคนกล่าวในแถลงการณ์ร่วมที่ออกโดยฝรั่งเศส
ผู้นำทั้งสามให้คำมั่นว่าจะพยายามบรรเทาความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และเรียกร้องให้อิหร่าน “ละเว้นการยั่วยุและการยกระดับความขัดแย้ง”
แต่ในทางกลับกัน ก่อนหน้านี้จอห์นสันเคยบอกว่าสหราชอาณาจักรจะพิจารณาการมีส่วนร่วมในความพยายามทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการป้องกันของซาอุดิอาระเบียในอ่าวเปอร์เซีย – อันเป็นการเคลื่อนไหวที่เตหะรานถือว่าเป็นการยั่วยุ
ในการตอบสนองต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน จาวาด ซารีฟ กล่าวว่า หากประเทศเขาโจมตีทางทหารจริง โรงงานผลิตน้ำมันหลักของซาอุฯ คงหายนะเกลี้ยงไปแล้ว
“ หากอิหร่านอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ ก็จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ในโรงกลั่นนี้” ซาริฟกล่าวกับผู้สื่อข่าวในนิวยอร์ก
ซารีฟกล่าวว่ากลุ่มกบฏฮูซีของเยเมนที่อ้างความรับผิดชอบ “มีเหตุผลทุกอย่างที่จะตอบโต้” ต่อการโจมตีทางอากาศของกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยซาอุดีอาระเบียในประเทศของตน