ศอ.บต. มอบวุฒิบัตรวิทยากรผู้สอนภาษาไทย ในโรงเรียน ตชด.สังกัด กกก.43 และ 44

โดยภายในกิจกรรมครั้งนี้ มี นายประเวศ หมีดเส็น ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกิจการพิเศษ ศอ.บต. พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยุพดี ยศวิริศสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พันตำรวจเอก บูรหัน ตานีเห็ง ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 พันตำรวจโท คำนึง อุ่นปลอด ผู้บังคับกองร้อย ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 432 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน รวมถึงเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้รับสั่งให้ ศอ.บต.เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนโครงการมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับหลายภาคส่วน ในการเตรียมความพร้อม และคัดสรรบุคลากร เพื่อทำให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกล รู้จักและรักภาษาไทยมากขึ้น จะไม่ไปเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์หรือวิถีชีวิตของคนพื้นที่ แต่จะทำให้รู้ว่าภาษาไทยคือกุญแจที่จะไขไปสู่โอกาสในภายภาคหน้า และสามารถยกระดับการศึกษาในพื้นที่ให้เท่าเทียมกับเด็กในภูมิอื่นๆของประเทศไทย นอกจากนี้ขอให้ทุกคนใช้ศักยภาพที่มีอยู่ทำเพื่อเด็กที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตของแผ่นดินใต้ต่อไป

ด้านนาย ต่วนฮูซัยฟี หะยีละอุ วิทยากรผู้สอนภาษาไทย ในโรงเรียนตชด.บ้านไอร์บือแต อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ทำให้ตนได้เตรียมความพร้อม ก่อนลงไปปฏิบัติงานในสถานที่จริง อีกทั้งยังได้นำสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ ไปสอดแทรก เพื่อให้เกิดการพัฒนา และยกระดับศักยภาพด้านการศึกษาของเยาวชนในพื้นห่างไกล ให้สามารถอ่านออก เขียนได้ แข่งขันกับเยาวชนในภูมิภาคอื่นได้อย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้กิจกรรมเพิ่มศักยภาพวิทยากรผู้สอนภาษาไทย การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอน” ให้กับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยากรผู้สอนภาษาไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 และ 44 รวมจำนวน 20 คน โดยกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกิจการพิเศษ ศอ.บต. จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 22 ธันวาคม 2562 เพื่อเป็นเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการปฏิบัติงานของวิทยากรผู้สอนภาษาไทย โดยการพัฒนาทักษะ การจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การจัดทำแผน และสื่อการเรียนการสอน การผลิตแบบฝึกทักษะ การผลิตหนังสือนิทาน รวมถึงการฝึกใช้เพลงประกอบในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนมีความสนใจและรักในวิชาภาษาไทยมากยิ่งขึ้น