US-5 มหาอำนาจคุยอิหร่านสำเร็จ ทำข้อตกลง “นุก” พลิกโฉมตะวันออกกลาง

รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ (ที่ 5 จากซ้าย) และรัฐมนตรีต่างประเทศของ 6 ชาติมหาอำนาจ ถ่ายภาพร่วมกัน ภายหลังสามารถทำข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานได้ ณ กรุงเวียนนา วันอังคาร (14 ก.ค.)

เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการ – อิหร่านและมหาอำนาจ 6 ชาติ สามารถทำความตกลงด้านนิวเคลียร์กันได้แล้วในวันอังคาร (14 ก.ค.) เป็นการปิดฉากการเจรจามาราธอนยาวนานกว่าทศวรรษ ด้วยข้อตกลงซึ่งน่าจะพลิกโฉมภูมิภาคตะวันออกกลาง

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องว่า นี่เป็นก้าวเดินไปสู่ “โลกที่มีความหวังเพิ่มมากขึ้น” ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน บอกว่า ความสำเร็จนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า “การมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่ได้ผล” อย่างไรก็ตาม อิสราเอลประกาศว่าจะยังคงทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อทำลายข้อตกลงนี้ซึ่ง รัฐยิวระบุว่าเป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์”

ในสหรัฐฯ นั้น ขั้นตอนจากนี้ไปข้อตกลงนี้จะนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา แต่โอบามายืนยันว่าเขาจะใช้อำนาจวีโต้ของเขาลบล้างมาตรการใดก็ตามที่จะมาส กัดกั้น

“การตกลงกันคราวนี้เป็นการเสนอโอกาสสำหรับการเคลื่อนไปในทิศทางใหม่ๆ” โอบามาบอก “พวกเราควรฉวยคว้าเอาไว้”

ภายใต้ข้อตกลงที่บรรลุกันคราวนี้ มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งของอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ จะถูกยกเลิก แลกกับการที่เตหะรานตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตนลงเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งนี้ฝ่ายตะวันตกระแวงสงสัยว่า โครงการของอิหร่านนี้มีเป้าหมายในการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานปฏิเสธมาตลอด

การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะสำคัญทั้งสำหรับโอบามา และสำหรับรูฮานี ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อสองปีที่แล้วจากการให้คำมั่นลดการถูกโดดเดี่ยว ทางการทูตต่ออิหร่าน ประเทศที่มีประชากร 77 ล้านคน

แต่ผู้นำทั้ง 2 ต่างเผชิญการต่อต้านจากนักการเมืองสายเหยี่ยวภายในประเทศ หลังจากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา 2 ชาติได้เป็นศัตรูคู่อาฆาตที่ต่างขนานนามอีกฝ่ายหนึ่งเป็น “มหาซาตาน” และ “แกนอักษะปีศาจ”

ถึงแม้คู่เจรจาสำคัญคืออเมริกาและอิหร่าน แต่งานนี้ยังมีสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อีก 4 ชาติ ได้แก่ อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส และรัสเซีย บวกด้วยเยอรมนี ร่วมหารือด้วย

ทันทีที่มีการประกาศข้อตกลงจากที่ประชุมเจรจาในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ออกมาวิจารณ์ทันควันว่า นี่เป็น “ความผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์สำหรับโลก” โดยระบุว่า เตหะรานจะได้เงินหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์จากการยกเลิกมาตรการลงโทษ ทำให้สามารถสานต่อความก้าวร้าวรุกรานและการก่อการร้ายในตะวันออกกลางและทั่ว โลก รวมถึงสานต่อโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ซีปี โฮโตเวลี รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศยิว ยังขานรับว่า ข้อตกลงนี้เป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์” และประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า อิสราเอลจะทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งการให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงนี้ ซึ่งบ่งชี้ชัดเจนถึงการพยายามใช้อิทธิพลเพื่อสกัดกั้นข้อตกลงนี้ในรัฐสภา สหรัฐฯ (คองเกรส)

ทั้งนี้ คองเกรสมีเวลา 60 วันในการพิจารณาข้อตกลง โดยหากโหวตคัดค้าน โอบามาสามารถใช้อำนาจยับยั้งการลงมติดังกล่าว และหากคองเกรสต้องการล้มล้างอำนาจของโอบามา ก็ต้องรวบรวมเสียงให้ได้ 2 ใน 3 นั่นหมายความว่า สมาชิกพรรคเดโมแครตต้องแปรพักตร์มาร่วมคัดค้านข้อตกลงนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงด้านนโยบายต่างประเทศของโอบามา

การเจรจารอบสุดท้ายในเวียนนาครั้งนี้ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับ โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ใช้เวลาต่อรองอยู่เกือบ 3 สัปดาห์ แต่สำหรับโอบามา การดำเนินการทางการทูตกับเตหะรานเริ่มต้นอย่างลับๆ มากว่าสองปี พร้อมกับการเดินเกมปรับความสัมพันธ์กับคิวบาที่เป็นปฏิปักษ์กันมานานหลาย ทศวรรษเช่นเดียวกัน

สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานว่า จากข้อตกลงนี้เตหะรานจะได้รับเงินหลายพันหลายหมื่นล้านที่ถูกอายัดไว้กลับ คืน ขณะที่มาตรการแซงก์ชันต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของประเทศ จะถูกยกเลิกเช่นเดียวกัน เตหะรานยังมีสิทธิ์ในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในระดับที่ตะวันตกระบุว่า จะไม่ทำให้อิหร่านสามารถสะสมยูเรเนียมเพียงพอนำไปผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้

นักการทูตตะวันตกยังเปิดเผยว่า ภายใต้ข้อตกลงสุดท้าย อิหร่านยอมรับกลไกย้อนกลับ ซึ่งหมายถึงการบังคับใช้มาตรการแซงก์ชันบางอย่างอีกครั้งภายใน 65 วัน หากเตหะรานละเมิดสัญญา

นอกจากนี้ มาตรการของยูเอ็นในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่าน จะยังคงบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีขีปนาวุธอีก 8 ปี

ขณะเดียวกัน ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษของยูเอ็น ประกาศว่า ได้ร่วมลงนามข้อตกลงโรดแมปกับเตหะรานในการแก้ไขปัญหาที่ยังค้างคา และจะเปิดเผยรายงานการตรวจสอบภายในวันที่ 15 ธันวาคมปีนี้

ข้อตกลงหลักล่าสุดอิงกับความสามารถของไอเออีเอ ในการเข้าตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน และการตอบคำถามของเตหะรานเกี่ยวกับเป้าหมายทางการทหารที่เป็นไปได้ของ โครงการวิจัยก่อนหน้านี้

ผลประโยชน์ที่เตหะรานจะได้รับจากข้อตกลงนี้ สร้างความกังวลต่อพวกพันธมิตรอาหรับของอเมริกาในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่า อิหร่านซึ่งนับถือนิกายชีอะต์ หนุนหลังศัตรูของตนทั้งในสนามรบซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

กระนั้น วอชิงตันกลับมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงความสัมพันธ์กับเตหะราน เนื่องจากมีศัตรูร่วมกันคือกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางในซีเรียและอิรัก

สำหรับอิหร่าน การยุติการแซงก์ชันจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ตลาดน้ำมันอีกครั้ง และนี่คือปัจจัยที่ฉุดราคาน้ำมันในตลาดโลกร่วงลงกว่าหนึ่งดอลลาร์ในวัน อังคาร หลังจากมหาอำนาจ 6 ชาติตกลงกับอิหร่านได้ แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลก ได้อาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปีหน้าก็ตาม

 

ขอบคุณข่าวจาก http://www.manager.co.th/Around