คาร์เทียร์ (Cartier) แบรนด์เครื่องประดับและนาฬิกาสัญชาติฝรั่งเศส ได้เผยโฉมภาคต่อของคอลเลคชั่น Le Voyage Recommencé ที่สะท้อนให้เห็นถึงสไตล์ของคาร์เทียร์อันวิจิตรอลังการ ในนิทรรศการแสดงเครื่องประดับไฮจิวเวลรี เรือนเวลา และผลงานจากคอลเลคชั่น Cartier Tradition รวมกว่า 380 ชิ้น ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
คาร์เทียร์มีความผูกพันกับกรุงปักกิ่งอย่างลึกซึ้งยาวนาน และเคยฝากความประทับใจอันสวยงามไว้ ณ เมืองหลวงแห่งนี้ผ่านการจัดแสดงผลงานศิลปะ Le Pot Dore ของมูลนิธิคาร์เทียร์ (Fondation Cartier) ณ ประตูไท่เหอ พิพิธภัณฑ์พระราชวังกรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2539 และนิทรรศการแสดงผลงาน Cartier Collection ที่จัดร่วมกับพิพิธภัณฑ์พระราชวังในปี 2552 และ 2562 เพื่อสานต่อสายสัมพันธ์และบทสนทนาระหว่างโลกตะวันออกกับตะวันตก
Prince Jun’s Mansion สถานที่จัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 400 ปี ด้วยตัวอาคารที่ก่อสร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมราชสำนักสมัยราชวงศ์ชิงที่มีคอร์ตยาร์ดตรงกลาง โดยสร้างขึ้นในสมัย Shuncheng ที่ราชวงศ์ชิงปกครองประเทศจีน และเคยเป็นที่ประทับของเจ้าชาย Lekdehun
ซีริลล์ วิญเญอรอง (Cyrille Vigneron) กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของคาร์เทียร์ กล่าวว่า “Le Voyage Recommencé คือการเดินทางเชิงสร้างสรรค์ครั้งล่าสุดสู่แก่นแท้ของสไตล์คาร์เทียร์ ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์หลากหลายแง่มุม และมีวิวัฒนาการเคียงคู่ไปกับยุคสมัยตลอดมา นับเป็นการเดินทางย้อนกลับไปสู่จุดเดิมโดยผ่านมุมมองใหม่ หลังจากประสบความสำเร็จกับการเปิดตัวคอลเลคชั่นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เรามีความยินดีที่จะนำเสนอคอลเลคชั่นนี้ในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ให้แรงบันดาลใจแก่เมซงเสมอมา และรู้สึกปลาบปลื้มยินดียิ่งขึ้นไปอีกที่ได้แชร์คอลเลคชั่นนี้ ณ กรุงปักกิ่ง เมืองที่จารีตประเพณีมาผสมผสานกับความทันสมัยในแบบที่ไม่เหมือนใคร และสอดคล้องพ้องกันอย่างลึกซึ้งกับคาร์เทียร์”
เซซิล นาอูร์ (Cecile Naour) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคาร์เทียร์ประเทศจีน กล่าวว่า “สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของคาร์เทียร์ มีความสอดคล้องพ้องกันกับแก่นแท้ของวัฒนธรรมจีน ในโอกาสที่คอลเลคชั่นเครื่องประดับชั้นสูง Le Voyage Recommencé ภาคล่าสุดมาเยือนกรุงปักกิ่ง คาร์เทียร์ขอเชิญชวนให้มาสัมผัสผลงานสร้างสรรค์ของเมซงที่สง่างามเหนือกาลเวลา ผ่านการแลกเปลี่ยนอย่างมีความหมายระหว่างศิลปะกับงานฝีมือ ณ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้”
ผลงานยุคศตวรรษที่ 20 จาก Cartier Collection 3 ชิ้น ทำหน้าเสมือนบทเกริ่นนำ ก่อนที่ผู้ชมจะก้าวเข้าสู่พื้นที่จัดแสดงหลักทั้ง 3 ส่วน อันได้แก่ Giving Life to Nature, Evoking Journey และ Drawing the Line นอกจากนี้คาร์เทียร์ยังได้เชิญ ฟิลิปป์ นิโกลาส์ (Philippe Nicolas) ครูช่างศิลป์สาขาการแกะสลักอัญมณี (Glyptics) และอดีตหัวหน้าเวิร์กช็อปแกะสลักอัญมณีของคาร์เทียร์ พร้อมด้วยทีมงาน มาทำการสาธิตการแกะสลักพลอย เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่ทางเมซงมีต่องานฝีมืออันเป็นเลิศ