ประเทศในโลกทุกวันนี้ไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อีกต่อไปแล้ว
ถึงไม่มีใครเป็นเจ้าของคำพูด โลกยุคใหม่ก็จะต้องเป็นเช่นนั้น ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยง ไม่ว่าคุณจะเป็นประเทศใหญ่มาจากไหน
ปัญหา หมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลี่ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ระหว่างประเทศได้ทวีความยุ่งยากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหญ่อย่างจีนกับประเทศเล็กอีก 5 ประเทศ คือเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน บรูไนและมาเลย์เซีย
แต่ละ ประเทศต่างอ้างสิทธิ์ถือครองต่างกันไป เช่น ไต้หวันบอกว่า เกาะพาราเซลเป็นของเขา ฟิลิปปินส์ มาเลย์เซีย บรูไนยืนยันว่า หมู่เกาะ สแปรตลี่เป็นของตน ขณะที่เวียดนามบอกว่า หมู่เกาะเหล่านี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามมาแต่เดิมในประวัติศาสตร์
ด้วย เหตุนี้ ผมจึงต้องส่งนักเขียน รุ่นน้องไปร่วมงานสัมมนาที่ว่าด้วยหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลี่ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ตามคำเชิญของคุณเหงียน หัว ดินห์ กงสุลเวียดนามประจำขอนแก่น เพื่อค้นหาข้อมูลในเรื่องนี้ให้กระจ่างชัด อย่างน้อย ไทยก็ควรจะรับรู้ปัญหาของเพื่อนไว้ด้วย
มี นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์จากนานาชาติเข้าร่วมในงานสัมมนานี้หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐฯ อังกฤษ เบลเยี่ยม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลย์เซีย โดยมีเวียดนามเป็นเจ้าภาพ
ขณะ ที่เมื่อไม่กี่วันมานี้ เอกอัครราชทูตจีนประจำไทย-หนิงฟู่ขุ่ย ได้ยืนยันว่า เวียดนามนำเรือเข้าไปในบริเวณที่พิพาทกันมากถึง 63 ลำและมีการประทะกับเรือของทางการจีนมากถึง 1,416 ครั้ง
จีน อ้างว่า หมู่เกาะทั้งหมดนั้น(ซึ่งอาจหมายถึงทะเลจีนใต้ทั้งหมด) เป็นของจีนมานานแล้ว ถึงขั้นเคลมว่า ขนาดทะเลยังเรียกว่า “ทะเลจีนใต้” เลย แต่จีนไม่ใช่แค่อ้างอย่างเดียว ยังได้นำเรือขนทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปยึดเกาะเหล่านี้ด้วย ล่าสุดบอกว่า จีนเปิดโรงเรียนในเกาะบางหมู่เกาะเหล่านี้แล้ว
เมื่อ เรือประมงของเวียดนามโผล่เข้าไปใกล้ จีนก็ได้ระดมโจมตีเรือประมงเวียดนามจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก มีบาดเจ็บล้มตายกันไปไม่น้อย จีนบอกว่า เรือประมง (ที่อ้างว่ามีนักประดาน้ำหรือมนุษย์กบด้วย) บุกเข้ามาใกล้แท่นขุดเจาะน้ำมันของจีน ทำให้จีนไม่สามารถอดทนอยู่ต่อไปได้
ตรง นี้แหละที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด (สำหรับจีน) ก็คือบริเวณหมู่เกาะดังกล่าวมีการขุดค้นพบน้ำมันหรือแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวน มหาศาลโดยมีการสำรวจพบในปี 1980 เป็นเรื่องผลประโยชน์ของจีนเองล้วนๆ
ดร.ฟาม ดัง ฟุก อดีตกรรมาธิการรัฐสภาเวียดนาม ยืนยันว่า บริเวณหมู่เกาะเหล่านั้นคือเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนาม “ปัญหาของจีนก็คือ ความต้องการที่จะครอบครองเส้นทางเดินเรือทั้งหมดของทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นแนวคิดของดร.ซุนยัตเซ็น ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐจีน ก่อนจะสืบทอดให้ผู้นำในรุ่นถัดมา”
ใน ยุคของประธานเหมา เจ๋อ ตง สหรัฐฯ เองอ่อนแอเกินกว่าที่จะเอาชนะสงครามเวียดนาม เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประทศสหรัฐฯ ในรัฐบาลนิกสัน ซึ่งเล็งผลเลิศในการหันไปคบจีน และเอียงไปทางจีน ขอให้จีน ลดการสนับสนุนสงครามเวียดนามเพื่อโดดเดี่ยวเวียดนาม แลกกับการเพิกเฉยเรื่องจีนกับสองหมู่เกาะเหล่านั้น
วัน นี้ เวียดนามกำลังเผชิญหน้ากับยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียและของโลกอย่างจีน การบุกทำลายข้าวของบริษัทคนจีนในเวียดนาม ก็เป็นแค่การระบายความเจ็บปวดของชาวเวียดนาม แต่ปัญหาก็ยังไม่จบสิ้น
บางที จีนอาจต้องใช้นโยบายของอดีตผู้นำอย่างเติ้งเสี่ยวผิง ในเวลาที่ไม่รู้จะขจัดข้อขัดแย้งต่อไปยังไง เติ้งเคยประกาศว่า มีทางเดียว ทุกฝ่ายหยุดหมด แล้วมาต้องมาตกลงกันว่า เราจะไม่ตกลงอะไรกันเรื่องนี้อีกแล้ว เพื่อให้ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะเราไม่ใช่ยักษ์จนพูดกับมนุษย์ไม่รู้เรื่อง
พูดง่ายๆ ก็คือแขวนเอาไว้ก่อน เหมือนเรื่องเขตแดนเขาพระวิหารกับเขมร เรื่องโนนหมากมุ่นกับลาว มันก็ไม่ทะเลาะตีกัน-หรือไม่ใช่.