“มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” เอี่ยว 4 องค์กรไทย รับเงินพ่อมดยิว “จอร์จ โซรอส”

“มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” องค์กรเอ็นจีโอที่มีบทบาทในการทำงานด้านชายแดนภาคใต้ ถูกระบุเป็น 1 ใน 4 องค์กรในประเทศไทยที่รับเงินจากมูลนิธิของ “จอร์จ โซรอส” พ่อมดการเงินชาวยิวผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีค่าเงินบาทในปี 2540 จนเกิด “วิกฤติต้มยำกุ้ง”

สืบเนื่องจาก “มูลนิธิโอเพน โซไซตี้” (Open Society Foundation) ของ จอร์จ โซรอส ถูกแฮกเกอร์เจาะข้อมูล นำมาซึ่งการเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ DCLeaks เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2016 เกี่ยวกับรายชื่อองค์กรต่างๆ ที่รับเงินจากมูลนิธิแห่งนี้ โดยเมืองไทยนั้นมีองค์กร 4 แห่งที่ถูกเปิดเผยชื่อว่ารับเงินมา

นสพ.เดอะเนชั่นได้รายงาน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2559 เปิดเผย 4 รายชื่อองค์กรในประเทศไทยที่ถูกระบุว่ารับเงินจากโอเพน โซไซตี้ หรือติดต่อโดยตรงกับมูลนิธิฯ ซึ่งประกอบด้วย เว็บไซต์ประชาไท เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) และ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)

เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานในวันเดียวกันว่า “นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บประชาไท เปิดเผยกับ “เนชั่น” ว่าประชาไทรับเงินสนับสนุนปีละ 1.7 ล้านบาท จากมูลนิธิของโซรอส ตั้งแต่ปี 2548 โดยโซรอสตั้งมูลนิธิแห่ง นี้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มเอ็นจีโอทั่วโลก”

ส่วน ”ผู้ประสานงานของ Thai Netizen อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ยอมรับว่ารับเงินจากมูลนิธินี้เพียงครั้งเดียวในปี 2555 ขณะที่ Dominic Faulder ประธาน FCCT ยืนยันว่าไม่เคยรับเงินจากมูลนิธินี้” เว็บไซต์เนชั่นทีวีระบุ

สำหรับในส่วนของ “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้บริหารได้ออกมายอมรับหรือปฏิเสธใดๆ ต่อการถูกระบุว่ารับเงินจาก มูลนิธิของ จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินชาวยิวผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีค่าเงินบาทในปี 2540

แต่ในเว็บไซต์ voicefromthais ของมูลนิธิฯ ระบุว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเคยได้รับเงินทุนจาก Open Society Institute ช่วงกันยายน 2554 – สิงหาคม 2556 ในโครงการ “รณรงค์ห้ามการทรมานและให้มีการออกพระราชบัญญัติห้ามและป้องกันการทรมานใน ประเทศไทย”

voicefromthai
ภาพถ่ายจากเว็บไซต์ https://voicefromthais.wordpress.com/cross-cultural-foundation/

 

ทั้งนี้ “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” ได้ทำโครงการหลายประการเกี่ยวกับความยุติธรรมสำหรับเด็ก การป้องกันการทรมาน และการเข้าถึงความยุติธรรมของชุมชนที่เสียเปรียบทั่วประเทศไทย และนับเป็นหนึ่งในหลายองค์กรเอ็นจีโอที่เข้ามาเคลื่อนไหวและมีบทบาทสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หลายบทบาทหลายวาระของมูลนิธิฯ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหาร

“มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” ถูกเคลือบแคลงสงสัยในพฤติกรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ว่า พยายามนำประเด็นความผิดพลาดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน และเสนอรายงานสู่องค์กรระหว่างประเทศ โดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และอาจถือได้ว่าเป็นการจงใจพยายามทำลายความน่าเชื่อถือในระบบอำนาจรัฐ และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีสากล

เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็น 2 ใน 3 นักเคลื่อนไหวที่ถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาคที่ 4 ส่วนหน้า แจ้งความในคดีหมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากการนำเสนอรายงานว่า เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยในสามจังหวัดชายแดนใต้

อนึ่งในรายงานเดียวที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยรายชื่อองค์กรที่รับเงินจากมูลนิธิ จอร์จ โซรอส นั้น นสพ.เดอะเนชั่นได้อ้างบทความจาก เว็บไซต์  New Atlas ที่ได้เสนอบทความระบุว่า นักเคลื่อนไหวกลุ่มรากหญ้าที่เกี่ยวข้องกับเอ็นจีโอเหล่านั้นอาจได้แรงหนุนจากเงินสนันสนุนและวาระซ่อนเร้นของผู้บริจาคก็ได้  “แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีก็ตาม กลุ่มรากหญ้าก็ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้อง เพียงแต่ว่าเงินและความสนใจพิเศษอาจเป็นแรงจูงใจให้พวกเขา โดยเฉพาะเรื่องของประเทศไทยหรือนอกเหนือไปจากนั้น”บทความของนิว แอตลาส ตีพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

บทความรายงานด้วยว่าในประเทศไทย บรรดาเอ็นจีโอส่วนใหญ่ต่อต้านกลุ่มผู้ปกครองปัจจุบันหรือคสช.ได้รับการ สนับสนุนจากโอเพน โซไซตี้ที่มีนายโซรอสร่วมก่อตั้งและอีกองค์กรหนึ่งได้รับจากกองทุนเพื่อ ประชาธิปไตยแห่งชาติสหรัฐ ( US National Endowment for Democracy)

นายโซรอสผู้ก่อตั้งองค์กรโอเพน โซไซตี้ ขึ้นในปี 1993 เคยถูกศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) พิพากษาว่ามีความผิดในการล่วงรู้ข้อมูลก่อนลงทุนซื้อหุ้น ( insider trading) ในปี 2002  บทความระบุ

กล่าวสำหรับการเข้ามาเคลื่อนไหวขององค์กรต่างชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ผ่านการร่วมมือกับองค์กรของไทยและเอ็นจีโอต่างๆ นั้นมีการตั้งข้อสังเกตมานานแล้วทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่และสังคมชายแดนภาคใต้เอง โดยเงินต่างชาติเหล่านี้มาทั้งในรูปแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยจำนวนมากจนสร้างความระแวงต่อสังคมบางส่วนในพื้นที่ว่าอาจมีเป้าหมายแฝงมากกว่าการทำงานด้านประชาสังคมอย่างเดียว