“อิสลาม” หยั่งรากอย่างไรในเมืองที่อันตรายที่สุดของประเทศ “โคลอมเบีย”

เชค มุเนียร์ วาเลนเซีย Photograph: Sybilla Brodzinsky

บัวนาเวนตูรา (Buenaventura) เมืองท่าของโคลอมเบีย (หรือโคลัมเบีย) เป็นมาตุภูมิของชุมชนมุสลิมขนาดเล็ก ผู้ที่ได้เปลี่ยนมารับนับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีทั้ง “ซุนนีและชีอะห์” สองสำนักคิดหลักของอิสลาม

ท่วงทำนองเพลงซัลซ่าในสไตล์ลาตินอเมริกาที่ส่งเสียงดังมาจากบาร์ใกล้ๆ ไม่อาจทำลายสมาธิของ “เชค มุเนียร์ วาเลนเซีย” (Sheik Munir Valencia) ที่กำลังละหมาดอยู่ในบ้านซึ่งถูกดัดแปลงให้เป็นมัสยิด ในเมืองบัวนาเวนตูรา ของประเทศโคลัมเบีย ซึ่งเป็นเมืองยากจนและมีสถิติความรุนแรงสูง

หลังละหมาดเสร็จสิ้น เขาถอดเสื้อคลุมอาหรับสีน้ำตาลออกแล้วนั่งลงบนเก้าอี้พลาสติก จากนั้นได้อธิบายถึงบทบาทของตนในฐานะผู้นำศาสนาของชุมชนอิสลามเหมือนกับบุคคลอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่เช่นนี้

เชค มุเนียร์ วาเลนเซีย นำละหมาด

ชุมชนเล็กๆ ของชาวมุสลิมแอฟริกา-โคลอมเบีย ในเมืองท่าเรือหลักของโคลัมเบียในมหาสมุทรแปซิฟิคแห่งนี้ กำเนิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังพวกเขาได้ยอมรับคำสอนแห่งอิสลาม ซึ่งมีทั้งที่เป็นซุนนีและชีอะห์ สองสำนักคิดหลักของศาสนาอิสลาม

แรงจูงใจแรกที่ดึงดูดสู่ความศรัทธานั้นมาจากคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับ “พลังของคนผิวดำ” (black power) ชาวมุสลิมเมืองบัวนาเวนตูราบอกว่า พวกเขาได้พบว่าในศาสนาอิสลามนั้นมีที่หลบภัยจากความยากจนและความรุนแรงที่มีสถิติสูงในเมืองแห่งนี้ โดยช่วงหนึ่งเคยมีอัตราการฆาตกรรมสูงที่สุดในโคลอมเบีย

ศาสนาอิสลามมาถึงที่นี่ครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1960 โดยการนำมาของ “เอสเตบาน มุสตาฟา เมเลนเดซ” (Esteban Mustafa Meléndez) ซึ่งเป็นกะลาสีมุสลิมแอฟริกันอเมริกัน เดิมเป็นชาวปานามา เขาเป็นผู้เผยแพร่อิสลามให้แก่คนงานท่าเรือที่นี่ตามแนวทางกลุ่มเดอะเนชั่นออฟอิสลาม (The Nation of Islam) ซึ่งเป็นกลุ่มของมุสลิมชาวอเมริกันที่มีการผสมผสานระหว่างหลักคำสอนของศาสนาอิสลามกับลัทธิชาตินิยมคนผิวดำ (black nationalism)

“เขาพูดเกี่ยวกับการนับถือตนเองของคนผิวดำ และปรัชญาที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมาก คำสอนเหล่านั้นเข้าถึงความคิดและจิตใจของผู้คนจำนวนมาก” เชค มุเนียร์ วาเลนเซีย กล่าวและบอกว่า สาส์นดังกล่าวมาในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างลึกซึ้ง

“ดิเอโก คาสเทลลานอส” (Diego Castellanos) นักสังคมวิทยาที่ได้ศึกษาเรื่องความหลากหลายทางศาสนาในโคลอมเบียซึ่งผู้คนส่วนใหญ่นับถือคาทอลิก กล่าวว่า “เมเลนเดซ” เดินทางมาถึงในช่วงเวลาที่ชาวชนบทในโคลอมเบียจำนวนมากกำลังอพยพโยกย้ายเข้าไปยังในเมือง ทำให้สูญเสียกระบวนการการเชื่อมต่อทางสังคมกับครอบครัวของพวกเขาที่ขยายเพิ่ม

“กลุ่มเดอะเนชั่นออฟอิสลามนำเสนอตัวเองเป็นทางเลือก และมันคือวิถีในการตอบโต้คืนต่อสถานการณ์ของโครงสร้างการเหยียดผิวในเมืองท่าแห่งนี้” เขากล่าว ทั้งนี้รอยละเก้าสิบของประชากรในเมืองบัวนาเวนตูราคือชาวแอฟริกาโคลอมเบีย (Afro-Colombian)

คลื่นลูกแรกของการเปลี่ยนศาสนานั้นมีแนวโน้มจะเกี่ยวกับทางด้านการเมือง (political) มากกว่าทางจิตวิญญาณ (spiritual) : พวกเขาบอกว่า พวกเขาละหมาดด้วยภาษาอังกฤษหรือสเปน อ่านเอกสารทางการเมืองมากกว่าอัลกุรอ่าน และยังงงวยต่อการทำความเข้าใจคำสอนหลักของศาสนาอิสลาม เชควาเลนเซีย กล่าว

ความสนใจเกี่ยวกับกลุ่มเดอะเนชั่นออฟอิสลามค่อยๆ จางหายไปพร้อมๆ กับการเดินทางมาที่น้อยลงของเมเลนเดซ และสาส์นแห่งพลังอำนาจของคนผิวดำก็ค่อยๆ เป็นเสียงที่ไร้พลังต่อสังคม -ในขณะที่การตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติในสังคมของพวกเขา- ไม่ได้รุนแรงเหมือนกับการเกลียดชังเรื่องสีผิวและการแบ่งแยกโดยกฎหมายอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา

พวกเขาได้ทำตามตัวอย่างบุคคลเช่น “มัลคอล์ม เอ็กซ์” (Malcolm X) -ที่ได้ถอยออกมาจากกลุ่มเดอะเนชั่นออฟอิสลาม และเปลี่ยนมายึดถือแนวทางซุนนี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 1965- สมาชิกจากเมืองบัวนาเวนตูราได้เดินทางไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียเพื่อศึกษาศาสนาอิสลาม และกลับมาเพื่อโนมน้าวสังคมให้เปลี่ยนไปยึดถือแนวทางดั้งเดิมมากขึ้น

“เราเป็นเหมือนกับชาวซุนนีทั่วไป” บาเลนเซียที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบคาทอลิกและวางแผนที่จะเป็นนักบวชก่อนจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามกล่าวและว่า “เราเรียนอ่านภาษาอาหรับ เราอ่านคัมภีร์กุรอ่าน เรามองไปทางสหรัฐอเมริกาไม่นานนักแล้วก็เริ่มผินมองไปยังซาอุดีอาระเบีย”

ชุมชนมุสลิมในเมืองบัวนาเวนตูรา ได้มองไปยังกลุ่มซุนนีอื่นๆ ในประเทศเพื่อรับการสนับสนุนช่วยเหลือ แต่โลกทั้งสองของพวกเขาก็มิได้บรรจบ ด้วยแตกต่างกันมาก

ชุมชนชาวมุสลิมจากเมืองบัวนาเวนตูรานั้นตั้งอยู่ระหว่างป่าใหญ่และมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกเฉียงใต้ของโคลอมเบีย พวกเขาเป็นคนผิวดำ ยากจน และค่อนข้างใหม่ต่อความเชื่อและประเพณีของอิสลาม ขณะที่สังคมมุสลิมซุนนีในโคลอมเบียนั้นก่อตั้งขึ้นมาจากรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมอาหรับ ประกอบด้วยพ่าค้าวานิชที่ร่ำรวยมั่งคั่งและโดดเด่นในเมืองไมเคา (Maicao) ซึ่งเป็นเมืองการค้าคึกคักซึ่งตั้งอยู่ในทะเลทรายทางตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายแดนติดกับประเทศเวเนซูเอลา

ดังนั้นนอกจากอาหารเล็กน้อยที่ได้รับบริจาคจากชุมชนอาหรับ ความสัมพันธ์อื่นของพวกเขาก็ห่างไกล

มัสยิดชั่วคราวที่มีสมาชิกชุมชน 300 คน (ภาพ The Sun)

การปฏิวัติอิสลามอิหร่าน ในปี 1979 คือลมหายใจแห่งชีวิตใหม่ของชุมชนบัวนาเวนตูรา นักสอนศาสนาของมุสลิมชีอะห์ได้ติดต่อกับชุมชน และมอบทุนการศึกษารวมทั้งการสนับสนุนทางการเงิน บาเลนเซียได้รับทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อที่มัสยิดเตาฮีด (At-Tauhid mosque) ในบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) เมืองหลวงของประเทศอาร์เจนตินา และจากนั้นก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในเมืองกุม (Qom) ประเทศอิหร่าน

วันนี้ ภาพของมัลคอล์ม เอ็กซ์ และอายาตุลเลาะห์ คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ถูกประดับอยู่ฝาผนังห้องในบ้านของเขาที่ถูกดัดแปลงให้เป็นศูนย์ชุมชนและมัสยิด ที่มีสมาชิกราว 300 กว่าคนในปัจจุบัน ภาพจิตกรรมอีกชิ้นที่ถูกประดับอยู่บนฝาผนังอีกด้านเป็นภาพวาดต้นไม้ที่แสดงถึงสายสกุล พร้อมข้อความระบุว่า “ลำดับวงศ์ตระกูลของศาสดาแห่งอิสลาม” และเมื่อถึงวันศุกร์ก็จะมีผู้คนราว 40-50 คนมาร่วมละหมาดพร้อมกัน ณ ที่แห่งนี้

เชค วาเลนเซีย กล่าวว่า ความเชื่อมโยงของตนกับอิหร่านได้ทำให้ถูกจับตาทั้งทางลับและไม่ลับโดยหน่วยข่าวกรองทั้งของโคลอมเบียและสหรัฐอเมริกา “ผมไม่มีอะไรซ่อนเร้น” เขากล่าวและว่า “(อิหร่าน) สนับสนุนเรา แต่เราไม่ใช่พวกญิฮาดิสต์”

เด็กหญิง 2 คนศึกษาอัลกุรอานในมัสยิด

บาเลนเซีย ยังได้เปิดโรงเรียนเอกชนในกำกับของรัฐบาล 2 แห่งซึ่งมีนักเรียนราว 180 คน โดยบางส่วนเป็นเด็กที่มาจากเขตที่ยากจนที่สุดของเมืองนี้ พวกเขาไม่ได้แค่เรียนเอบีซีเท่านั้นแต่ยังเรียนอาลีฟบาตา (ภาษาอาหรับ) อีกด้วย โดยโรงเรียนตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคาร 3 ชั้นที่ซอมซ่อ โรงเรียนซิลเวีย ซัยนับ (Silvia Zaynab) นั้นตั้งอยู่ในเขตหนึ่งของบัวนาเวนตูราที่นับเป็นละแวกที่มีความรุนแรงที่สุด โดยแก๊งอาชญากรมักต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงการควบคุมพื้นที่และชาวบ้านมักติดอยู่ในสมรภูมิการต่อสู้ดังกล่าว

โรงเรียนมักเป็นสถานที่หลบภัยเล็กๆ จากเหตุความรุนแรงนั้น นักเรียนทักทายผู้มาเยี่ยมด้วยบทเพลงภาษาในอาหรับเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของอัลเลาะห์ พวกเขายังร้องเพลงภาษาสเปนเกี่ยวกับ 5 ศาสดาที่พระเจ้าส่งมา ได้แก่ โนอาห์ (นูฮ) อับราฮัม (อิบรอฮีม) โมเสส (มูซา) พระเยซู (อีซา) และ มูฮัมหมัด

และจากนักเรียนจำนวนดังกล่าวมีเพียง 5 คนเท่านั้นที่มาจากชุมชนมุสลิม “เราไม่ได้พยายามเปลี่ยนศาสนาผู้ใด” เชค วาเลนเซีย กล่าวและว่า “เราเพียงชี้ให้เด็กๆ เคารพต่อศาสนาอื่นๆ และประเพณีอื่นๆ”

 

แปล/เรียบเรียงจาก https://www.theguardian.com
ภาพบางส่วนจาก https://www.thesun.co.uk