ISMED เปิดโครงการหนุนพัฒนา อุตสาหกรรมฮาลาล “ที่ไม่ใช่อาหาร” อีกหนึ่ง“เรือธง”ส่งออกไทย

สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดโครงการหนุนพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล “ที่ไม่ใช่อาหาร” ปี 2 หนุนเพิ่มศักยภาพส่งออกไทย

อุตสาหกรรมฮาลาลโลกเป็นตลาดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เนื่องจากประชากรมุสลิมอาศัยกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณกว่า 1,700 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 ของประชากรโลก

ผลิตภัณ์ฮาลาลนั้นครอบคลุมสินค้าทั้งที่เป็น “อาหาร” และ “มิใช่อาหาร” รวมถึงการบริการซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการผลิต การให้บริการหรือจำหน่ายที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม

อุตสาหกรรมฮาลาลไทยมีจุดอ่อนและข้อจำกัดซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขทั้งในด้านการผลิต การตลาด และการรับรองมาตรฐาน รัฐบาลจึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล (พ.ศ.2559-2563) เพื่อให้มีการบูรณาการการดำเนินงานของหน่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรทางศาสนาให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

ข้อมูลจาก ISMED ระบุว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรอิสลามมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีความต้องการสินค้าฮาลาล ทั้งที่เป็นอาหาร และไมใช่อาหารในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้เพียงปีละประมาณ 275 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9,600 ล้านบาท) หรือร้อยละ 0.18 ขอมูลค่าผลิตภัณฑ์ฮาลาลโลกเท่านั้น ทั้งที่ไทยมีศักยภาพสูงมากในด้านการผลิตสินค้าฮาลาล

ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรต้องส่งเสริมศักยภาพและการใช้ทรัพยากรในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถต่อยอด สู่ตลาดทั้งอาเซียนและตลาดโลกได้

สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมดำเนินการกิจกรรม “เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนเพื่อเข้าสู่ระบบมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาล” ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล “ที่ไม่ใช่อาหาร” 

“โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล เริ่มดำเนินการในปีที่ผ่านมา เป็นโครงการที่ 1 โดยเน้นไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ไม่ใช่อาหาร สำหรับปีนี้เป็นโครงการที่ 2” นาย ต่อศักดิ์  สุทธิชาติ  ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาธุรกิจ SMEs อาวุโส ของ ISMED กล่าวในงานแถลงข่าวและเปิดตัวกิจกรรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนเพื่อเข้าสู่ระบบมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาล เมื่อวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมอัลมีรอซ ถนนรามคำแหง กรุงเทพฯ

“ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของงาน (KPI) ปีที่ผ่านมา เราตั้งไว้ว่าในจำนวนผู้ประกอบที่เข้าร่วมโครงการ 20 ราย จะต้องมีความพร้อมเข้ารับการรับรองฮาลาลของคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 12 ราย แต่เมื่อจบโครงการปรากฏว่ามีผู้ประกอบการที่มีความพร้อมถึง 18 ราย ซึ่งถือว่าเกินเป้าที่ตั้งไว้” นายต่อศักดิ์ กล่าว

นายต่อบอกด้วยว่า ปีนี้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องสำอางค์หรือผลิตภัณฑ์ความงาม (cosmetic cluster) โดย ISMED ได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการ “เปิดประตู SMEs ไทย สู่ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลก” ในวันเดียวกันนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีความรู้ และความเข้าใจในการผลิตสินค้า/ผลิตภัณฑ์ เพื่อเข้าสู่ระบบมาตรฐานฮาลาลได้อย่างถูกต้อง และสอดคล้องตามหลักการฐานศาสนา ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสินค้าและผลิตภัณฑ์ให่มีความน่าเชื่อถือจากผู้ซื้อในประเทศและต่างประเทศ

ด้าน ดร.ปรกณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย กล่าวบนเวทีว่า “รัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดยุทธศาสตร์ 2559-2563 จุดสำคัญคือการสร้างความเชื่อมันต่อฮาลาลไทยทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร”

“พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์นี้อยู่ 2 ประการ หนึ่ง จำเป็นที่จะต้องได้รับการยอมรับสูงในประชาคมโลกแม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศมุสลิม เหตุผลก็เพราะว่า การยอมรับที่มาจากผู้ซื้อทั่วโลกจะสร้างความเชื่อมั่นได้”

“สอง ท่านเน้นย้ำว่า อันดับส่งออกฮาลาลของประเทศไทยในตลาดโลกก่อนที่จะมียุทธศาสตร์ฮาลาล เราอยู่ในอันดับที่ 13 หลังจากนั้นเราก็ขึ้นสู่อันดับที่ 10 ซึ่งภายในปี 2563 เราจะต้องขึ้นมาสู่อันดับหนึ่งในห้าให้ได้”

“เราจะติดอันดับ 1 ใน 5 แน่นอนภายในปี 2562 แต่เราจะต้องพัฒนาในส่วนผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ไม่ใช่อาหาร” ดร.ปรกณ์ กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจเข้าร่วมโครงการกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กระทรวงอุตสาหกรรม  สามารถสอบถามข้อมุลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2564-4000 ต่อ 1214-15 หรือโทร 086-7534967 ผู้ประสานงานโครงการ น.ส.วิยะดา เดชพลมาตร และ น.ส.กนกวรรณ ระเบียบนาวีนุรักษ์