“พันหนึ่งราตรี” อมตะนิทานแฟนตาซีแห่งตะวันออกกลาง

ภาพวาดอาลีบาบาในถ้ำโจร วาดโดย แมกซ์ฟิลด์ ปาร์ริช ในปี 1909

อมตะนิทาน “หนึ่งพันหนึ่งราตรี” หรือ “พันหนึ่งราตรี” (One Thousand and One Nights) คือหนังสือที่รวบรวมนิทานพื้นบ้านที่เล่าขานในตะวันออกกลางและเอเชียใต้ ถูกรวบรวมและแปลเป็นภาษาอาหรับในช่วงยุคทองของอิสลาม (Islamic Golden Age) และเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตกในชื่อ “อาหรับราตรี” (Arabian Nights) หลังถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 1706 จากนั้นก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลก

ต้นกำเนิดของเรื่องเล่าเหล่านี้ย้อนไปถึงยุคโบราณและยุคกลางทั้งอาหรับ เปอร์เซีย เมโสโปเตเมีย อินเดีย ยิว และวรรณคดีของอียิปต์ โดยนิทานส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวพื้นบ้านเดิมในยุคสมัยของกาหลิบราชวงศ์อับบาซิด (Abbasid) ขณะที่ส่วนที่เหลือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องโครงร่างมีความเป็นไปได้มากว่าจะหยิบยกมาจากงานเขียนเปอร์เซียโบราณที่ชื่อ “เฮซอร์ด อัฟซอน” (Hazār Afsān : นิทานพันเรื่อง)

ทั้งนี้ นิทานซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “ตะเกียงวิเศษของละดิน” “อาลีบาบากับสี่สิบโจร” “การผจญภัยทั้งเจ็ดครั้งของกะลาสีซินแบด” ในต้นฉบับภาษาอาหรับไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนิทานพันหนึ่งราตรีนี้ แต่ถูกเพิ่มเติมลงไปในฉบับแปลของ แอนโทนี่ กัลแลนด์ (Antoine Galland) และนักแปลคนอื่นๆ ของยุโรป

ต้นฉบับภาษาอาหรับของหนังสือ “พันหนึ่งราตรี” ซึ่งเป็นสำเนาที่เก่าแก่ที่สุดที่มีอยู่จนถึงปัจจุบัน

นิทาน “พันหนึ่งราตรี” เป็นเรื่องราวของพระราชา “ชาห์เรยาร์ด” (Shahryār ในภาษาเปอร์เซียแปลว่าพระราชาหรือผู้ปกครอง) และมเหสีของตนที่ชื่อ “ชาห์เรซาด” (Scheherazade) โดยโครงเรื่องเป็นนิทานซ้อนนิทาน และมีเรื่องใหม่ต่อเนื่องเมื่อเรื่องเดิมจบลง

พระราชา ที่ผู้เล่าเรื่องเรียกว่า “กษัตริย์แซซซาเนียน” (Sasanian king) แห่งอาณาจักรแซสซานิด (Sassanid Empire) ซึ่งปกครองอินเดียและจีน รู้สึกตะหนกตกใจเมื่อรู้ว่าภรรยาของพี่ชายตนไม่ซื่อสัตย์ และการค้นพบว่าภรรยาของตนก็นอกใจจึงยิ่งตอกย้ำเขาเข้าไปอีก เขาได้ฆ่านาง ท่ามกลางความขมขื่นและโศกเศร้านี้เขาได้ตัดสินว่าสตรีทุกคนนั้นเป็นเหมือนๆ กัน

จากนั้น พระราชา “ชาห์เรยาร์ด” ได้เริ่มแต่งงานกับหญิงพรหมจารีแล้วก็สั่งประหารเจ้าสาวของตนในวันรุ่งขึ้นก่อนที่พวกนางจะมีโอกาสทำลายชื่อเสียงของพระราชา เป็นเช่นนี้คนแล้วคนเล่า จนในที่สุดขุนนางผู้ใหญ่ในราชอาณาจักรซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบไม่สามารถจัดหาสตรีพรหมจารีมาให้พระราชาได้อีก ด้วยเหตุนี้ “ชาห์เรซาด” (Scheherazade) บุตรีของขุนนางผู้ใหญ่จึงเสนอตัวเองเป็นเจ้าสาวของพระราชาแม้ผู้เป็นพ่อจะไม่เห็นด้วย

ในคืนแต่งงาน “ชาห์เรซาด” ได้เริ่มต้นเล่านิทานให้พระราชาฟัง แต่นางได้หยุดที่จะเล่าตอนจบไว้ พระราชาที่อยากจะรู้ว่าตอนจบของนิทานเป็นเช่นไรจึงสั่งเลื่อนการประหารนางออกไป คืนถัดมานางก็เล่าตอนจบแล้วก็เริ่มต้นเล่าเรื่องใหม่โดยหยุดตอนจบไว้อีก พระราชาที่อยากรู้ตอนจบของนิทานเรื่องใหม่ก็สั่งเลื่อนการประหารนางออกไปอีกครั้ง เรื่องดำเนินไปเช่นนี้จนกระทั่งเป็นเวลา 1,001 คืน

นิทานที่นางเล่านั้นหลากหลาย มีทั้งนิทานประวัติศาสตร์, เรื่องของความรัก, โศกนาฏกรรม, ตลก, บทกวี, ล้อเลียน, และอีโรติก เรื่องราวจำนวนหนึ่งกล่าวถึงภูติผีปีศาจ สัตว์ประหลาด พ่อมด นักมายากล และสถานที่ในตำนานผสมกับสถานที่ซึ่งมีอยู่จริง  ซึ่งไม่ได้สมเหตุสมผลเสมอไป

ตะวละครสำคัญในเรื่องได้แก่ กาหลิบ “ฮารูน ราชิด” ZHarun al-Rashid) แห่งราชวงศ์อับบาซิด และขุนนางผู้ใหญ่ของเขา “จาฟาร์ อัล-บาร์มากี” (Jafar al-Barmaki) รวมทั้งนักกวีผู้มีชื่อเสียง “อาบู นูวาส” (Abu Nuwas) ซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แม้ว่าตามข้อเท็จจริงบุคคลเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในยุค 200 ปีหลังการล่มสลายของอาณาจักรแซสซานิด ซึ่งเป็นโครงเรื่องนิทานที่ “ชาห์เรซาด” สร้างขึ้นมา

บางครั้งตัวละครในนิทานของ “ชาห์เรซาด” จะเริ่มเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองให้ตัวละครอื่น ส่งผลให้กลายเป็นนิทานซ้อนกันหลายชั้น

ทั้งนี้ด้วยมีต้นฉบับที่แตกต่างกันของ “พันหนึ่งราตรี” จึงทำให้มีรายละเอียดที่แตกต่างกันในตอนจบของนิทาน โดยบางต้นฉบับ “ชาห์เรซาด” ขอให้พระราชาให้อภัย บางต้นฉบับระบุว่าพระราชามองไปยังลูกๆ ของพวกเขาทั้งสองจึงตัดสินใจไม่ประหารภรรยา บางต้นฉบับระบุว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้พระราชาเปลี่ยนใจ แต่ทั้งหมดลงเอยด้วยการที่พระราชาให้อภัยภรรยาและไว้ชีวิตนาง

 

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/One_Thousand_and_One_Nights
https://th.wikipedia.org/wiki/จักรวรรดิแซสซานิด