มองชีวิต “ชาวยิวอิหร่าน” ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐอิสลาม

โบสถ์ยิวในเตหะราน (FOR-USA Fellowship of Reconciliation/Flickr)

ชาวยิวเริ่มตั้งถิ่นฐานในอิหร่านเมื่อประมาณ 2,700 ปีก่อน ตลอดประวัติศาสตร์ของพวกเขา ชาวยิวอิหร่านได้รับมือกับความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยของอาณาจักรซาฟาวิด (ค.ศ. 1501-1736) และการอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์กอญัร (ค.ศ. 1796-1925)

ในยุคของราชวงศ์ “ปาห์ลาวี” -โดยเฉพาะในรัชกาลของ “มูฮัมหมัด เรซา ชาห์” (ค.ศ. 2484-2522) – มักถูกมองว่าเป็น “ยุคทอง” สำหรับชาวยิวอิหร่านทั้งหลาย ชุมชนชาวยิวอิหร่านเติบโตทางเศรษฐกิจ ภายใต้แผนปฏิรูปของชาห์ ในชื่อ “การปฏิวัติสีขาว” (White Revolution ค.ศ.1964-1979) การปฏิวัติไปสู่ความทันสมัยนี้ให้โอกาสพิเศษสำหรับชุมชนชาวยิวในอิหร่าน

ในวันที่มีการปฏิวัติอิสลามปี 1978 (พ.ศ. 2521) ชุมชนชาวยิวในอิหร่านมีจำนวนประมาณ 80,000 คน โดยประชากร 60,000 คนอาศัยอยู่ในกรุงเตหะรานเมืองหลวง ถึงแม้ชาวยิวจะมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของอิหร่านที่มีจำนวน 35 ล้านคน-ในขณะนั้น- แต่สถานะทางด้านเศรษฐกิจ อาชีพการงาน และวัฒนธรรมของพวกเขาก็อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนใหญ่ของประชากรชาวยิวในอิหร่านเป็นชนชั้นกลางหรือชนชั้นบน มีโรงเรียนของชาวยิว องค์กรทางสังคมและวัฒนธรรม และเฉพาะในกรุงเตหะรานที่เดียวมีโบสถ์ยิวประมาณ 30 แห่ง

การปฏิวัติอิสลาม

เมื่อการต่อต้านชาห์ปะทุขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงปี 1977 สิ่งที่เคยเป็นความแข็งแกร่งของชุมชนชาวยิวได้เปลี่ยนเป็นจุดอ่อนสำคัญอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจาก : สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขา ความสัมพันธ์กับชาห์และนโยบายของเขา และความสัมพันธ์กับอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา

แนวคิดเกลียดชังต่อต้านชาวยิวรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเตหะรานมีการเผยแพร่ใบปลิวแผ่นพับขู่ว่าจะแก้แค้นชาวยิวที่ปล้นทรัพย์สมบัติของชาวอิหร่าน สโลแกน “ชาวยิวจงพินาศ” ถูกเขียนบนกำแพงโบสถ์และสถาบันของชาวยิว ชาวมุสลิมในอิหร่านเริ่มรังเกียจเพื่อนบ้านชาวยิวของพวกเขาซึ่งตอนนี้กำลังประสบกับความไม่มั่นคงและตัดสินใจที่จะยุติธุรกิจกิจการของพวกเขาเพราะต้องเผชิญการตอบสนองที่ไม่เป็นมิตร

ในระหว่างการปฏิวัตินั้น คลื่นแห่งการต่อต้านอิสราเอลแผ่ขยายไปทั่วอิหร่านอันส่งผลกระทบต่อชุมชนชาวยิว มีการยึดทรัพย์สินของภาคเอกชนกันขนานใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ชาวยิวที่ร่ำรวยหลายพันคนพากันหนีไปยังสหรัฐฯ หรืออิสราเอล

แต่ในเวลาเดียวกัน ชาวยิวก็มองโลกในแง่ดีจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เมื่อ “อายะตุลเลาะห์ โคมัยนี” -นักการศาสนาอาวุโสมุสลิมชีอะห์และผู้นำสูงสุดของประเทศในอนาคต- ได้กลับมายังอิหร่านเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1979 (พ.ศ. 2522) ชาวยิว 5,000 คนซึ่งนำโดย “เยดิเดีย โชเฟต” (Yedidia Shofet) หัวหน้าแรบไบอิหร่าน (พระยิว) เป็นหนึ่งในกลุ่มประชาชนที่ได้ไปต้อนรับเขา บางคนได้ถือภาพของโคมัยนี และส่งสัญญาณประกาศว่า “ชาวยิวและชาวมุสลิมเป็นพี่น้องกัน”

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1979 (พ.ศ. 2522) ห้าวันหลังจากการประหารชีวิตหัวหน้าชุมชนชาวยิว “ฮาบิบ เอลเกียน” (Habib Elghanian) ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับและนักกิจกรรมของไซออนิสต์ ผู้แทนของผู้นำชาวยิวได้เดินทางไปพบกับโคโมนีที่เมืองกุม โคมัยนีได้บรรเทาความหวาดกลัวของพวกเขาด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ :

“เราแยกแยะระหว่างชุมชนชาวยิวและไซออนิสต์ และเรารู้ว่านี่เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน เราต่อต้านไซออนิสต์ เพราะพวกเขาไม่ใช่ชาวยิว แต่เป็นนักการเมือง … แต่สำหรับชุมชนชาวยิวและส่วนที่เหลือของชุมชน-ชนส่วนน้อย-ต่างๆ ในอิหร่าน พวกเขาเป็นสมาชิกของประเทศนี้ อิสลามจะปฏิบัติต่อพวกเขาในลักษณะเดียวกับที่ทำกับชนชั้นอื่นๆ ของสังคม (วิทยุเตหะราน 15 พ. ค. 1979)

แน่แท้ว่า นับตั้งแต่การจัดตั้งสาธารณรัฐอิสลามและการประกาศให้ “อิสลาม” เป็นศาสนาของชาติที่ครอบคลุมทุกอย่างในปี 1979 ระบอบการปกครองได้แยกแยะอย่างเป็นทางการระหว่างชาวยิวของประเทศอิหร่านซึ่งถือว่าเป็นพลเมืองที่ซื่อสัตย์ และชาวยิวอื่น ๆ เช่น อิสราเอล, ไซออนิสต์ และชาวยิวทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลไม่ปิดบังความเป็นปฏิปักษ์ของตน กิจกรรมของไซออนิสต์เป็นความผิดทางอาญา โดยมีบทลงโทษที่รุนแรง

เรื่องนี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงภายในกิจการของชาวยิว ในปลายเดือนมีนาคมปี 1978 คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นปัญญาชนชาวยิวอิหร่านหัวก้าวหน้าได้ขึ้นมาแทนที่ในสภายิวเก่า ที่ชื่อ “Anjumān-i Kalīmīan” (คณะกรรมการชาวยิว) โดยมีการก่อตั้งกลุ่มต่อต้านไซอนนิสต์ ชื่อ “Jāme-yi Rowshanfikrān-i Yahūd-i Irān” (องค์การปัญญาชนชาวยิวอิหร่าน) ซึ่งได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการปฏิวัติอิสลาม การฟื้นฟูทางศาสนาและวัฒนธรรม และการคุ้มครองชุมชน นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์การนี้ได้พยายามที่จะปกปักรักษาชุมชนมิให้ล่มสลาย

ออกจากอิหร่าน

การปฏิวัติก่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ชาวอิหร่านชาวยิว สมาชิกชุมชนประมาณสองในสามได้เดินทางออกจากประเทศ ตามการคาดการณ์ชาวยิวอิหร่านจำนวน 30,000-40,000 คนอพยพไปยังสหรัฐอเมริกา 20,000 คนเดินทางไปอิสราเอล และ 10,000 คนไปยังยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสวิสเซอร์แลนด์ โดยชาวอิหร่านที่เดินทางมายังสหรัฐฯ ประมาณ 25,000 คนอาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนีย (20,000 คนอยู่ในลอสแอนเจลิส) และ 8,000 คนอาศัยอยู่ในนิวยอร์ก วันนี้จำนวนชาวยิวที่อาศัยอยู่ในอิหร่านอยู่ที่ประมาณ 25,000 ถึง 30,000 คน

ชาวยิวที่ต้องการอพยพในช่วงทศวรรษแรกของสาธารณรัฐอิสลามประสบกับปัญหามากมาย เนื่องจากสำนักงานรัฐบาลพิเศษที่รับผิดชอบในการออกหนังสือเดินทางแก่ชาวยิวได้ปฏิเสธผู้สมัครจำนวนมาก ชาวยิวหลายคนหนีผ่านปากีสถานหรือตุรกี ผู้อพยพเหล่านี้มักจะทิ้งทรัพย์สินส่วนใหญ่ไว้เบื้องหลังภายใต้สมมติฐานว่าญาติของตนจะเป็นผู้ช่วยดูแล แต่ถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็ยากที่จะส่งเงินไปต่างประเทศ

ชีวิตชาวยิวในอิหร่าน

ในหลายๆ แง่มุม การปฏิวัตินี้ก็เป็นการปฏิวัติชีวิตของชาวยิวเปอร์เซียด้วยเช่นกัน ผู้นำคนใหม่ของอิหร่านพยายามที่จะสร้างประเทศที่ถอดแบบจากสังคมอิสลามในอุดมคติ มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าโมเดลนี้ย่อมจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของชนกลุ่มน้อยทางศาสนา

ในขณะที่ทัศนคติของศาสนาอิสลามต่อศาสนาอื่น ๆ ที่เป็น “เอกเทวนิยม” (monotheistic) ในทางหลักการนั้น “ใจกว้าง” พอทำเนา แต่ในงานเขียนและการกล่าวสุนทรพจน์ของอายะตุลเลาะห์โคมัยนีและบุคคลใกล้ชิดกับเขานั้นเต็มไปด้วยการติเตียนความเชื่อของชาวยิว ซึ่งแตกต่างจากระบอบการปกครองของปาห์ลาวีที่วางความเป็นชาตินิยมให้เป็นลำดับความสำคัญสูงสุดและเห็นว่าชาวยิวเท่าเทียมกัน ส่วนหลักคำสอนศาสนาอิสลามของโคมัยนี บังคับให้ชาวยิวเข้าสู่ตำแหน่งต่ำต้อยเมื่อเทียบกับชาวมุสลิมส่วนใหญ่

แม้ว่า เขาจะสนับสนุนให้มีการแยกแยะระหว่างยิวและไซออนิสต์ แต่หลักคำสอนของอายะตุลเลาะห์โคมัยนีก็มีองค์ประกอบต่อต้านยิว รวมทั้งหลักคำสอนของชีอะห์เกี่ยวกับความไม่บริสุทธิ์ (นะยิส) ของผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม ตามศาสนบัญญัติแบบดั้งเดิม ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาเป็นองค์ประกอบที่ไม่บริสุทธิ์ซึ่งก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อผู้ชาวชีอะห์ที่พวกเขาสัมผัส ในอดีตนะยิสมีอิทธิพลอย่างสูงที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ประจำวันระหว่างชาวยิวและชาวชีอะห์ ในงานเขียนของเขา โคมัยนียังโจมตีชาวยิวและกล่าวหาว่าพวกเขาบิดเบือนศาสนาอิสลาม ตีความอัลกุรอานผิดๆ และยึดครองเศรษฐกิจของอิหร่าน

กระนั้น ชนกลุ่มน้อยประกอบด้วย ชาวโซโรอัสเตอร์ ชาวยิว และชาวคริสเตียนอิหร่าน ก็ได้ถูกรับรองอย่างเป็นทางการอันมีรากฐานจากรัฐธรรมนูญของอิหร่าน ซึ่งตามกฎหมายมีอิสระที่จะปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของตน ทั้งในเรื่องส่วนตัวและการศึกษาทางศาสนา ภายใต้กรอบนี้ชนกลุ่มน้อยชาวยิวได้รับการรับรองให้มีตัวแทนถาวรในรัฐสภาอิหร่าน รัฐธรรมนูญยังบอกด้วยว่ารัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามและชาวมุสลิมอิหร่านจะต้องปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมตามหลักจริยธรรมและยุติธรรม

ในทางปฏิบัติ เสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวยิวไม่ได้ถูกจำกัดไม่ว่าในทางใด และจนถึงวันนี้วันหยุดของชาวยิวได้ถูกเผยแพร่และรายงานในสื่อ ในแต่ละปีสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นได้ออกอากาศเกี่ยวกับเทศกาลวันหยุดของชาวยิว โดยเฉพาะ “เทศกาลปัสกา” (Passover) สื่อของรัฐได้เผยแพร่คำให้พรของหัวหน้าชุมชนชาวยิวและสมาชิกรัฐสภาของพวกเขา ชุมชนยังคงบริหารโรงเรียน โบสถ์ และสถาบันอื่นๆ รวมทั้งโรงพยาบาลยิว เนอร์สซิ่งโฮม สุสาน และห้องสมุด

ทุกวันนี้ ชาวยิวมีส่วนร่วมในชีวิตทางการเมืองและการปกครองของอิหร่าน ชาวยิวจำนวนมากเข้าร่วมกลุ่มชาวอิหร่านในการประท้วงรัฐอิสราเอลในวันอัลกุดส์ (Qods Day) และในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่าน (1980-1988) ชาวยิวอิหร่านได้สนับสนุนการต่อสู้โดยการบริจาครถพยาบาลและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมทั้งการไปเยี่ยมโรงพยาบาล เยาวชนชาวยิวบางคนได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้และได้รับบาดเจ็บในการรบ

อย่างไรก็ตาม ในปี 1999 ชาวยิว 13 คนจากเมืองชีราซ (Shiraz) และอิสฟาฮาน (Isfahan) ถูกจับในข้อหาสอดแนมให้อิสราเอล และถูกตัดสินลงโทษในปี 2000 (พศ.2543) ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2003 (พ.ศ.2546) พวกเขาได้รับการปล่อยตัวออกไปทั้งหมด กรณีการจับกุมนี้ได้ก่อให้เกิดความกลัวในใจกลางชุมชนชาวยิวเอาไว้ พร้อมกับถามเรื่องการต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitism)

แม้จะมีปัญหาเหล่านี้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ของชาวยิวที่เหลืออยู่ของอิหร่านก็รู้สึกผูกพันกับบ้านเกิดของพวกเขาและยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น ในการชุมนุมของชาวยิวอิหร่านในเมืองชีราซ ช่วงปลายปี 2002 (พ. ศ. 2545) หลายเดือนหลังจากที่มีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังบางส่วน หนึ่งในผู้นำของชุมชนชาวยิวได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อไปนี้ :

“เราไม่ใช่คนที่เคยถูกคุมขังเหมือนก่อน เรามีชีวิต ร่าเริง กระตือรือร้น และรักอิหร่าน เราอาศัยอยู่ในอิหร่านเป็นเวลา 2,700 ปีมาแล้ว … และอิหร่านเป็นประเทศแม่ของเรา เนื้อแท้ของเราเป็นชาวอิหร่านลำดับแรก ถัดมาจึงเป็นชาวยิว เราภูมิใจที่ได้เป็นชาวอิหร่าน อิหร่านจงเจริญ ชาวยิวอิหร่านจงเจริญ” (จากภาพยนตร์เรื่อง “Jews of Iran” กำกับโดย Ramin Farahani)

 

….

เขียนโดย ORLY R. RAHIMIYAN
แปล/เรียบเรียงจาก https://www.myjewishlearning.com

** มุมมองในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียน ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับจุดยืนของกองบรรณาธิการ