“นักวิชาการ” โต้ “ธุรกิจน้ำเมา” ลั่นทำประชากรโลกดับปีละ 3 ล้านคน

“นักวิชาการ” โต้ “ธุรกิจน้ำเมา” อ้าง “กม.คุมเครื่องดื่มแอลกอล์” จำกัดเสรีภาพ รังแกปชช. ซัดผิดหลักการกม. ลั่นทำประชากรโลกดับปีละ 3 ล้านคน คนโผล่ไม่พ้นความจน ชี้เดินหน้าแก้กม.มีส่วนร่วม เท่าทันกลยุทธ์ตลาดสมัยใหม่

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ขณะนี้การในการแก้ไข พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นั้น เบื้องต้นมีการเสนอร่างมาใหม่อย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแก้ไขจากกระทรวงสาธารณสุข ฉบับจากฝ่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสุรา ซึ่งถูกจัดให้เป็นร่างฉบับประชาชน และร่างของภาคประชาสังคมที่อยู่ระหว่างการระดมรายชื่อผู้สนับสนุน และอาจจะมีร่างอื่นๆ เพิ่มเติมอีก แต่การผลักดันเป็นไปได้ยากเนื่องจากเกิดการระบาดของโรคโควิด –19 และการเมืองผันผวนและมีกลุ่มผู้ประกอบการพยายามสื่อสารให้เข้าใจในทำนองว่าการควบคุมสุราคือการจำกัดเสรีภาพ, กฎหมายคือเครื่องมือรีดไถผู้ประกอบการ, เป็นเผด็จการ, การห้ามขายห้ามนั่งดื่มคือการรังแกประชาชน เป็นต้น ถือเป็นคำพูดที่ชักนำให้เกิดอารมณ์ลบร่วมของสังคม ที่ไปไกลเกินกว่าคุณค่าและแก่นแท้ของกฎหมาย ที่ต้องการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในสังคม

ทั้งนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยร่วมของการเสียชีวิตทั้งจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคทางจิตเวช จากอุบัติเหตุ และการกลุ่มโรคติดเชื้อ ซึ่งข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่าดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของความสูญเสียทางสุขภาพอันดับหนึ่งของประชากรในวัย 15-49 ปี ทั้งในระดับโลกและประเทศไทย โดยทั่วโลกเสียชีวิตกว่า 3 ล้านคน และคนไทยประมาณ 2 หมื่นคนและยังทำให้เกิดความพิการ ก่อปัญหาสังคมอาชญากรรม ความยากจน การใช้ความรุนแรง ถือเป็นภัยเหล้ามือสองคนที่ไม่ดื่มก็ได้รับผลกระทบไปด้วยจากการอุบัติเหตุ ความรุนแรง และขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น ผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นจากความยากจนได้ยากมากขึ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางสังคมสูงกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สังคมได้รับจากการเสียภาษีของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายเท่า คนดื่มแบกรับปัญหาไว้เพียงส่วนน้อย แต่สังคมต้องแบกรับภาระส่วนใหญ่เช่น การที่รัฐจัดสวัสดิการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมนั้นก็มาจากภาษีของประชาชนโดยรวม

“เพราะฉะนั้นจากผลกระทบ และความสูญเสียเหล่านี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ใช่สินค้าธรรมดา สังจึงมีความชอบธรรมในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ให้มีการโฆษณา ส่งเสริมการขาย การบริโภคได้อย่างเสรี หยุดใช้คำว่าดื่มอย่างรับผิดชอบ เพราะองค์การอนามัยโลกและข้อมูลวิชาการยืนยันว่า ไม่มีการดื่มที่ปลอดภัย การดื่มในปริมาณน้อยย่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่าการดื่มในปริมาณมาก แต่ไม่ว่าอย่างไรล้วนมีอันตายและปัญหาสุขภาพไม่ต่างกัน” นพ.ทักษพล กล่าว และว่า สิทธิ เสรีภาพ ย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อตนเอง และความรับผิดชอบต่อสังคม การกล่าวอ้างสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ส่วนบุคคลโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ”

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกได้ทำการทบทวนและสรุปว่ามาตรการที่มีประสิทธิผลสูง คุ้มค่า สามารถปฏิบัติได้จริงในประเทศกำลังพัฒนา เรียกว่า “SAFER package” ประกอบด้วย 1.มาตรการทางภาษีและราคา2. มาตรการลดการเข้าถึงหรือการควบคุมการขาย3.มาตรการห้ามโฆษณาอย่างครอบคลุม4.มาตรการบังคับใช้กฎหมายดื่มไม่ขับอย่างจริงจัง และ 5. การบำบัดรักษาผู้มีความเสี่ยงแต่เนิ่นขณะที่ ธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ก็มีท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้เช่นกัน ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาศาล ดังนั้นประเทศไม่ควรส่งเสริมตรงนี้เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการปกป้องทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งหากมาตรการที่ดำเนินการมีความเข้มแข็ง จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อสังคม

“พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เป็นกลไกหลักในการบรรลุมาตรการเหล่านี้ แต่ต้องมีการปรับแก้ให้ทันต่อกลยุทธ์การตลาดสมัยใหม่ และบังคับใช้อย่างจริงจัง ขณะที่ระบบใบอนุญาตจำหน่ายแอลกอฮอล์ ตาม พ.ร.บ. สรรพสามิตที่พัฒนาให้เหมาะสมกับสังคมไทยในปัจจุบันด้วย รวมถึงเปิดให้มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย รวมถึงผู้แทนอุตสาหกรรมด้วย จะได้มองเห็นปัญหาร่วมกันอย่างรอบด้าน หากมีจุดอ่อนมีช่องว่างตรงไหน ก็เป็นหน้าที่ร่วมกันของสังคมไทยในการพัฒนาให้เข้มแข็งบนพื้นฐานเหตุผลและคุณค่าแก่นแท้ของการออกกฎหมาย”ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศกล่าวย้ำ