การเมืองโลกในสงครามกลางเมืองอิรัก กับ “ความยุ่งเหยิงที่สรรค์สร้าง” (Constructive Chaos)

“ประชาธิปไตย จะต้องบรรลุผลสำเร็จในอิรัก…ความสำเร็จนี้จะส่งสาส์นจากดามัสกัสถึง เตหะราน ว่า เสรีภาพเป็นโชคชะตาของทุกๆ ชาติ …หลังซัดดัม ฮุสเซ็น ถูกโค่น  อิรักจะมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จะฟื้นตัวเร็วยิ่งกว่าเยอรมัน และญี่ปุ่นหลังสงครามโลกเสียอีก (จอร์จ ดับเบิลยู บุช, ตุลาคม 2003)

จากสถานการณ์การต่อสู้ ในอิรักนับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากภาพของความรุนแรงแล้วยังแฝงความซับซ้อนและคำถามที่ชวนสงสัยอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่มาที่ไป  ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายมุสลิมสุนนี่-ชีอะห์ เหตุใดกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย หรือ ISIS ถึงได้มีศักยภาพบดขยี้กองทัพอิรักได้ขนาดนี้ และแน่นอนอนาคตของอิรักและภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไรท่ามกลางการต่อสู้ที่ถูก เชื่องโยงกับอัตลักษณ์ทางสำนักคิด

ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ ของกลุ่ม ISIS กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ด้วยความตกตะลึงถึงศักยภาพในการรุกคืบแบบรุกฆาต ยึดครองเมืองสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือและอีกหลายเมืองทางตะวันตกที่มีพรมแดนติดกับซีเรียในระยะ เวลาเพียง 2 สัปดาห์ รวมถึงเมืองสำคัญๆอย่าง โมซุล  (Mosul) เมืองใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอิรัก (ประชากร 1.5- 2 ล้านคน)  เมืองฟาลลูจาห์ที่ใหญ่อันดับ 7 เมืองไทกริตบ้านเกิดของซัดดัม ฮุสเซ็น เมืองตัล อาฟาร์ฯลฯ  เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถยึดโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ของประเทศไว้ได้ และแน่นอนมีเป้าหมายใหญ่คือการยึดแบกแดด ซึ่งขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้กองกำลังของ ISIS ได้ประชิดแบกแดดแล้ว และกองกำลังอิรักโดยลำพังดูท่าที่จะต้านทานไม่ไหวแล้ว ทหารอิรักจำนวนไม่น้อยแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม อาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากถูก ISIS ยึดครอง จนรัฐบาลอิรักต้องดึงความช่วยเหลือจากพันธมิตรทั่วสารทิศ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี หลายประเทศแย่งกันให้ความช่วยเหลือและปกป้องอิรักเหมือนไข่ในหิน สหรัฐฯ ก็ส่งทหารเข้ามาหลายร้อยนายเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษากองกำลังอิรัก แต่ก็มีรายงานออกมาแล้วว่ามีโดรนของสหรัฐฯบินอยู่แถวๆ อิรัก นอกจากนี้ยังเตรียมจะสนับสนุนเงินช่วยเหลืออิรักด้วย อิหร่านก็ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลมาลิกี และมีกระแสข่าวว่ามีการส่งกำลังเข้าไปช่วยในแบกแดดเช่นกัน แต่ที่ชัดเจนคือซีเรียที่ส่งเครื่องบินรบเข้าไปช่วยโจมตีฝ่ายต่อต้านในเมือง อันบาร์แล้ว ทำให้มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แม้แต่อิสราเอลยังเสนอจะเข้ามาช่วย

ที่มาและเป้าหมายกลุ่ม ISIS

กลุ่มรัฐอิสลามแห่ง อิรักและซีเรีย หรือ Islamic State of Iraq and Syria มีชื่อเรียกที่หลากหลาย เช่น “กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนท์”  (ISIL) “รัฐอิสลามแห่งอิรักและมหาซีเรีย” หรือ “รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม” หรือ “รัฐอิสลามแห่งอิรักและตะวันออก”   โดยมีเป้าหมายคือตั้งรัฐอิสลามที่ปกครองด้วยกฎหมายอิสลามในอิรัก ซีเรีย และดินแดนที่เรียกว่าเลแวนท์ ซึ่งครอบคลุมถึงเลบานอน อิสราเอล ปาเลสไตน์ จอร์แดน ไซปรัสและทางใต้ของตุรกี

กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นมา ในปี 2004 โดยใช้ชื่อว่า Jama’at al-Tawhid wal-Jihad  หรือ  องค์กรศรัทธาเอกานุภาพและการญิฮาด ภายใต้การนำของอาบู มูซาบ อัล ซาร์กาวี ชาวอาหรับเชื้อสายจอร์แดน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการยึดครองอิรักของสหรัฐฯ ซาร์กาวีเคยเข้าร่วมกับกลุ่มอันซาร์ อัล อิสลาม หรือกลุ่มสหายร่วมรบแห่งอิสลาม ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวเคิร์ดในอิรัก  ในปลายปี 2004 ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอัลกออิดะห์ เปลี่ยนชื่อเป็น “Tanzim Qaidat al-Jihad fi Bilad al-Rafidayn, (The Organization of Jihad’s Base in the Country of the Two Rivers: TQJBR) หรือองค์กรญิฮาดในประเทศแห่งสองแม่น้ำ  และกลายมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Al-Qaeda in Iraq แม้ว่าทางกลุ่มจะไม่เรียกกลุ่มตัวเองแบบนี้ก็ตาม

ต้นปี 2006 กลุ่ม TQJBR ได้เข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธอื่นๆในอิรักภายใต้ร่มใหญ่ขององค์กรที่ใช้ชื่อ ร่วมกันว่า “สภาที่ปรึกษามูญาฮิดีน” (Mujahideen Shura Council) ในช่วงนี้เองเป็นช่วงที่กลุ่มของซาร์กาวีมีการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างหนักโดย พุ่งเป้าโจมตีไม่เฉพาะรัฐบาลอิรักแต่รวมไปถึงชีอะห์ที่สนับสนุนรัฐบาลมาลิ กีด้วย ทำให้บิน ลาเดน และ อัยมาน อัล ซาวาฮีรี ไม่สบายใจและไม่เห็นด้วยกับแนวทางของซาร์กาวีที่จะเปิดศึกระหว่างสุน นี่-ชีอะห์ โดยขอให้ยุติเสีย แต่ซาร์กาวีกลับไม่เชื่อฟัง

หลังจากซาร์กาวีเสีย ชีวิตในปลายปี 2006 จากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยมีอาบู อัยยูบ อัล มัสรี ผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิดชาวอียิปต์ขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่ม มัสรี สามารถดึงกลุ่มติดอาวุธอีกหลายกลุ่มเข้าร่วม จนกระทั่งได้ประกาศการรวมตัวกันภายใต้ชื่อใหม่ว่ากลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรัก ( Islamic State of Iraq) ต่อสู้ในอิรักมาต่อเนื่อง จนกระทั่งในในเดือนเมษายน 2010 มัสรี ก็ถูกสังหารในปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯและอิรัก จากนั้น อบูบักร อัล บักดาดี ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่ 3 จนถึงปัจจุบัน

ในเดือนเมษายน 2013 ภายใต้การนำของบักดาดี ISI ได้ขยายแนวรบเข้าไปในซีเรีย ร่วมกับฝ่ายกองกำลังฝ่ายต่อต้านอื่นๆ ในซีเรียโดยหวังโค่นอำนาจ ปธน.อัสซาด ด้วยเป้าหมายเชิงพื้นที่ที่กว้างขึ้นทำให้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งที่ ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน คือ “Islamic State in Iraq and al-Sham” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 กลุ่ม ISIS ได้ตัดขาดความสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งกับกลุ่มอัล นุสรา ฟรอนท์ (Al Nusra Front) ในซีเรียที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมกันต่อสู้กับอัสซาด ทั้งนี้ เพราะบักดาดี ประกาศว่ากลุ่มอัลนุสรา ได้รวมเข้ากับ ISISแล้ว  แต่ผู้นำนุสรา กลับปฏิเสธและไม่พอใจบักดาดีมาก  แม้จะมีสมาชิกบางส่วนเข้าร่วมกับ ISIS ก็ตาม ในขณะที่ซาวาฮีรีเองพยายามประสานและขอให้บักดาดีหยุดความพยายามที่จะรวมนุส รา เข้ากับ ISIS แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงประกาศตัดสัมพันธ์กับ ISIS และบักดาดี

จนมาถึงปฏิบัติการ สายฟ้าแลบอย่างที่เห็นในปัจจุบันซึ่งมีรายงานที่ค่อนข้างยืนยันแล้วว่ากลุ่ม อัลนุสราในซีเรียและอัลกออิดะห์ ได้กลับมาจับมือกับกลุ่ม ISIS แล้ว

สงครามกลางเมืองเพื่อวาดแผนที่ใหม่ กับแผนการเก่า “ความยุ่งเหยิงที่สรรค์สร้าง”

สื่อกระแสหลักมักนำ เสนอถึงสถานการณ์ในอิรักขณะนี้ว่าเป็นผลมาจากการถอนทหารสหรัฐฯ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2011 และมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด โดยไม่ได้โยงกลับไปถึงความผิดพลาดเมื่อครั้นตัดสินใจรุกรานอิรักเมื่อปี 2003 เลย

ความไร้เสถียรภาพของ อิรักวันนี้ อาจทำให้หลายคนมองว่าเป็น “ความล้มเหลว ในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง” หรืออาจจะมองว่าเป็นนโยบาย “โง่ๆ” แต่ในข้อเขียนของ จูลี เลเวสก์ (Julie Levesque) นักข่าวและนักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยโลกาภิวัตน์ ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “มันไม่ใช่ความล้มเหลวของนโยบายและพวกเขาก็ไม่ได้โง่…. แต่พวกเขาต้องการทำให้คนเข้าใจอย่างนั้นเพราะเขาคิดว่าคนอื่นนั้นโง่”

Julie มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นการวางแผนมาก่อนล่วงหน้าหลายปี  สื่อตะวันตกพยายามจะเบนความจริงไม่ให้โลกรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น โดยพยายามทำให้เกิดกระแสความเข้าใจในเหตุการณ์ต่างๆ ที่สอดรับกับผลประโยชน์ของตนตลอดมา กรณีของอิรักก็เช่นกันที่คนจำนวนมากถูกทำให้เห็นว่าสิ่งทีเกิดขึ้นในอิรัก คือ สงครามกลางเมือง แต่ที่ลึกลงไปกว่านั้นที่ไม่เปิดเผยคือสิ่งที่ Julie เรียกว่ากระบวนการ “constructive chaos” หรือ “ความยุ่งเหยิงที่สรรค์สร้าง” เดินเกม โดยตะวันตก เป็นกระบวนการทำให้อิรักไร้เสถียรภาพและแตกออกเป็นเสี่ยงๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทางทหารในตะวันออกกลางของสหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล โดยแผนการนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพ ความยุ่งเหยิง ความรุนแรง ที่แผ่ขยายจากเลบานอน ปาเลสไตน์ และซีเรียไปถึงอิรัก อ่าวเปอร์เซีย อิหร่าน และชายแดนอัฟกานิสถาน

เธอมองว่าแผนการนี้ เป็นโครงการใหม่ของสหรัฐและอิสราเอล ที่หวังจะใช้เลบานอนเป็นจุดผลักดันให้เกิดการจัดสรรแบ่งเขตพรมแดนใน ตะวันออกกลางกันใหม่ โดยอาศัยกลุ่มกองกำลังต่างๆ สร้างความยุ่งเหยิง เป็นการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งให้แผ่คลุมทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งจะเอื้อให้สหรัฐฯ อังกฤษ และอิสราเอล สามารถวาดแผนที่ตะวันออกกลางใหม่ ตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอ์เรเนียน จากเลบานอนและซีเรียไปจนถึงอนาโตเลีย อาระเบีย อ่าวเปอร์เซีย รวมถึงที่ราบสูงอิหร่าน  Julie มองว่าสงครามที่ขยายวงกว้างออกไปเช่นนี้ ในท้ายที่สุดอาจส่งผลให้มีการกำหนดพรมแดนใหม่ และแน่นอนทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์สำหรับสหรัฐฯ และอิสราเอล

Julie เชื่อว่ามีความพยายามอย่างเป็นระบบในการปลุกปั่นปัญหาความรุนแรงที่มีฐานมา จากความแตกต่างระหว่างสำนักคิดทางศาสนาและกลุ่มก้อนทางวัฒนธรรมใน ตะวันออกกลาง ยิ่งไปกว่านั้นหลายๆ รัฐบาลในตะวันออกกลางเช่นซาอุดิอาระเบีย ก็มีท่าที่สอดรับกับสหรัฐฯที่กระตุ้นให้เกิดการแบ่งแยกในระดับประชาชนใน ตะวันออกกลาง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือทำให้ขบวนการ ต่อต้านการยึดครองของต่างชาติอ่อนกำลังลง ตามเป็นยุทธศาสตร์ “แบ่งแยกแล้วพิชิต” เพราะสงครามกลางเมืองคือวิธีการที่ดีที่สุดในการแยกประเทศหนึ่งเป็นเสี่ยงๆ เช่น กรณีของแหลมบอลข่าน และการใช้ความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อย ทำลายและแบ่งแยกยูโกสลาเวียออกเป็นเสี่ยงๆ

Julie ชี้ให้เห็นว่าวันนี้อิรักกำลังถูกทำให้แตกตัวเหมือนบอลข่าน ด้วยกลยุทธ์ถนัดของจักรวรรดินิยมที่ใช้กองกำลังติดอาวุธเป็นเครื่องมือ จึงไม่แปลกที่การต่อสู้ของกลุ่มเหล่านี้บ้างถูกเรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหว ของฝ่ายต่อต้านที่สนับสนุนประชาธิปไตย บ้างถูกเรียกว่าผู้ก่อการร้าย เพราะว่ารัฐบาลตะวันตกมักนิยามกลุ่มเหล่านี้โดยที่มองว่า “เขาต่อสู้กับใคร” มากกว่าดูว่า “เขาเป็นใคร” เช่นกรณีการต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านในซีเรียถูกเรียกว่า เป็นนักรบเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แต่ในอิรักถูกมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ต่อสู้กับรัฐบาลประชาธิปไตยที่มา จากการเลือกตั้ง  เช่นเดียวกับกรณีมูญาฮิดีนและตอลิบันที่ขับไล่โซเวียตในอัฟกานิสถานในทศวรรษ 1980s ครั้งหนึ่งเคยได้รับการสนับสนุน และยกย่องจากสหรัฐฯ แต่ตอนนี้ถูกเรียกว่าผู้ก่อการร้าย

เธอมองว่านับตั้งแต่ ชัยชนะในสงครามโซเวียตอัฟกานิสถานเรื่อยมา กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ภายใต้ร่มของอัลกออิดะห์มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของสหรัฐฯและนาโต้ ในฐานตัวแสดงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งมากมาย ในซีเรีย ทั้งกลุ่มอัลนุสรา ฟรอนท์ ที่ต่อสู้กับรัฐบาลอัสซาด และ ISIS ต่างก็เป็นเหมือนพันธมิตรทางทหารของตะวันตก ที่ค่อยสนับสนุนและควบคุมการคัดเลือกนักรบ ตลอดจนการฝึกซ้อมในลักษณะกองกำลังกึงทหาร

แน่นอนว่ากลุ่มเหล่า นี้ย่อมแข็งแกร่งขึ้นมา แต่ประเด็นคือในกรณีของอิรัก สหรัฐฯ จะประเมินไม่ได้เลยหรือ ว่า ISIS ที่มีฐานในอิรักและใกล้ชิดกับกลุ่มอัลนุสรา จะไม่เป็นภัยคุกคามอิรักและรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนูรี อัลมาลิกี ด้วยเหตุนี้ Julie จึงเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ISIS ที่ต้องการสถาปนารัฐอิสลามนั้นสอดรับกับเป้าหมายของสหรัฐที่ต้องการวาด แผนที่อิรักและซีเรียใหม่ โดยฉีกย่อยออกเป็น 3 เขตปกครอง กล่าวคือ รัฐอิสลามสุนนี่ สาธารณรัฐอาหรับชีอะห์ และสาธารณรัฐเคิร์ดิสถาน โดยฉากที่จะเกิดขึ้นคือการสนับสนุนทางการเงินและติดอาวุธให้ทั้งสองฝ่าย จากนั้นก็ “let them fight” ให้เกิดสงครามกลางเมืองในเกมที่ควบคุมโดยสหรัฐฯ และนาโต้ ในขณะที่ทั่วโลกถูกทำให้เชื่อหรือเห็นในมิติเดียวว่านี้เป็นสงครามกลางเมือง ของการปะทะกันระหว่างสุนนี่-ชีอะห์ ที่อาจขยายไปทั่วภูมิภาค

นอกจากระบอบ ประชาธิปไตยแล้ว การขยายฐานอำนาจของรัฐบาลชีอะห์ในตะวันออกกลางถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ สร้างความกังวลให้กับระบอบกษัตริย์ซาอุฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่น่าสนใจคือทั้งสองปัจจัยนี้จะพัฒนาไปพร้อมๆ กันในอิรักได้หรือ ภายใต้การสนับสนุนของมหามิตรอย่างสหรัฐฯ? ด้วยบริบทเช่นนี้ จึงเป็นเงื่อนที่กำหนดท่าทีและนโยบายต่างประเทศของซาอุดีฯ ในตะวันออกกลางให้อิงอยู่กับสหรัฐฯ บนหลักกาในการต่อต้านการขยายอิทธิพลของอิหร่านและพันธมิตรร่วมกัน รวมถึงให้การสนับสนุนกลุ่มต่างๆที่ต่อสู้กับรัฐบาลชีอะห์ โดยเฉพาะในซีเรียอย่างที่เห็น

ที่ผ่านมาซาอุฯได้ ตำหนิรัฐบาลมาลิกีที่ปล่อยให้อิหร่านเข้ามามีอิทธิพลในอิรักมากเกินไป ซึ่งสะท้อนชัดว่ารัฐบาลซาอุฯ มีความกังวลอย่างมากต่อการขยายอิทธิพลของอิหร่านและชีอะห์ในตะวันออกกลาง หรือมองย้อนกลับไปก็เคยคัดค้านการถอนทหารสหรัฐฯ ในอิรักอย่างแข็งขัน หรือกรณีผิดหวังที่สหรัฐฯไม่ใช้กำลังเข้าโค่นรัฐบาลอัสซาด ทั้งนี้ เพราะการโค่นระบอบอัสซาดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในซีเรีย ถือเป็นเป้าหมายที่ซาอุฯ ให้ความสำคัญมากกว่ากรณีการขยายอิทธิพลของชีอะห์ในอิรักเสียอีก เพราะมองว่าถ้าโค่นอัสซาดในซีเรียได้ก็จะเป็นการตัดกำลังรัฐบาลชีอะห์ของ อิรักในทางอ้อม และแน่นอนเป็นการลดทอนอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง ที่สำคัญคือการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านในซีเรีย โดยเฉพาะอัล นุสรา หรืออัลกออิดะห์ที่ผ่านมา ก็เสมือนการสนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านในอิรัก เพราะชัดเจนแล้วว่าทั้ง ISIS อัลนุสรา   อัลกออิดะห์ ที่เป็นสุนนี่กลับมาจับมือและร่วมกันต่อสู้แล้ว ในทำนองเดียวกับเครือรัฐบาลชีอะห์ อิรัก อิหร่าน และซีเรีย ทีต่างช่วยเหลือกันเต็มที่ ส่วนที่แปลกและหาดูยากคือ สหรัฐฯ ดูเหมือนจะ (จำเป็น) อยู่ฝั่งเดียวกับสิ่งที่ตนเองเรียกว่าเผด็จอัสซาด อิหร่านแกนแห่งความชั่วร้าย

อาจกล่าวได้ว่าทฤษฎี สงคราม กลางเมืองเพื่อวาดแผนที่ใหม่เป็นอีกแนววิเคราะห์ที่น่าสนใจ และถ้ามองตามกรอบนี้จะเห็นว่าตัวแสดงต่างๆกำลังขับเคลื่อนไปในแนวทาง เดียวกัน แต่ต่างกันที่เป้าหมาย นั่นคือการทำให้เกิดสงครามกลางเมืองตามเกม “ความยุ่งเหยิงที่สรรค์สร้าง”  ในยุทธ์ศาสตร์ที่ต่างกัน “สหรัฐฯใช้การแบ่งแยกแล้วพิชิต”  “ISIS เปิดแนวรบกับ สุนนี่- (รัฐบาล) ชีอะห์ทั้งในซีเรียและอิรักเพื่อก่อตั้งรัฐอิสลาม” “รัฐบาลอิรักใช้กำลังและพันธมิตรทางทหารทั้งในเครือข่ายชีอะห์และต่างชาติ สนับสนุนการรักษาฐานอำนาจเดิม”

ท้ายที่สุดบทสรุปอาจ เป็นไปได้ใน 3 แนวทางตามทฤษฎีเกมศูนย์  คือ 1) คงสภาพเดิม อิรัก-และเครือรัฐบาลชีอะห์สามารถรักษาฐานอำนาจและอิทธิพลของตนใน ตะวันออกกลาง 2) รัฐบาลมาลิกีถูกโค่นโดย ISIS และเปลี่ยนระบอบการปกครอง ในระยะยาวอาจรวมกับซีเรีย 3) อิรัก-ซีเรีย ถูกฉีกแผ่นดินออกเป็นสามส่วน รัฐอิสลามสุนนี่ สาธารณรัฐอาหรับชีอะห์ และสาธารณรัฐเคิร์ดิสถาน (เป็นไปได้สูง)

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความยุ่งเหยิงและสงครามกลางเมืองในฉากของความขัดแย้งสุนนี่-ชีอะห์กับ สงครามตัวแทนและอิทธิพลของสื่อกระแสหลัก สิ่งที่อันตรายที่สุด คือ ปัญหาความขัดแย้งและกระแสความเกลียดชังระหว่างสำนักคิดสุนนี่-ชีอะห์ อาจถูกกระพืออย่างเป็นระบบไปทั่วตะวันออกกลางและส่วนอื่นๆของโลก รวมทั้งไทย