อย่างที่ทราบกันดีว่าหลังจาก การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนในปีค.ศ.1978 การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของจีนนั้นมีความรวดเร็วมาก เมื่อบริเวณชายฝั่งทางด้านตะวันออกของจีนเริ่มมีความอิ่มตัว รัฐบาลเริ่มตระหนักนโยบายพัฒนาภาคตะวันตกของจีน โดยแบ่งแผนพัฒนาออกเป็นสามช่วงคือ
ช่วงที่หนึ่ง ปีค.ศ. 2001-2010 เป็นช่วงปรับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนิเวศวิทยา เป็นต้น ช่วงที่สอง ตั้งแต่ปีค.ศ. 2011-2030 เป็นช่วงยกระดับและเสริมศักยภาพให้มีความคงที่มากขึ้น มุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่มีความโด่ดเด่นและการเติบโตทางด้านตลาดรวมทั้ง เศรษฐกิจ เป็นต้น ช่วงที่สาม เป็นช่วงที่ก้าวสู่ความเป็นสากล ลดช่องว่างของคุณภาพชีวิตให้น้อยลง เนื่องด้วยมณฑลหนิงเซียะ เป็นมณฑลปกครองตัวเองของชาวหุยเพียงมณฑลเดียวของจีนและตั้งอยู่ทางภาคตะวัน ตกของจีน หลังจากที่นโยบายดังกล่าวดำเนินช่วงแรกผ่านไปแล้ว เราลองมาพิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นกับมหานครหยินชวน (Yinchuan) ของมณฑลหนิงเซียะ
เมืองหยินชวนเป็นมหานครของมณฑลหนิงเซียะ ตั้งอยู่ตรงกลางของที่ราบหนิงเซียะซึ่งอยู่ตอนบนของแม่น้ำฮวงโห สูงจากระดับน้ำทะเล 1,010-1,150 เมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 1,482 ตารางกิโลเมตร มีประชากรทั้งหมด 1,377,924 คน ประกอบอาชีพเกษตร 537,293 ราย คิดเป็น 38.99% ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรม เมืองหยินชวนมีชาวฮั่นอาศัยอยู่มากกว่าชาวหุยคิดเป็น 72.24% มีชาวหุย 26.16% และชนชาติอื่นๆ อีก 1.60% รายได้เฉลี่ยของเกษตรกร 2,932 หยวน ของบุคคลทั่วไป 6,845 หยวน
ก่อนอื่นเราลองพิจารณาการหลั่งไหลของประชากรชาวหุยสู่ เมืองหยินชวน ในปี ค.ศ.1990 เป็นมีชาวหุยที่อาศัยอยู่ในเมืองหยินชวนจำนวน 126,639 คน ในปี 2000 มีประชากรชาวหุยเพิ่มขึ้นเป็น 233,066 คน และในปี 2004 ประชากรของเมืองหยินชวนเพิ่มขึ้นเป็น 360,446 คน (ผลจากการสำรวจประชากรของเมืองหยินชวนปี 2004) จะเห็นได้ว่าระยะเวลาเพียง 4 ปี มีประชากรเพิ่มมากขึ้นถึง 127,380 คน ทว่าสัดส่วนของประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีมากถึง 54.25%
อนึ่งบุคคลที่พักอาศัยในเมืองหยินชวนชั่วคราวในเมือง หยินชวนมีจำนวนมากขึ้น (หมายถึงบุคคลที่มิได้ขึ้นทะเบียนราษฎร์กับสำนักทะเบียนท้องถิ่นของเมือง หยินชวน) ช่วงปี ค.ศ.1980 นั้นพบว่า มีบุคคลที่พักอาศัยในเมืองหยินชวนชั่วคราวนั้นมีจำนวนเพียง 1,000 คน ปี ค.ศ.1990 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็น 2,000 คน และการสำรวจในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2005 นั้นมีประชากรที่พักอาศัยในเมืองหยินชวนชั่วคราวนั้นมีประชากรทั้งหมด 147,770 คน ประกอบด้วยประชากรชาวหุยจำนวน 15,000 คน ขั้นตอนและกระบวนการปฏิรูปให้หยินชวนเป็นสังคมเมืองนั้นมีข้อสังเกตดังนี้ คือ
หนึ่ง ชุมชนเก่าแก่ในเมือง ถ้ามองจากด้านประวัติของเมืองหยินชวน หยินชวนเป็นเมืองที่มีชุมชนชาวหุยตั้งแต่ปี ค.ศ.1038 เดิมชื่อว่าเมืองซีเซียะ (Xixia) เปลี่ยนเป็นชื่อหยินชวนในปีค.ศ. 1944 ชุมชนชาวหุยในเมืองหยินชวน เริ่มมีการสร้างมัสยิดเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) เป็นต้นมา มีการบันทึกไว้ว่า ก่อนราชวงศ์ชิงนั้นในเมืองหยินชวนมีชุมชนชาวหุยอยู่ 4 แห่ง และขยายเป็น 8 แห่งเมื่อปี ค.ศ.1949 ชุมชนทั้ง 8 แห่งนี้กลายเป็นชุมชนเก่าแก่ ในเมืองหยินชวน ในการปฏิรูปเพื่อสร้างความ ทันสมัยให้เป็นสังคมเมืองนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปทั้ง 8 ชุมชนดังกล่าว
สอง ปริมาณการหลั่งไหลของประชากร ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วยการ โยกย้ายเพราะการทำงาน การเรียน จนทำให้สถานภาพของพวกเขากลายเป็นคนในสังคมเมืองโดยปริยาย และบุคคลที่พักอาศัยในเมืองหยินชวนชั่วคราวบางกลุ่มมีการจดทะเบียนเปลี่ยน สถานภาพเป็นคนหยินชวนมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วมีมากถึง 10% ต่อปี
สาม การกลายเป็นคนในสังคมเมืองตามการขยายเมือง ก่อนปี ค.ศ.1949 ในตัวเมืองหยินชวนมีเนื้อที่ทั้งหมด 3 ตารางกิโลเมตร กระทั่งสิ้นปี ค.ศ. 2004 เนื้อที่ของเมืองหยินชวนมีเพิ่มขึ้น 30 เท่าคือ 89.2 ตารางกิโลเมตร จึงทำให้ชาวหุยที่เคยอยู่บริเวณชานเมือง สูญเสียที่ดินทำกินและกลายเป็นคนในสังคมเมืองในที่สุด
แรงผลักดันต่างๆ ที่ทำให้เมืองหยินชวนเป็นสังคมเมือง มีสาเหตุหลายประการ ก่อนอื่นคนในสังคมชนบทนั้นมักจะมีความประสงค์ที่จะโยกย้ายเข้าสู่ตัวเมือง เพื่อมุ่งหวังรายได้ที่สูงกว่า ตามทฤษฎีของนักเศรษฐศาสตร์ M.P.Todaro กล่าวไว้ว่ารายได้ของสังคมเมืองและชนบทนั้น ขึ้นอยู่กับการย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในเมืองหรือไม่ และแรงผลักดันที่มาจากรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา
รัฐบาลของเมืองหยินชวนมีข้อกำหนดของการย้ายภูมิลำเนา อย่างยืดหยุ่นและชัดเจนขึ้น เช่น ขอเพียงแต่มีบุคคลในครอบครัวซื้อบ้าน ที่อยู่อาศัย ก็สามารถโยกย้ายทะเบียนราษฎรได้ทั้งครอบครัว กรณีที่ทำงานที่เมืองหยินชวนครบสามปี มีที่พักที่ชัดเจน การงานที่มั่นคง สามารถย้ายทะเบียนราษฎร์มาอาศัยอยู่ได้ (ก่อนหน้านี้ไม่พบรายละเอียดข้อกำหนดดังกล่าว)เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ตามอำเภอต่างๆ ยังมีหน่วยงานที่คอยประสาน ให้ข้อมูลและจัดส่งแรงงานในชนบทเข้าสู่ตัวเมือง นอกจากนั้นแล้ว เนื่องด้วยชาวหุยนั้นเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า ‘นักการค้า’ ดังนั้นการมุ่งแสวงหากำไรในเมือง ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
การพัฒนาต่างๆ เพื่อทำให้เมืองหยินชวนเป็นสังคมเมืองนั้น ทำให้ชาวหุยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมอย่างไรบ้างหล่ะ? หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงทางด้านอาชีพ เป็นสิ่งแรกที่ชาวหุยจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับอาชีพใหม่ๆ ใน รูปแบบต่างๆ เดิมมีชาวหุย 57.3% ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หลังจากที่ปรับ เข้ากับสังคมเมืองแล้ว กลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรนั้น เหลือเพียง 12.9% ชาวหุยส่วนมากกลายเป็นพนักงานราชการ ช่างเทคนิค พนักงานบริการ หรือพนักงานทั่วไป ผลที่ตามมาคือส่วนมากมีรายได้ที่เปลี่ยนไป ตามผลการสำรวจพบว่า รายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำสุดอยู่ที่ 3,000-4,000 หยวน สอง การเปลี่ยนแปลงทางด้านที่พักอาศัยที่มีความหลากหลายมากขึ้น จากที่ชาวหุยเคยอยู่กันเป็นชุมชน กลายเป็นการอยู่รวมกันเนื่องด้วยความสัมพันธ์ทางด้านการงานมากกว่า เพราะงานบางประเภทนั้น นายจ้างเป็นผู้จัดสรรที่พักให้ อนึ่งการขยายผังเมืองนั้นทำให้ชุมชนเก่าแก่ของชาวหุยเปลี่ยนแปลงไป สาม การเปลี่ยนแปลงทางด้านการปฏิสัมพันธ์ การคบค้าสมาคมกับชาวหุย ด้วยกันลดลง เนื่องด้วยความสัมพันธ์ทางด้านการงานและที่พักอาศัย จึงทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับชาวฮั่นและชนชาติอื่นๆ มากขึ้น
การก้าวเข้าไปสู่สังคมเมืองเป็นกระบวนการพัฒนาที่หลีก เลี่ยงไม่ได้ ทว่าดำเนินชีวิต การปรับตัวเพื่อให้อยู่ในแนวทางของวัฒนธรรมของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ควร ตระหนัก ผลจากการสำรวจพบว่า หลังจากว่างจากงานประจำแล้ว มีวัยหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่หลงใหลกับการเข้าคลับบาร์ เล่นการพนัน แม้กระทั่งการดื่มเหล้าในวาระต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่อิสลามไม่รับรอง ดังนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมเมืองที่คบคู่กับ ศาสนา เพราะสังคมที่สมบูรณ์พร้อมนั้นเป็นสังคมที่มี คุณธรรม และคุณธรรมนั้นมีรากฐานมาจากศาสนา อนึ่งการสูญเสียที่ดินทำกินนั้น ปัญหาที่ตามคือเรื่องของการว่างงาน ค่าชดเชยก้อนโตที่ได้รับจากการเวนคืนที่ดินนั้น อาจหมดไปในเร็ววัน ถ้าไม่มีการสร้างงานเป็นกิจจะลักษณะ
ดังนั้นอาจต้องมีการจัดอบรมเพื่อสร้างอาชีพต่างๆ ให้สอดคล้องกับสังคมเมืองที่กำลังเติบโต
อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
nisareen@mfu.ac.th