สภาเครือข่ายมนุษยธรรม สำนักจุฬาฯ ร่วม ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์ฯ จัดใหญ่ สัมมนานานาชาติ วาระ “ปาเลสไตน์” 22-23 พ.ย.นี้

งานแถลงข่าวจัดสัมมนาระดับนานาชาติ ”ผ่าวิกฤติปาเลสไตน์ : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 ตุลาคม 2561 / ภาพ เดอะพับลิกโพสต์

สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ร่วมกับ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 40 กว่าองค์กรภาคี เตรียมจัดงานสัมมนาระดับนานาชาติ วาระ “ปาเลสไตน์” ซึ่งนับเป็นงานใหญ่ที่สุดในรอบปีนี้อีกงานหนึ่ง

งานสัมมนาระดับนานาชาติครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ผ่าวิกฤติปาเลสไตน์ : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ในระหว่างวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2561 นี้ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายเมธา เมฆารัฐ ประธานจัดงานครั้งนี้กล่าวในงานแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า ปัญหาปาเลสไตน์ หรืออัลกุดส์ หรือเยรูซาเล็ม ถือเป็นปัญหาที่มีมานานนับแต่สมัยศาสดามูฮัมหมัดแล้ว มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการต่อสู้ที่ยาวนาน ปัญหานี้คล้ายๆ จะมองดูเป็นมิติของศาสนา แต่ปัจจุบันนี้ได้พัฒนาการเป็นปัญหาทางสังคม ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ และอาจจะบานปลายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงนำมาสู่ดำริขององค์กรภาคีในการจะจัดสัมมนานานาชาติครั้งนี้

“งานที่จัดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีการประชุมวิชาการ ทบทวน และพัฒนาองค์ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและเอเชียด้านประเด็นปัญหาปาเลสไตน์อย่างครอบคลุมรอบด้าน เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และสร้างความร่วมมือในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในกรณีปาเลสไตน์“

“รวมทั้งการร่วมวิเคราะห์ภาพ ฉาก สถานการณ์ ที่อาจพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต อันจะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับวิกฤติที่จะมีความสลับซับซ้อน อีกทั้งสร้างความตระหนักรู้ เติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ในสังคมไทย” ประธานจัดงานกล่าว

(ซ้าย) นายเมธา เมฆารัฐ (ขวา) ดร.ศราวุฒิ อารีย์ งานแถลงข่าวจัดสัมมนาระดับนานาชาติ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย 29 ตุลาคม 2561 / ภาพ เดอะพับลิกโพสต์

ด้าน ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานแถลงข่าวนี้ว่า หนึ่งในปัญหาที่สำคัญและประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้อยู่มาก ก็คือประเด็นปัญหาปาเลสไตน์

“ในอดีต สังคมไทยรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปาเลสไตน์ผ่านนักวิชาการตะวันตก แต่ปัจจุบันนี้การสื่อสาร การข่าว มีความหลากหลายมากขึ้น และมีผู้ที่ติดตามสถานการณ์กรณีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องปาเลสไตน์เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นการรับรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ของสัมคมไทยและสังคมโลกมีเพิ่มมากขึ้น หลากหลายมากขึ้น”

“อย่างไรก็ตามตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า การประชุมสัมมนาวิชาการในระดับนานาชาติเกี่ยวกับประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ ยังไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะฉะนั้นศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชีย จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เนื่องจากประเด็นปัญหาปาเลสไตน์มีความสำคัญ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มันส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก”

“ในขณะเดียวกัน นับตั้งแต่หลังสงครามเย็น เรามีความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์น้อยมาก เท่าที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาปาสไตน์จะเกิดขึ้นในช่วงก่อนสงครามเย็น การต่อสู้กันระหว่างปา]เสไตน์กับอิสราเอล หรืออาหรับกับอิสราเอล แต่ว่าปัจจุบันนี้มีสถานการณ์หรือมิติการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้องค์ความรู้ขาดตอนไป” ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษากล่าวและเน้นว่า “อาจจะมีความรู้ในอดีต แต่องค์ความรู้ในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต ยิ่งมีน้อยมาก”

“เพราะฉะนั้นศูนย์มุสลิมศึกษา ในฐานะที่เป็นสถาบันผลิตองค์ความรู้ในเรื่องเอเชียศึกษา เราจึงให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาปาเลลสไตน์ และพยายามที่จะจัดเวทีวิชาการอย่างนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้” ดร.ศราวุฒิ อารีย์ กล่าว

สำหรับผู้แทนองค์กรและผู้สนใจทั่วไป ที่ประสงค์เข้าร่วมงานประชุมสัมมนานานาชาติ “ผ่าวิกฤตปาเลสไตน์ : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ในครั้งนี้สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าในลิงก์ด้านล่าง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าร่วมงานครั้งนี้

https://docs.google.com/forms