ศอ.บต. จัดประชุมเพื่อหารือแนวทางปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กกรณีเป็นผู้ต้องสงสัย

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม/จับกุมผู้หญิงและเด็กที่มีความผิด รายงานวิธีปฏิบัติในการควบคุมตัว ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และป.วิ.อาญา โดยกระบวนการ/วิธี/ขั้นตอนในการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษของ กอ.รมน. ได้เปิดเผยถึงขั้นตอนการปฏิบัติ ตั้งแต่การรับตัวบุคคลที่ถูกจับกุม/ควบคุมตัวตามหมายศาล เริ่มจากการตรวจสอบเอกสารของหน่วยงานที่นำส่งตัวผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัว การรับตัวผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยได้อธิบายถึงกระบวนการควบคุมตัว ตั้งแต่แรกเริ่มคือการตรวจค้นตัวผู้ถูกควบคุมไปจนถึงการชี้แจงข้อพึงปฏิบัติของสถานที่ควบคุมและมอบสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวเป็นลำดับสุดท้าย อีกทั้งได้ชี้แจง การดูแลความเป็นอยู่ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวโดยจะได้รับการดูแลจัดที่พักให้อย่างเหมาะสม จัดอาหารที่ถูกหลักอนามัย ในกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยก็จะนำตัวไปรักษาที่งานการแพทย์ อำนวยความสะดวกในการประกอบกิจทางศาสนา และระเบียบการจัดให้ได้รับการเยี่ยมจากญาติ ตามระเบียบ กอ.รมน.ภาค4 สน.

ด้าน นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ในฐานะเป็นตัวแทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ พร้อมจะเข้าไปดูแลในเรื่องของแนวทางการคุ้มครองเด็กและสตรีในกระบวนการจับกุมและควบคุมตัว อีกทั้งอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผู้หญิงและเด็กหลังได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุม เพื่อเป็นข้อมูลในแก้ไขปัญหา รวมถึงป้องกันไม่ให้เด็กกระทำความผิดตั้งแต่แรกเริ่ม

ทั้งนี้ในประชุมมีมติให้พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานในการวางแนวทางปฏิบัติ/มาตรการการควบคุมตัวผู้หญิงและเด็ก ซึ่ง ศอ.บต. จะเป็นหน่วยงานหลักโดยดำเนินงานร่วมกับ กอ.รมน. และ ก.พม. ซึ่งจะดำเนินงานบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การทำงานมีความสัมพันธ์กัน ร่วมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของภาครัฐในการควบคุมตัวผู้หญิงและเด็ก ตลอดจนเป็นการป้องกันและคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับบทบาทใหม่ของ ศอ.บต. คือการพัฒนาแบบไร้รอยต่อ ด้วยการบูรณาการทำงานของภาครัฐให้มีการทำงานไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้