ถอดรหัสจุดเปลี่ยน“สันติภาพ”ชายแดนใต้ บนเก้าอี้ที่สั่นคลอนของ“เลขาฯสมช.”

เปิดใจ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสมช.

ไม่เพียงเป็นประเด็นร้อนๆ ไปถึงเรื่องของการเมือง แต่กรณีตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่จะมีผลโดยตรงต่ออนาคตของการแก้ปัญหาในภาคใต้ กลายเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ ท่ามกลางสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญกับภารกิจ “เจรจากับแกนนำกลุ่ม BRN และกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่” ซึ่งยังคงค้างคาอยู่ในช่วงเวลาในการทำความเข้าใจกับเงื่อนไขข้อตกลง

กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ให้ “นายถวิล เปลี่ยนศรี” อดีตเลขาธิการสมช.ในยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หลังถูกโอนย้ายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร” กลายเป็นเงื่อนไขทางการเมือง และกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ให้กับการแก้ปัญหาในภาคใต้ของรัฐบาลไปพร้อมๆ กัน  แม้รัฐบาลจะได้เตรียมทีมกฎหมายเพื่อหารือถึงแนวทางการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองแล้วก็ตาม

“พับลิกโพสต์” ฉบับนี้ มีโอกาสเปิดใจกับ “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” เลขาธิการสมช. ภายหลังเข้าร่วมประชุมกับ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเปิดใจครั้งแรกต่อกรณีที่เกิดขึ้น รวมถึงภารกิจสำคัญ ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

กรณีคำสั่งของศาลปกครองกลางและคุณถวิล จะมีผลกระทบต่อการเจรจาอย่างไร

ณ เวลานี้ถือว่ายังไม่มีอะไรกระทบ เพราะกรณีที่เกิดขึ้นคุณถวิลก็ใช้สิทธิ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็กำลังพิจารณาการใช้วิธีการตามกฎหมาย เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอน และยังไม่มีคำสั่งเป็นอื่น ส่วนตัวก็ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป การเจรจาก็จะยังดำเนินต่อไป และนโยบายในการดำเนินการพูดคุยเป็นนโยบายของ      รัฐบาลต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องต่อไป

สายแกนนำของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ติดต่อไว้แล้ว หากต้องมีการเปลี่ยนเลขา สมช.จะต้องเปลี่ยนคู่เจรจาอีกหรือไม่

ในส่วนของความต่อ เนื่องก็คงต้องให้มีการเจรจาต่อเนื่อง เพราะทางนโยบายบังคับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ลักษณะเฉพาะตัวแต่ละคนจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องเฉพาะ ตัว คงต้องปล่อยให้รัฐบาลใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมในการดำเนินการต่อไป แต่การเจรจากับกลุ่มเคลื่อนไหวในภาคใต้ วันนี้ยังคงต้องดำเนินต่อไป เพราะผมยังอยู่ในตำแหน่ง
ซึ่ง แน่นอนในภารกิจเดียวกัน แต่เป็นคนละคนกัน ถนัดไม่เหมือนทุกอย่างคงต้องขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคลแต่สำคัญคือ ต้องไปดูที่นโยบายหลักที่สั่งการมาจากรัฐบาล ว่าจะให้ไปในทิศทางใด ในฐานะของผู้ปฏิบัติก็คงต้องยึดตามทิศทางนั้น

ถามท่านตรงๆ มีความหนักใจหรือไม่กับเรื่องนี้หรือไม่ การเจรจากับบีอาร์เอ็นครั้งต่อไปจะมีความคืบหน้าอย่างไร

การเจรจานี้ในวันที่ 13 มิถุนายน คงเป็นการสรุปประมวลผล ตอนนี้ทุกฝ่ายก็ตกผลึกข้อมูลกันบ้างแล้ว เพราะที่ผ่านมามีการแบ่งการทำงานออกเป็นคณะเล็กคณะย่อยเพื่อเก็บข้อมูลและ ในสัปดาห์หน้า ก็จะนำมาประมูลข้อมูลร่วมกันเพื่อรายงานต่อ รองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) ที่อาจจะ มีข้อเสนอแนะและนำเอามาหาผลสรุป เป็นกรอบก่อนเข้าสู่โต๊ะเจรจาต่อไป

พอจะเปิดเผยได้หรือไม่ว่าข้อสรุปสุดท้ายก่อนการเจรจามีอะไรบ้าง

ยัง ยืนยันในหัวข้อหลักคือลดเหตุความรุนแรง และเวลานี้สถานการณ์ในภาคใต้ความรุนแรงแม้จะยังมีอยู่แต่ก็ลดลงอยู่ในกรอบ ที่ควบคุมได้ คือเวลานี้มองไปที่การเจรจาในรอบต่อไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องอยู่ในกรอบเงื่อนไขข้อตกลงเดิมที่วางกันเอา ไว้ทั้งสองฝ่าย ส่วนสถานการณ์ในขณะ นี้ ยอมรับว่าข้าราชการเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอยู่แล้ว จึงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงนี้

ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับรัฐบาลบ้างหรือไม่

ช่วง สัปดาห์ที่ผ่านได้หารือกับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายท่าน รวมถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอีกหลายๆ ท่าน แต่ไม่ได้พูดเกี่ยวกับกรณีของคุณถวิล เป็นการหารือในกรอบของการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ นายก รัฐมนตรีไม่ได้พูดถึง     เรื่องตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแต่อย่างใด และมอบหมายงานให้อย่างต่อเนื่องตามปกติ เพราะนายกรัฐมนตรีต้องรอให้คณะทำงาน และอัยการให้คำปรึกษาในเรื่องนี้ก่อน

คำถามสุดท้ายหากต้องหลุดจากตำแหน่งนี้จริงๆ จะยังทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปหรือไม่

เรื่องนี้คงขึ้นอยู่ กับรัฐบาล ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีที่จะมอบหมาย ส่วนตัวผมยืนยันว่าสามารถที่จะทำได้ในทุกหน้าที่ทุกภารกิจ ไม่ได้เลือกว่าจะต้องมีตำแหน่งอะไร ภารกิจการแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องของส่วนรวมเป็นภารกิจ ของชาติ ผมเป็นข้าราชการ ถ้ารัฐบาลสั่งก็ต้องพร้อมที่จะทำหน้าที่ทุกภารกิจ  จะมาเลือกคงไม่ได้ว่าจะต้องเป็นตำแหน่งโน้นตำแหน่งนี้ คงไม่ได้