อดีตเลขาธิการอาเซียนชี้ ประเทศไทยควรเปลี่ยนวิกฤตโรฮิงญาให้เป็นโอกาส

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ภาพจากเฟสบุ๊กส่วนตัว www.facebook.com/surin.pitsuwan.16

วันนี้ (21 พ.ค.) ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นในประเด็นปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญา โดยมีเนื้อหาระบุว่า

ประเทศไทยควรเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส

เรื่องปัญหาผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวโรฮิงญามีหลาย ๆ ท่าน เฝ้าเพียรถามถึงความคิดเห็นของผมในเรื่องนี้ ซึ่งผมได้ชี้แจงไปบ้างแล้วกับสื่อต่าง ๆ ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ผมเข้าใจว่าหลายท่านคงจะได้รับทราบกันไปบ้างแล้ว แต่ผมขอให้ความเห็นเพื่อเป็นที่กระจ่าง ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

เรื่องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานั้น ผมคิดว่าประเทศไทยควรจะต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการพิสูจน์ตนเองเพื่อ ลบล้างข้อกล่าวหาจากประชาคมโลกว่าด้วยเรื่องการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมาช้านาน

ถ้าประเทศไทยไม่ฉกฉวยจังหวะนี้ไว้ เราจะพลาดโอกาสสำคัญที่จะแก้ต่างกับประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งมองว่าประเทศไทยเป็นจำเลยเรื่องการค้ามนุษย์ และเราจะถลำลึกติดหล่มกับปัญหานี้มากขึ้นไปอีก ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ พ.ศ. 2557 (Trafficking in Person Report -TIP) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุอย่างชัดเจนว่าทางการสหรัฐฯ ได้ลดอันดับประเทศไทยเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหา ดังกล่าว และได้เริ่มกระบวนการที่จะนำไปสู่การกดดันทางด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ ต่อไป อีกทั้งสหภาพยุโรปได้แสดงความห่วงกังวลต่อปัญหาของเรือประมงของไทยที่ละเมิด กฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศ และได้กล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของลูกเรือประมงต่างชาติอย่าง รุนแรง และได้เริ่มมาตรการตอบโต้ทางด้านการค้าและความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ อีกด้วย ทั้งหมดนี้จะส่งผลเสียโดยตรงกับอุตสาหกรรมการประมง และการแปรรูปอาหารทะเล การส่งสินค้าไปยังตลาดในสหภาพยุโรป ความเสียหายในครั้งนี้จะกระทบกับชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างมาก จนยากที่จะเยียวยามากขึ้นทุกขณะ

เพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทยในปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องร่วมกับมิตรประเทศทั้งในภูมิภาคและประชาคมโลก สถาบันและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อเบนเข็มความสนใจของประชาคมโลกไปยังประเทศที่เป็นต้นตอของวิกฤตนี้ โดยตรง พร้อมทั้งแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนที่จะแก้ไขและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มีคน ไทยบางกลุ่มเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้ประเทศไทยต้องตกเป็นจำเลยดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลไทยจะต้องมุ่งมั่นอย่างจริงจังและจริงใจที่จะปราบปรามผู้เกี่ยวข้อง ไม่มีการละเว้น ปกป้องผู้กระทำความผิด หรือทำแบบลูบหน้าปะจมูกอีกต่อไปโดยเด็ดขาด

นอกจากนั้น ประเทศไทยจะต้องดำเนินการทางการทูตให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การ สหประชาชาติมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้อย่างจริงจัง การที่เลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มุน ได้แสดงท่าทีห่วงกังวลอย่างสูงต่อปัญหาดังกล่าว โดยได้โทรศัพท์สายตรงถึงผู้นำไทย และสนับสนุนความริเริ่มของรัฐบาลไทยให้มีการร่วมหารือกับประเทศที่มีส่วน เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้โดยตรง นับเป็นนิมิตหมายอันดี สำหรับประเทศไทยในการแสดงความเป็นผู้นำ หาทางออกให้กับภูมิภาค และประชาคมโลกต่อปัญหาที่สะเทือนใจยิ่งนี้ โดยควรจะเป็นการประชุมขนาดเล็กเฉพาะในหมู่ประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง เท่านั้น คือ เมียนมาร์ บังกลาเทศ ไทย มาเลเซีย และอินโดนิเซีย รวมถึงประเทศใหญ่ ๆ ที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหา พร้อมกับผู้แทนระดับสูงของยูเอ็นที่เกี่ยวข้องโดยตรง หากมีผู้เข้าร่วมประชุมมากเกินไป จะทำให้ท่าที จุดยืน และบทบาทการนำของประเทศไทยถูกบดบังเลือนหายไปอย่างหน้าเสียดาย ประเด็นที่จะหารือกันก็จะไม่ชัดเจน เรื่องปลีกย่อยอื่น ๆ จะถูกยกขึ้นมาปะปนกับปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า

ที่จะขาดไม่ได้จากเวทีการประชุมนี้ คือ ผู้แทนระดับสูงของเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง คือ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (Antonio Guterres) ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่มีบารมี ความเชี่ยวชาญและความสามารถอย่างสูง ซึ่งจะสะท้อนความห่วงกังวลของเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้แสดงออกต่อผู้นำไทย โดยตรงดังกล่าวแล้ว

อันที่จริงประเทศไทยไม่มีอะไรจะสูญเสียจากยุทธศาสตร์การนำภูมิภาคในการแก้ไข ปัญหานี้ แต่กลับจะได้ประโยชน์ หากการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ดังจะเห็นได้จากการที่นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ต่อสายตรงเพื่อแสดงความกังวลมายังพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเจรจาวิสาสะด้วยในโอกาสอื่น ๆ นับแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ารับหน้าที่บริหารประเทศ แสดงให้เห็นว่าวิกฤตคนอพยพชาวโรฮิงญาอาจจะเป็นกุญแจเปิดประตูทางการทูตให้ กับประเทศไทยได้ หากมีการเดินแต้มและก้าวย่างอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ความหวังของประชาคมโลกในการรับมือกับปัญหาสำคัญนี้อยู่ที่ประเทศไทยและ ภูมิภาคอาเซียน เก้าอี้ในที่ประชุมในวันที่ 29 พ.ค. นี้ อาจจะมีว่างบางตัวเพราะบางประเทศที่เกี่ยวข้องไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วม แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องอับอายหรือต้องรับภาระชี้แจงต่อชาวโลก แต่อย่างใด ในทางกลับกัน สายตาของคนทั่วโลกจะไปจับจ้องที่ “เก้าอี้ว่าง” ดังกล่าว นานาชาติก็จะได้รับรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว วิกฤตการอพยพของชาวโรฮิงญาครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และความร่วมรับผิดชอบควรจะเป็นของใครบ้าง

นี่คือการเดินหมากทางการทูตที่มีเดิมพันสูงยิ่ง ประเทศไทยจะต้องไม่เพลี่ยงพล้ำ พลาดท่า หรือพ่ายแพ้ ในขณะที่สมาชิกอาเซียนกำลังจะรวมตัวกันเป็นประชาคมซึ่ง “จะเกื้อกูลและแบ่งปัน” (caring and sharing) ต่อกัน ประเทศไทยในฐานะเจ้าของความคิดเรื่องอาเซียนก็ชอบที่จะรับบทบาทนำในการแสดง ให้ชาวโลกตระหนักว่าเราจะไม่ละเลยปัญหาท้าทายด้านมนุษยธรรม และความมั่นคงของมนุษย์ที่พลเมืองของอาเซียนส่วนหนึ่งประสบอยู่ในขณะนี้

หลายประเทศในภูมิภาคต่างผลักภาระความรับผิดชอบและปฏิเสธข้อกล่าวหาในการก่อ อาชญากรรมที่น่าสะเทือนใจนี้ แต่การจะแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อ ร่วมหาทางออก แบ่งรับภาระทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อันจะต้องใช้ความอดทนเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องของทุกภาคีภาคส่วน สิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยขณะนี้คือการโน้มน้าวให้ตัวละครทั้งหมดหันมา เห็นความเร่งด่วนรุนแรงของวิกฤตการณ์นี้ และหันหน้าเข้าหากันภายใต้การนำของประเทศไทย

ถ้าประเทศไทยและอาเซียนไม่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างมุ่งมั่นและจริงจัง ยังนิ่งเฉย บ่ายเบี่ยง ไม่ใส่ใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษยชาวโรฮิงญา ผู้ซึ่งเป็นพลเมืองของอาเซียนด้วยกันแล้ว และยังเป็นกลุ่มชนซึ่งองค์การสหประชาชาติเคยกล่าวว่าเป็น “ประชากรที่ถูกกดขี่ ข่มเหง กีดกัน มากที่สุดในโลก” ในเวลานี้ (the most persecuted people) แน่นอนว่าวิกฤตครั้งนี้จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อันด่างพร้อยและปวด ร้าวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดไป