
วอชิงตัน – เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีมัสอูด บาร์ซานี ของเคอร์ดิสถาน ยืนยันในการให้สัมภาษณ์กับ PBS เมื่อเดือนมีนาคมว่า เขาจะทำการผลักดันต่อไปเพื่อแยกดินแดนจากอิรักตามความทะเยอทะยานของประชาชนในชาติของเขา หลายคนมองข้ามหรือไม่ให้น้ำหนักเต็มที่กับความเคลื่อนไหวนั้น
เมื่อเจน อาร์รัฟ ถามว่า เคอร์ดินสถานจะทำตามความต้องการที่จะเป็นเอกราชได้หรือไม่ ทั้งที่ต้องเผชิญกับการรุกคืบของรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย(ไอซิซ) ในอิรัก บาร์ซานีตอบว่า
“กระบวนการยังคงใช้ได้อยู่ เราจะไม่ละทิ้งมัน เราจะดำเนินการผ่านการสานเสวนา เราจะคุยกับแบกแดดถึงเรื่องนี้ เราจะไม่ท้าทายกับประชาชน เราจะไม่ต่อสู้กับพวกเขา แต่ก็เหมือนกับที่ผมได้พูดไปแล้ว กระบวนการนั้นยังคงใช้ได้อยู่ และเราจะไม่สละสิทธิ์ไปจากมัน แต่เราจำเป็นต้องศึกษา เราจำเป็นต้องใช้ปัญญา เราต้องมีความสามัคคี เราใช้กำลังไม่ได้ เราจะทำให้เสียเลือดเนื้อไม่ได้”
ดังที่ปรากฏออกมา เคอร์ดิสถานได้พบกับผู้อุปถัมภ์ที่แข็งแกร่งในกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ซึ่งได้ผ่านร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่กล่าวถึงเคอร์ดิสถานในฐานะ “ประเทศ” หนึ่ง
โจควิน ฟลอเรส บรรณาธิการและนักวิเคราะห์การเมืองของ The Center for Syncretic Studies เชื่อว่า การต้องการแยกดินแดนของเออร์บิลเข้ากันพอดีกับแผนทางภูมิศาสตร์การเมืองอันยิ่งใหญ่ นั่นคือการทำให้ตะวันออกกลางแตกย่อยเหมือนคาบสมุทรบอลข่าน
“ไม่ว่ามหาอำนาจในภูมิภาค รวมถึงชาวเคิร์ด จะตระหนักถึงมันหรือไม่ก็ตาม มันมีความพยายามที่ชัดเจนมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมาหรือราวๆ นั้น ที่จะทำให้ตะวันออกกลางแตกออกมาเป็นในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตรสำคัญในภูมิภาคของอเมริกา นั่นก็คืออิสราเอล” ฟลอเรสบอกกับ MintPress News
“สิ่งที่เราเห็นว่ากำลังเกิดขึ้นใน MENA (ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ) จำเป็นที่จะต้องมองมาจากจุดยืนทางภูมิยุทธศาสตร์ เช่นเดียวกับที่อาหรับสปริงถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสนองวาระในการแผ่อำนาจของจักรวรรดินิยม คลื่นลูกใหม่ของความรักชาติที่เรามองเห็นว่าเกิดมีขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายนั้นได้ถูกทำให้กลายเป็นอาวุธเพื่อสนองความทะเยอทะยานในการครองความเป็นใหญ่ของกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่(นีโอคอน) ของเทลอาวีฟ” เขากล่าวเสริม
ฟลอเรสไม่ใช่คนเดียวที่ยืนยันว่าการเรียกร้องเอกราชของเคอร์ดิสถาน และการสนับสนุนความทะเยอทะยานนั้นอย่างชัดแจ้งของอเมริกา ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฉากควันอีกฉากหนึ่งเท่านั้น ที่จริงแล้ว มันคงไม่ใช่ครั้งแรกที่การสร้างประชาธิปไตยและการต่อต้านการก่อการร้ายจะถูกนำมาใช้เป็นเรื่องบังหน้า ครั้งนี้มันเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ กำลังหวังที่จะหาเหตุผลให้กับการวาดแผนที่ตะวันออกกลางใหม่ให้แบ่งออกเป็นรัฐต่างๆ ที่ว่าง่ายและให้ความร่วมมือมากขึ้น
มัรวา ออสมาน นักวิเคราะห์การเมืองที่เน้นเรื่องตะวันออกกลางและอาจารย์บรรยายที่มหาวิทยาลัยนานาชาติเลบานอนในเบรุต บอกกับ MintPress ว่า สหรัฐฯ กำลังดำเนินการเพื่อจัดการสร้างแผนที่ตะวันออกกลางขึ้นมาใหม่ แบบเดียวกันกับข้อตกลง Sykes-Picot 2.0
“หนึ่งศตวรรษหลังจากจักรวรรดิ์อังกฤษและนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสได้แบ่งแยกอาณาจักรออตโตมาน เรากำลังได้เห็นคลื่นลูกที่สองของการสร้างชาติประดิษฐ์ สหรัฐฯ กำลังเล่นบทนักเขียนแผนที่ด้วยการแตะลงไปในความทะเยอทะยานเพื่อชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ” ออสมานระบุ โดยหมายถึงการเตรียมการเพื่อเรื่องบังหน้าอีกเรื่องหนึ่งของวอชิงตันสำหรับข้อตกลงแอบแฝงของมัน
“และขณะที่วอชิงตันมีทีท่าว่าจะขายเรื่องนี้ออกไปว่าเป็นความเคลื่อนไหวในเชิงบวก คือเป็นการขยายระบอบประชาธิปไตยเข้าไปในดินแดนที่ไร้เสถียรภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนั้น การเล่นกับความรักชาติราวกับเป็นเครื่องมือเพื่อการปราบปรามแอบแฝงนี้มีแต่จะนำไปสู่เปลวไฟที่ลุกโชนขึ้นในความตึงเครียด แต่ว่าไปแล้ว มันอาจจะเป็นการจบเกมจริงๆ ก็ได้” เธอกล่าวเสริม
ถ้อยคำเหล่านี้ทั้งหมดทำให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นมาข้อหนึ่ง : ทำไมจู่ๆ จึงหันมาสนใจกับเคอร์ดิสถาน? ทั้งๆ ที่ชาวเคิร์ดส่งเสียงบอกความปรารถนาที่จะสร้างรัฐเอกราชของพวกเขามาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ตั้งแต่ประมาณสมัยของสนธิสัญญาแซฟวร์ (Treaty of Severs) ในปี 1920 เมื่อตอนที่อิรักถูกตัดออกมาจากอาณาจักรออตโตมาน และประชาชนชาวเคิร์ดถูกแยกออกไปอยู่ระหว่างตุรกี, ซีเรีย และอิรักในปัจจุบัน
การออกกฎหมายแบ่งส่วน
เมื่อวันที่ 27 เมษายน พรรคริพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้รับประกันกองกำลัง Peshmerga ของชาวเคิร์ด และกองกำลังไม่ประจำการของซุนนีโดยตรง แทนที่จะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ในสงครามกับไอซิซ ผ่านรัฐบาลอิรักที่ควบคุมพวกเขาแต่ในนาม
ภายใต้มาตราแห่งรัฐบัญญัติงบประมาณกระทรวงกลาโหมแห่งชาติประจำปี 2016 เงินอย่างน้อย 178 ล้านดอลล่าร์ และอย่างมากถึง 429 ล้านดอลล่าร์ จะไหลตรง (โดยไม่ผ่านการกำกับดูแลลของแบกแดด) ไปยัง “กองกำลังรักษาความมั่นคงของเผ่าและชาวเคิร์ด หรือกองกำลังรักษาความมั่นคงท้องถิ่นที่มีภารกิจรักษาความมั่นคงของชาติ”
ขณะที่มันสามารถโต้แย้งได้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายเพียงแค่ส่งความช่วยเหลือทางการทหารอย่างรวดเร็วไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หรือเผชิญกับภัยคุกคามจากการรุกคืบของไอซิซในอิรักมากที่สุด กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันการเอกราชของเออร์บิลจากแบกแดด ซึ่งเป็นการเพิ่มความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และอิรัก
กองกำลังทหารเหล่านั้น ตามสรุปรายงาน 500 หน้าของคณะกรรมาธิการทหารสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า อาจจะ “ถือได้ว่าเป็นประเทศหนึ่ง” ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงแค่ผิดปกติในเรื่องที่มันปฏิเสธอธิปไตยในดินแดนของอิรักด้วยการสร้างสุญญากาศทางกฎหมายให้แก่สถานะของเคอร์ดิสถานเท่านั้น แต่มันยังกำหนดให้แบกแดดยุติ “การสนับสนุนกองทหารชีอะฮ์” เพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับความช่วยเหลือทางทหารอีกด้วย
เนื่องจาก “กองทหารชีอะฮ์” เหล่านั้นเป็นตัวช่วยในการผลักดันไอซิซและยึดคืนดินแดนบางส่วนที่เคยอยู่ภายใต้การครอบงำของมัน เงื่อนไขเช่นนั้นสร้างความฉงนให้กับบางคน แม้ว่าคนอื่นๆ อาจจะไม่ประหลาดใจเลยก็ตาม
มุฮ์ซิน เคีย นักวิเคราะห์ตะวันออกกลางอาวุโสของสำนักข่าว ABNA ของอิหร่านกล่าวว่า ความชั่วร้ายแฝงอยู่ในรายละเอียดเมื่อกล่าวถึงร่างกฏหมายฉบับนี้
“กระทรวงกลาโหมไม่เพียงแต่ยืนยันอยู่ฝ่ายเดียวว่าเคอร์ดิสถานเป็นประเทศเอกราชเท่านั้น แต่มันยังกำหนดให้ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ไปตามแนวเส้นของชาติพันธุ์ในดินแดนที่พังพินาศไปแล้วด้วยความรุนแรงที่เป็นผลมาจากการแบ่งแยกลัทธิความเชื่อและชาติพันธุ์” เคีย บอกกับ MintPress
เขากล่าวเสริมว่า
“สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังเล่นเกมให้ประเทศหนึ่งขัดแย้งกับอีกประเทศหนึ่ง ในที่นี้คือเคอร์ดิสถานกับอิรัก แต่มันยังดึงให้ประชาชนและกลุ่มศาสนาเข้าต่อสู้ซึ่งกันและกัน แทนที่จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับกลุ่มแนวคิดสุดโต่ง เห็นได้ชัดว่าเป้าหมาย ณ ทีนี้ก็คือเพื่อเพิ่มความแตกร้าวและแบ่งแยกในอิรักให้มากเข้าไปอีก ไอซิซเป็นแค่เครื่องมือในการแบ่งแยกที่อยู่ในมือของเหยี่ยววอชิงตัน เหมือนกับที่แพ้กเกจความช่วยเหลือทางทหารที่ว่านี้เป็นนั่นเอง”
การแต่งงานที่จัดขึ้นในสวรรค์ทางภูมิศาสตร์การเมือง
ตอนนี้ทำเนียบขาวประกาศแล้วว่าจะวีโต้คัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และเรียกร้องให้ “เปลี่ยนแปลงในเรื่องภาษา” ในการพูดสรุปกับสื่อเมื่อปลายเดือนเมษายน แมรี่ ฮาร์ฟ โฆษกกระทรวงต่างประเทศบอกกับนักข่าวว่า
“เราพูดมาตลอดว่าอิรักที่ผนึกรวมกันนั้นแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และมันสำคัญต่อเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ด้วย ความช่วยเหลือทางทหารและการส่งอุปกรณ์เครื่องใช้ของเรา นโยบายของเรายังคงเหมือนเดิมด้วยเช่นกัน ว่า การส่งต่ออาวุธทั้งหมดจะต้องได้รับความร่วมมือผ่านทางรัฐบาลส่วนกลางที่มีอำนาจสูงสุดของอิรัก เราเชื่อว่านโยบายนี้เป็นวิธีที่สัมฤทธิ์พลมากที่สุดในการสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลผสม”
“เรื่องนี้จะอยู่ไปอีกนานแค่ไหนนั้นยังต้องถกเถียงกันไป” สตีเฟ่น เลนด์แมน นักหนังสือพิมพ์สายสืบสวน, นักเขียน และนักจัดรายการวิทยุ บอกกับ MintPress “เมื่อพูดถึงการหลอกลวงมหาชนอย่างยิ่งใหญ่แล้ว วอชิงตันถือว่าเป็นพระราชา” เขากล่าวเสริม
แต่นี่คือจุดที่นโยบายของวอชิงตันอาจจะติดขัดและสร้างความเดือดดาลให้กับอิรัก ทำเนียบขาวต้องการให้ระบุถึงภาษาที่ใช้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่ความหมายของมัน “ดังนั้น เราจึงหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับสภาคองเกรสเกี่ยวกับภาษาที่เราจะให้การสนับสนุนได้ในประเด็นสำคัญนี้” ฮาร์ฟกล่าวเมื่อ 30 เมษายน
เท่าที่เลนด์แมนเป็นห่วงก็คือ วอชิงตันกำลังเตรียมพร้อมที่จะลอยแพแบกแดด “พันธมิตร” ของมัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่นโยบายใหม่ที่ส่งเสริมเออร์บิลในภูมิภาคนี้ เขาบอกกับ MintPress ว่า
“พูดตามหลักยุทธศาสตร์แล้ว ชาวเคิร์ดพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นชนชาติที่สนับสนุนอเมริกาอย่างท่วมท้น ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้สึกต่อต้านอเมริกาที่เพิ่มมากขึ้นของอิรัก เออร์บิลสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเป็นพันธมิตรที่ว่าง่ายมากกว่าที่แบกแดดเคยเป็นหรือสามารถจะเป็น หลังจากที่ทั้งสองมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานร่วมกัน นี่คงจะไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯ เล่นเกมอยู่ฝ่ายชาวเคิร์ด”
ที่จริงแล้ว ไบรอัน กิ๊บสัน นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการ บอกกับ Rudaw สื่อของเคิร์ด ในการให้สัมภาษณ์เมื่อเมษายนว่า สหรัฐฯ เคยให้การสนับสนุนกองกำลังชาวเคิร์ดในการสู้รบกับแบกแดดช่วง 1970s มากกว่าที่คาดคิด เป็นการเปรยว่าเออร์บิลกับวอชิงตันมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงต่อกัน
“ตั้งแต่ปี 1958-75 นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในอิรักถูกกำหนดมาเพื่อป้องกันไม่ให้มันกลายเป็นประเทศบริวารของโซเวียต นำไปสู่ปฏิบัติการแอบแฝงหลายๆ ครั้งเพื่อสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ภายในอิรักที่เป็นฝ่ายต่อต้านโครงการแผ่อำนาจปกครองของมอสโก เช่น พรรคบาธในช่วงต้นปี 1960s และชาวเคิร์ดในช่วงปี 1970s” กิ๊บสันกล่าว
ถึงกระนั้น มิตรภาพนี้ก็ไม่ได้ขัดขวางสหรัฐฯ จากการทิ้งเพื่อนชาวเคิร์ดของตนในปี 1975 เมื่อซัดดัม ฮุซเซนเขียนข้อตกลงสันติภาพกับชาห์แห่งอิหร่าน
เวลาผ่านไปไม่กี่ศตวรรษ ชาวเคิร์ดได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในฐานะพันธมิตรทางกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อต่อต้านทั้งกับอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลางและกับไอซิซ
หลักฐานของการแต่งงานที่จัดขึ้นในสวรรค์ทางภูมิศาสตร์การเมืองนี้ยังสามารถมองเห็นได้ในความก้าวร้าวของเออร์บิลที่ว่าจ้างอดีตทหารสหรัฐฯ ชาวเคิร์ดกำลังเกณฑ์อดีตกองกำลังทหารสหรัฐฯ ให้เข้าร่วมในกองกำลัง Peshmerga ด้วยการลงชื่อผ่านการสมัครออนไลน์ จากข้อมูลของ The Daily Beast เว็บไซต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเกณฑ์ทหารขนาดใหญ่กว่าที่เรียกว่า โครงการคัดและจัดการประเมินการลงทะเบียนชาวต่างชาติของกองกำลัง Peshmerga ของเคิร์ด (Foreigner Registration Assessment Manangement and Extraction Program) หรือ F.R.A.M.E.
“ความวุ่นวายที่ถูกควบคุม”
ถึงแม้ว่ากระทรวงกลาโหมจะรู้สึกเหมือนถูกขนานนามเมื่อพูดถึงการกำหนดและวาดแผนที่ตะวันออกกลางใหม่ โดยเล่นบทผู้เขียนแผนที่เพื่อปรับให้เข้ากับนโยบายของตน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนในภูมิภาคนี้จะยินดีกับความคิดเกี่ยวกับเคอร์ดิสถานที่เป็นเอกราช
ความปรารถนาดีของเออร์บิลจะพบกับการคัดค้านอย่างแข็งขันทั้งในแบกแดดและอังการ่า ไม่ต้องกล่าวถึงเตหะรานและดามัสกัส ซึ่งทั้งหมดเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวเคิร์ดขนาดใหญ่ ตุรกี, ซีเรีย, อิรัก และอิหร่าน จะต้องสูญเสียแถบดินแดนสำคัญไปมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเคอร์ดิสถานใหม่นี้จะทะเยอทะยานอยากครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เท่าใด รัฐบาลเหล่านั้นมีทีท่าว่าจะปฏิเสธการสูญเสียดินแดนดังว่าอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดินแดนเหล่านั้นเผอิญตั้งอยู่บนแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำรองขนาดใหญ่เช่นน้ำมันและก๊าซ
ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากความโกลาหลทางการเมืองที่เคอร์ดิสถานที่เป็นอิสระและมีเอกราชจะสร้างขึ้นแล้ว ยังมีประเด็นเกี่ยวกับพันธมิตรต่างชาติเข้ามาด้วย ถ้าหากสหรัฐฯ สนับสนุนความต้องการแยกดินแดนของเคอร์ดิสถาน วอชิงตันก็จะพบกับความโกรธและสูญเสียพันธมิตรทางกลยุทธ์แห่งภูมิภาคในการต่อสู้กับการก่อการร้ายไป โดยเฉพาะอิหร่านและตุรกี
“สหรัฐฯ กำลังเล่นเกมปรับสมดุลที่อันตราย วอชิงตันกำลังร่วมมือกับอิหร่านเพื่อต่อสู้กับไอซิซในอิรัก ขณะที่กำลังทำให้แบกแดด ซึ่งเป็นพันธมิตรของเตหะราน ขัดแย้งกับเออร์บิล และตุรกี ซึ่งเป็นพันธมิตรในซีเรียให้ขัดแย้งกับเคอร์ดิสถานในอิรัก ความซับซ้อนและการแทงข้างหลังนี้ไม่สามารถยั่งยืนอยู่ได้โดยไม่มีผลสะท้อนกลับ” มัรวา ออสมาน นักวิเคราะห์การเมืองและอาจารย์บรรยายกล่าว
“ในที่สุด โครงสร้างที่ไม่มั่นคงนี้ก็จะพังลงมา สิ่งที่ฉันกังวลจริงๆ ก็คือความยุ่งเหยิงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” เธอกล่าวเสริม
แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหาก “ความยุ่งเหยิง” ที่ออสมานพูดถึงนั้น เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมา? จัสติน ไรมอนโด บรรณาธิการ Antiwar.org เขียนไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2014 ว่า
“ชะตากรรมของอิรักถูกประทับตาตั้งแต่วินาทีที่เรารุกรานเข้าไป มันไม่มีอนาคตที่จะเป็นรัฐที่มีความเป็นปึกแผ่น… อิรักถูกลิขิตให้แบ่งแยกออกเป็นอย่างน้อยสามรัฐ… นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงทว่าไม่เปิดเผยของพรรคแห่งสงครามตั้งแต่แรกเริ่ม : การแยกส่วนอิรัก และตะวันออกกลางทั้งหมด สรุปสั้นๆ เป้าหมายของพวกเขาก็คือความวุ่นวาย และนั่นคือสิ่งที่กำลังเห็นกันในปัจจุบันนี้นี่เอง”
บทความแสดงความสังหรณ์ใจของโอเดด ยินอน เมื่อปี 1982 เรื่อง “ยุทธศาสตร์สำหรับอิสราเอลในยุค 1980s” ได้สะท้อนเสียงเดียวกันกับการแสดงความคิดเห็นของโจควิน ฟลอเรส เกี่ยวกับการแบ่งแยกตะวันออกกลางว่าเป็นส่วนหนึ่งของวาระอิสราเอล
ยินอนเชื่อว่า ความอยู่รอดของอิสราเอลจำเป็นที่จะต้องทำให้รัฐยิวกลายเป็นมหาอำนาจแห่งภูมิภาคที่ “ต้องส่งผลให้เกิดการแบ่งส่วนพื้นที่ทั้งหมดออกเป็นรัฐเล็กๆ ด้วยการลบล้างรัฐอาหรับที่มีอยู่ทั้งหมดไป… ความหวังของไซออนิสต์ก็คือว่า รัฐที่เกิดจากการแบ่งแยกทางลัทธิความเชื่อเหล่านั้นจะกลายมาเป็นรัฐบริวารของอิสราเอล และเป็นจุดกำเนิดความชอบธรรมทางศีลธรรมของมัน”
และปัจจุบันนี้ ตะวันออกกลางกำลังลบเลือนไปภายใต้นำหนักของแนวคิดแบ่งแยกทางลัทธิความเชื่อและแนวคิดสุโต่ง เป็นสถานการณ์ที่สตีเฟ่น เลนด์แมนอธิบายว่าเป็น “ความวุ่นวายที่ถูกควบคุม”
—-
โดย แคเธอรีน ชัคดัม
ที่มา http://www.mintpressnews.com/mapping-a-geopolitical-future-americas-adventures-in-divvying-up-iraq/205931/
นักแปล, โต๊ะข่าวต่างประเทศ