กสอ. แนะ 5 เปลี่ยน ลดใช้น้ำ เปิดแนวคิดปันน้ำภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคเกษตร

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ผุดนโยบายรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัดในอุตสาหกรรมภาคการผลิตเตรียมพร้อมรับมือ กับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเอื้อประโยชน์แก่ภาคเกษตรกรรมที่ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอสามารถดึงน้ำไป ใช้ในการเพาะปลูก

โดยนโยบายดังกล่าวได้แก่ 1)ปรับเปลี่ยนวัตถุดิบคืออาจลดหรือยกเลิกวัตถุดิบที่เป็นต้นเหตุให้ใช้น้ำในปริมาณมาก 2)ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตปรับแผนหรือวิธีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดข้อผิดพลาดในการทำงานซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ใช้น้ำเกินความจำเป็น 3)ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนกลไกบางอย่างในการผลิต เพื่อความสะดวกและรวดเร็วลดกระบวนการที่อาจทำให้ใช้น้ำมาก 4)ปรับเปลี่ยนระบบควบคุมเครื่องจักรและอุปกรณ์ตลอดจนเลือกใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีระบบการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  5)ปรับเปลี่ยนรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ หรือกระบวนการบางอย่างในการผลิตเพื่อลดการใช้น้ำได้ พร้อมชูโครงการเพื่อสังคมของ กสอ. อาทิ “โครงการบริหารจัดการเพื่อยกระดับสังคมการประกอบการ” พัฒนาสู่การประกอบธุรกิจด้วยคุณธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดสากล โดยไม่ลืมที่จะใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และ “โครงการสังคมประกอบการงานได้ผล คนเป็นสุข” ที่อาศัยเครื่องมือ หรือเทคนิคการปรับปรุงการเพิ่มผลิตภาพที่เหมาะสม เช่น 5ส QCC (Quality Control Cycle) และ Kaizen ฯลฯ โดยขณะนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 2 โครงการแล้วจำนวน 300 และ  600 รายตามลำดับ

นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากวิกฤติน้ำแล้งในปัจจุบันส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม ตลอดจนภาคอุตสาหกรรม ที่กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค เนื่องจากน้ำในเขื่อนเก็บกักน้ำหลายๆแห่งเริ่มชะลอการจ่ายน้ำออกประกอบกับ ปริมาณน้ำบาดาลลดลงทำให้นำมาผลิตเป็นน้ำประปาได้น้อยลงด้วยโดยแต่ละภาคส่วน มีความต้องการใช้น้ำในประเทศสัดส่วนดังนี้1) ภาคการเกษตร 113,960 ล้านลูกบาศก์เมตร 2)การอุปโภคบริโภคในครัวเรือนและการท่องเที่ยว 6,400 ล้านลูกบาศก์เมตร 3)ภาคอุตสาหกรรม 4,206 ล้านลูกบาศก์เมตร 4)อื่นๆ 27,090 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูล: กรมโรงงานอุตสาหกรรม) อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมถึงแม้จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำ ไม่มากนัก และโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีระบบกักเก็บน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้แต่ก็ต้องมี การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตทางหนึ่งแล้ว ยังสามารถเอื้อประโยชน์แก่ภาคเกษตรกรรมที่ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอให้สามารถ ดึงน้ำไปใช้ในการเพาะปลูก อีกทั้งยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

นายประสงค์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะที่ส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมมามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะSMEs จึงมีนโยบายรณรงค์เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการในภาคการผลิตให้ใช้น้ำอย่างประหยัดโดยกำหนดออกมาเป็น 5 วิธี เพื่อเปลี่ยนวิธีการใช้น้ำ สู่การจัดการการใช้น้ำอย่างชาญฉลาด ดังนี้

1.      ปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ คือการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งอาจจะเป็นการลดหรือยกเลิกการใช้วัตถุดิบที่เป็นต้นเหตุของการใช้น้ำใน ปริมาณสูง อาทิ ในอุตสาหกรรมอาหาร หากสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความสะอาดสูง เพื่อช่วยลดขั้นตอนการทำความสะอาดและช่วยประหยัดน้ำในการชำระล้าง โดยการคัดสรรวัตถุดิบที่ได้จากภาคเกษตรกรต้องมีการปนเปื้อนให้น้อยที่สุด

2.      ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต หมายถึง การปรับแผนการผลิตหรือการปรับเปลี่ยนวิธีการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานตลอดจนเพื่อลดข้อผิดพลาดในการทำงาน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตที่มีปริมาณมากเกินจำเป็น อาทิ ในอุตสาหกรรมฟอกหนังซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า ในขั้นตอนการล้างหนังดิบเพื่อกำจัดส่วนที่ไม่ต้องการออก เช่น ขน หรือเศษหนัง เปลี่ยนจากการล้างแบบไหลล้นอย่างต่อเนื่องเป็นการเปลี่ยนการล้างแบบถ่ายทิ้งเป็นช่วงๆ เพื่อลดปริมาณน้ำเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

3.      ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี หมายถึง การปรับเปลี่ยนกลไกบางอย่างในการผลิต อาทิ ในอุตสาหกรรมฟอกย้อมที่จากเดิมการเตรียมสูตรสีย้อม จะทำโดยการผสมสีแล้วทดลองย้อมจนกว่าจะได้สีที่ต้องการ ซึ่งจะใช้เวลานานในการย้อมหลายๆครั้งกว่าจะได้สี จึงเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผสมสีในขั้นตอนการเตรียมสีย้อมทำให้ จำนวนครั้งของการทดลองย้อมลดลงอย่างมากขณะเดียวกันจะช่วยลดการเกิดน้ำเสีย จากกระบวนการผลิตที่ซ้ำซ้อนอีกด้วย

4.      ปรับเปลี่ยนระบบควบคุมเครื่องจักรและอุปกรณ์ อาทิ การควบคุมการทำงานของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในโรงงาน และการควบคุมสารเคมีที่ใช้ในขบวนการต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น ตลอดจนเลือกใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีระบบการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ซึ่งหากควบคุมการจ่ายน้ำในขั้นตอนดังกล่าวได้ก็จะเป็นการประหยัดน้ำอีกระดับหนึ่ง

5.      ปรับเปลี่ยนรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ โดยปรับเปลี่ยนหรือลดทอนรายละเอียดบางอย่างของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ ช่วยให้ลดการใช้น้ำลงได้ และช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้อยลง หรือส่งผลเสียต่อลูกค้าหรือผู้บริโภค

 ทั้งนี้ นอกจากการรณรงค์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งถือเป็นการตอบแทนสังคมหรือความรับผิดชอบต่อสังคมทางหนึ่งแล้ว กสอ. ยังมีโครงการที่สอดคล้องกับกิจกรรมเพื่อสังคมอีกหลายโครงการ ได้แก่“โครงการบริหารจัดการเพื่อยกระดับสังคมการประกอบการ”เป็นการพัฒนาสู่การประกอบธุรกิจด้วยคุณธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดสากล โดยไม่ลืมที่จะใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และ “โครงการสังคมประกอบการ งานได้ผลคนเป็นสุข” โดยอาศัยเครื่องมือ หรือเทคนิคการปรับปรุงการเพิ่มผลิตภาพที่เหมาะสม เช่น  5ส QCC(Quality Control Cycle) และ Kaizen ฯลฯ โดยในปี 2558 มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วทั้ง 2 โครงการจำนวน 300 และ 600 รายตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถูกจัดเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ใช้น้ำมากที่สุดในโลก รองจาก อินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และญี่ปุ่น เฉลี่ย 2,131 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1-2 เท่า ที่ส่วนใหญ่คนทั่วโลกใช้น้ำ 1,200-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปีเท่านั้น (ข้อมูล: ผลการศึกษาการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศต่างๆทั่วโลกโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ)) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการประหยัดทรัพยากรน้ำ สำหรับในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมากที่สุดของไทย คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และอุตสาหกรรมฟอกย้อม นายประสงค์ กล่าวสรุป