พช. รุกตลาด OTOP ออฟไลน์-ออนไลน์ พลิกวิกฤติหลังโควิด-19 สร้างรายได้ชุมชนเสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก

พช. ชู 4 ผลิตภัณฑ์โอทอปต้นแบบ ผู้สืบสานภูมิปัญญาแผ่นดิน พัฒนาสู่ความเข้มแข็ง ต่อยอดการตลาดออฟไลน์-ออนไลน์ สู่ความสำเร็จ พลิกฟื้นวิกฤติโควิด-19 สร้างงานสร้างอาชีพสู่ชุมชนทั่วประเทศ เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานรากมั่นคงอย่างยั่งยืน พร้อมเชิญชวนเที่ยวงาน OTOP ศิลปาชีพ

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ ในงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี 2563” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 16 สิงหาคม 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในประเด็น “การส่งเสริมการตลาด OTOP สร้างเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง” พร้อมด้วยตัวแทนผู้ประกอบการ 4 ท่านคือ นางสาวจุไรรัตน์ ไชยวัน ผู้ชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดผ้าไทยจังหวัดลำพูน และผู้ผลิตผ้าไหมยกดอก จังหวัดลำพูน, นายมนตรี นนทธิ จากมนตรีเครื่องเงิน จังหวัดสุโขทัย, นางสาวปรัชญา ศรียาบ จาก C-Craft Lanna ผ้าม่านผ้าฝ้ายสไตล์ล้านนา จังหวัดลำพูน และนายบัณฑิต คีรีคามสุข ผู้ผลิต Doi Mork Coffee จังหวัดเชียงราย ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อน OTOP ที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี 2544 – ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยการส่งเสริมอย่างครอบคลุม ตั้งแต่ด้านการส่งเสริมและยกระดับกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ด้านคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาด ด้านการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว และด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการส่งเสริมการตลาดในทุกช่องทาง ทั้งตลาดออฟไลน์และตลาดออนไลน์ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ซึ่งจะนำไปสู่เศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง และมั่นคงต่อไป

สถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมานั้นต้องยอมรับว่าเกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการ OTOP จำนวนมาก สินค้าที่ถูกผลิตไม่สามารถนำมาจำหน่ายได้ โดยเฉพาะในการจัดงานต่างๆ ที่ภาครัฐจัด หรือตามร้านค้าต่างๆ อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่วิกฤตินี้ได้แปรเป็นโอกาส เพราะกรมการพัฒนาชุมชนได้สร้างและพัฒนาช่องทางการตลาดเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยนอกจากการตลาดออฟไลน์ที่มีการพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันยอดการลงทะเบียน จำนวน 89,683 ราย มีผลิตภัณฑ์ที่ลงทะเบียน จำนวน 197,631 ผลิตภัณฑ์แล้วนั้น และหาช่องทางการขายทั้งในตลาดระดับประเทศและระหว่างประเทศ ตามมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาล ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ OTOP สานสัมพันธ์สองแผ่นดิน, OTOP To The Town โอทอปภูมิปัญญาไทย ใจกลางเมือง ช่วยคนไทย หลังฝ่าภัยโควิด ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 ครั้ง รวมถึงการจัดงาน ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี 2563 ในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อสืบสานงานผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่าของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ตลอดจนเพิ่มช่องทางจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP

ในส่วนของการตลาดออนไลน์ ได้พัฒนาเว็บไซต์ OTOP TODAY ([http://www.otoptoday.com)] www.otoptoday.com) แหล่งรวมสินค้า OTOP ทั่วประเทศ ยอดจำหน่ายสะสมทั้งสิ้น 22,362,101 บาท มีสินค้า OTOP บนเว็บ OTOPTODAY กรมฯ จำนวน 23,612 ผลิตภัณฑ์ และสร้าง Facebook fanpage : OTOP TODAY โอทอปทูเดย์ เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้า OTOP รวมถึง “กลุ่ม Face book : OTOP TODAY ฝากร้านขายของ” ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ชุมชนท่องเที่ยว กลุ่มอาชีพ/สตรี เข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อนำเสนอหรือแนะนำสินค้า และสมาชิกที่เป็นบุคคลทั่วไปเพื่อชมและสั่งซื้อสินค้าโดยตรงกับผู้ผลิต รวมทั้งนักการตลาดรุ่นใหม่ (OTOP) ที่กรมฯ ส่งไปช่วยงานอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และล่าสุดคือ ร่วมมือกับ SHOPEE ซึ่งเป็นแพลต ฟอร์มการขายสินค้าออนไลน์ จัดทำ โครงการส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์ออนไลน์ผลิตภัณฑ์ OTOP ในช่วงวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ OTOP MIDYEAR 2020 Online เนื่องจากยกเลิกจัดแบบ Offline โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจำนวน 468 ร้าน ระหว่าง 1 มิถุนายน – 29 สิงหาคม 2563 บนเว็บไซต์และแอพลิเคชั่น SHOPEE โดยมียอดจำหน่ายตั้งแต่ 1 มิถุนายน – 2 สิงหาคม รวม 12.3 ล้านบาท

“ขอเชิญชวนมาช่วยกันสนับสนุนสินค้า OTOP ในงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี 2563 ระหว่างวันที่ 8 – 16 สิงหาคม 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานมีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวนกว่า 900 บูธ และมีไฮไลท์ เช่น การจัดแสดงผ้าสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ผ้าที่ชนะการประกวด ผ้าอัตลักษณ์และผ้าชนเผ่า ผ้าที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ขึ้นเครื่อง, Young OTOP และผ้าทออีสาน รวมถึงยังมี OTOP ชวนชิม อาหารพื้นถิ่นทั่วประเทศ และนิทรรศการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ทุกจังหวัด มาอยู่ภายในพื้นที่เดียวกัน จึงขอเชิญชวนมาเที่ยวชมงานซึ่งมีมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวดตามมาตรการสาธารณสุข นอกจากจะช่วยเป็นกำลังใจให้แก่พี่น้อง OTOP แล้ว การอุดหนุนสินค้าทุกชิ้นเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อีกหลายแสนครัวเรือน ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งไปด้วยกันครับ” นายสุทธิพงษ์กล่าวเชิญชวน

ด้าน นางสาวจุไรรัตน์ ไชยวัน ผู้ชนะอันดับ 1 การประกวดผ้าไทย จังหวัดลำพูน และผู้ผลิตผ้าไหมยกดอก จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ตนเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มาสืบทอดศิลปหัตถกรรมนี้จากครอบครัว การสร้างโอกาสทางการขายของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นโอกาสที่ทำให้ผ้าไหมยกดอก จังหวัดลำพูน เผยแพร่อย่างแพร่หลายมากขึ้น และทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้มีโอกาสสืบสานงานหัตถกรรมต่อไปด้วย นอกจากนี้ จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ซึ่งมาจากการผลักดันของกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติฯ ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น และมีคนให้ความสนใจในเรื่องของผ้าไทยมากขึ้นด้วย

“ปกติการมาร่วมงานแสดงสินค้าของกรมฯ ต้องหมุนเวียนกัน ซึ่งในปีนี้ยังไม่ถึงคิวของที่บ้าน แต่เนื่องจากผ้าที่ส่งประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศ จึงมีโอกาสได้มาร่วมในงานครั้งนี้ด้วย จึงขอเชิญชวนมาชมผ้าจากจังหวัดต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย” นางสาวจุไรรัตน์กล่าว

ด้าน นายมนตรี นนทธิ จากมนตรีเครื่องเงิน จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า การตลาดของกรมการพัฒนาชุมชนที่ส่งเสริมการขายในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ตนสามารถสร้างแบรนด์มนตรีเครื่องเงินขึ้นมาได้ และได้รับเลือกเป็น OTOP 5 ดาวในที่สุด ด้วยการออกแบบลวดลายของเครื่องเงินให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยไม่ทิ้งเอกลักษณ์สุโขทัยเดิม

“ขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ช่วยทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย และมีช่องทางในการจำหน่ายมากขึ้น แรงงานในการทำงานล้วนมาจากคนในชุมชน จึงช่วยทำให้คนในชุมชนมีรายได้ขึ้นมา รวมถึงเป็นการสืบทอดลวดลายอนุรักษ์วัฒนธรรมของสุโขทัย และเผยแพร่ให้คนได้รู้จักมากขึ้น” นายมนตรีกล่าว

ส่วน นายบัณฑิต คีรีคามสุข ผู้ผลิต Doi Mork Coffee จังหวัดเชียงราย ซึ่งทำมากว่า 30 ปี กล่าวว่ากรมการพัฒนาชุมชนให้ความสนับสนุนช่วยเหลือหลายด้าน ตั้งแต่การอบรม วิธีการจำหน่าย วิธีการลงสินค้า การถ่ายรูปสินค้า และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับการช่วยเหลือด้านต่างๆ จากกรมการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะด้านการตลาด เพราะทำให้ยอดขายเพิ่มมูลค่ามากขึ้น

“ช่วงโควิด ไม่มีนักท่องเที่ยว หน้าร้านที่จังหวัดก็ต้องหยุดขาย แต่การที่กรมฯ สนับสนุนให้มีการขายออนไลน์กับ SHOPEE ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น และสามารถมีรายได้กระจายไปยังสมาชิกในชุมชนได้ ขอขอบคุณทุกคน ทุกฝ่ายที่ช่วยกันผลักดันและสนับสนุน” นายบัณฑิตกล่าว

ขณะที่ นางสาวปรัชญา ศรียาบ จาก C-Craft Lanna ผ้าม่านผ้าฝ้ายสไตล์ล้านนา จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เด่นส่วนใหญ่เป็นผ้าม่านที่เป็นผ้าฝ้าย โดยทำมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ Handmade สไตล์ล้านนา

“เราได้เริ่มทำการตลาดช่องทางออนไลน์มาตั้งแต่ประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว แล้วก็ได้เข้าร่วมแคมเปญของกรมการพัฒนาชุมชนกับ SHOPEE ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้ช่วยสนับสนุนอย่างมาก ในการขยายกลุ่มลูกค้า เพราะปกติแล้วผลิต ภัณฑ์ของเราไม่ได้ออกบูธ การมีช่องทางในสื่อออนไลน์ ทำให้เราได้มีโอกาสพบกับลูกค้ามากขึ้น” นางสาวปรัชญากล่าว