ผนึกกำลัง MOU ‘สร้างสังคมสูงวัย รู้ทันสื่อ” ผุด ‘ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ’

เผยโควิด-19 ปี 64 ทำวัยเก๋าใช้อินเทอร์เน็ตพุ่ง 6 ชม./วัน หวั่นรับ-ส่งข่าวลวง สสส. ผนึก 4 องค์กร MOU “สร้างสังคมสูงวัย รู้ทันสื่อ” ผุด ‘ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ’ มุ่งพัฒนานวัตกรรมลดเสี่ยงเสพสื่อดิจิทัล รุกปั้น ‘อาสาสูงวัยเฝ้าระวังสื่อ’ ส่งต่อความรู้เท่าทันสื่อสู่ชุมชน เล็ง นำร่อง 12 จังหวัดกระจายทุกภูมิภาค

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ทำมาปัน จำกัด และภาคีเครือข่ายสูงวัยรู้ทันสื่อ 12 จังหวัด ร่วมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “สร้างสังคมสูงวัย รู้ทันสื่อ” เพื่อขับเคลื่อนการทำงานสร้างสังคมสูงวัยรู้ทันสื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ นำไปสู่การสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะยั่งยืน

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ผู้สูงวัยต้อง “รู้เท่าทัน” สื่อ เนื่องจากสื่อมีพัฒนาการที่มีความสลับซับซ้อน (Complexity) จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตามทันสื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องมี “ตัวช่วย” ให้ผู้สูงวัยรู้ทันสื่อ สมาคมสภาผู้สูงอายุฯ จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานสังคมสูงวัยรู้ทันสื่อ มุ่งพัฒนาระบบ องค์ความรู้ และนวัตกรรมเครื่องมือ เพื่อสร้างเป็นหลักการพื้นฐานของการรู้ทันสื่อในกลุ่มผู้สูงอายุ

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งเน้นเสริมพลังประชาชนสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ตื่นรู้ มีทักษะเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือดูแลตนเองและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีสุขภาวะที่ดี โดยมียุทธศาสตร์การทำงานมุ่งพัฒนา “คน” และ “ปัจจัยแวดล้อม” สร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่มีความสมดุล จัดการความรู้และสร้างเครื่องมือที่สามารถนำไปยกระดับการทำงานและการขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ

“การ MOU “สร้างสังคมสูงวัย รู้ทันสื่อ” ครั้งนี้ มีแนวทางส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงวัย 4 ข้อ ได้แก่ 1.พัฒนาทักษะเท่าทันสื่อ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ขยายผลเกิดเป็นเครือข่ายอาสาสูงวัยเฝ้าระวังสื่อในทุกพื้นที่ 2. พัฒนากลไกการทำงานในระดับพื้นที่ปฏิบัติการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ กลไกเฝ้าระวังสื่อ 3. สนับสนุนการจัดการความรู้ งานวิชาการ เครื่องมือ และหลักสูตร ที่สอดคล้องกับบริบทการบริโภคสื่อของผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ รวมถึงจัดตั้งศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ ร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็น Knowledge Hub เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานด้านการรู้เท่าทันสื่อผู้สูงอายุในสังคมไทยยั่งยืน และ 4. พัฒนาการสื่อสาร สร้างความเข้าใจด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และสื่อสารสาธารณะสร้างการรับรู้ประเด็นผู้สูงอายุกับการรู้เท่าทันสื่อ มุ่งเป้าสู่การขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบาย” นางญาณี กล่าว

นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ พม. กล่าวว่า กรมกิจการผู้สูงอายุ มุ่งพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพเต็มตามศักยภาพและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ จากข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าผู้สูงอายุไทย อายุระหว่าง 57-73 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6 ชั่วโมง 21 นาทีต่อวัน การเปิดรับข้อมูลอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับข่าวลวง ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องงดเว้นการรวมกลุ่มทำกิจกรรม การใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ จึงมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น การเสริมสร้างสมรรถนะด้านการรู้เท่าทันสื่อให้กับกลุ่มผู้สูงอายุในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ กรมกิจการผู้สูงอายุ จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้สูงอายุในพื้นที่ระดับจังหวัด

นายวันชัย บุญประชา ที่ปรึกษากลุ่มคนตัวD บริษัท ทำมาปัน จำกัด กล่าวว่า กลุ่มคนตัวD ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานสร้างพลเมืองเท่าทันสื่อ ตั้งแต่ปี 2562 มีบทบาทในการออกแบบกระบวนการการจัดการความรู้ ซึ่งในปี 2565 ได้พัฒนาเครื่องมือ “คาถาสูงวัย รู้ทันสื่อ” 3 ข้อ 1. จำเป็นหรือไม่? 2. หาข้อมูลเพิ่มเติม และ 3. เดือดร้อนตัวเองและคนรอบข้างหรือไม่? เพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่สามารถวิเคราะห์สื่อ รับสื่อ และใช้สื่ออย่างปลอดภัย ตอบโจทย์บริบทการใช้สื่อในแต่ละพื้นที่ ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อบุคคล ถือเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของข่าวลวงและเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์