การสะโพกหัก หรือกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งความเสี่ยง และอันตรายด้านสุขภาพเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่มักถูกละเลย และมองข้าม แต่ถือเป็นเรื่องใหญ่ และอันตรายถึงชีวิตได้ จึงไม่ควรละเลยเด็ดขาด โดยในวันนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับการกระดูกสะโพกหักให้ดียิ่งขึ้นกันว่ามีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง มีปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่นำไปสู่การสะโพกหักได้ รวมถึงการสะโพกหักนั้นมีอาการอย่างไร และมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง
ลูก ๆ หลาน ๆ และคนที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ ควรทำความรู้จักกับอาการสะโพกหักในผู้สูงวัยเอาไว้ให้ดี เพื่อให้สามารถดูแล ป้องกัน และปฏิบัติตัวได้ถูกหากผู้ใหญ่ที่คุณต้องดูแลนั้นเกิดอุบัติเหตุและเกิดกระดูกสะโพกหักขึ้นมา เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้นั่นเอง
กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ
สาเหตุของอาการกระดูกสะโพก ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจาดการลื่นล้ม หรือหกล้ม แต่ก็สามารถเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรงอย่างอุบัติเหตุทางรถยนต์ก็ทำให้สะโพกหักได้เช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่นเนื้องอก และการติดเชื้อในกระดูกอีกด้วย
ซึ่งอาการสะโพกหัก แม้จะฟังดูเหมือนไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวมากนัก แต่จริง ๆ แล้ว ภาวะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ ถือเป็นภาวะที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจรุนแรงและอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้อง มากไปกว่านั้นคืออาการสะโพกหักในผู้สูงอายุนั้นมีนั้นมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 20 – 35 % ในหนึ่งปีเลยทีเดียว
ปัจจัยเสี่ยงของอาการกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ
สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้ เกิดจากอายุที่มากขึ้น ซึ่งทำให้กระดูกบางลง พรุน และมีมวลกล้ามเนื้อน้อยลง นอกจากนั้นอายุที่มากขึ้นยังทำให้การมองเห็น และการทรงตัว และสมดุลของร่างกายนั้นแย่ลงด้วย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการลื่นล้ม และหกล้มมากขึ้นนั่นเอง โดยเฉพาะในเพศหญิงที่หลังจากหมดประจำเดือนแล้วมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กว่า 70% ของผู้ที่เกิดสะโพกหักนั้นเป็นเพศหญิง
นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว โรคบางโรคที่เป็นโรคเรื้อรังอย่างเช่นไทรอยด์เป็นพิษ หรือความผิดปกติของลำไส้ในการดูดซึมวิตามินดี และแคลเซียมก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการสะโพกหักได้ด้วยเช่นกัน รวมไปถึงการใช้ยาบางประเภทเป็นเวลานาน ๆ และการใช้ยาที่ทำให้ง่วงซึม มึนงง ที่ทำให้ล้มได้ง่าย ๆ ด้วยเช่นกัน
อาการของการสะโพกหักในผู้สูงอายุ
อาการของการสะโพกหักในผู้สูงอายุ จะมีการปวดข้อสะโพก ลงน้ำหนักที่สะโพกไม่ได้ ยืนไม่ได้ และอาจมีขาผิดรูป ซึ่งจะต้องติดต่อให้รถพยาบาบมารับทันที เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างทันท่วงที จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้มาก ไม่ว่าจะเป็น แผลกดทับ การติดเชื้อทางเดินหายใจ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และลิ่มเลือดอุดตันที่ขา ซึ่งอาการแทรกซ้อนนี้เองที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในผู้ที่สะโพกหัก