มุสลิมถือศีลอดกันทำไม

โดย ดร.วินัย ดะห์ลัน

ถูกถามอยู่บ่อยๆมาตั้งแต่เด็กแล้วว่ามุสลิมหรือคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ถือศีลอดกันตลอดเดือนรอมฎอน ไม่กินอาหารไม่ดื่มน้ำ เขาถือกันยังไง ถือกันไปทำไมและถือแล้วได้อะไร เหตุที่ถูกถามบ่อยเพราะผมมักไปทำงานในสถานที่ ที่ไม่มีมุสลิมเลยอยู่บ่อยๆมีแต่ผมคนเดียวไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่าง ประเทศ จะมีก็แต่พักหลังๆนี่แหละในศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่คนทำงานรอบตัวเป็นมุสลิมกันแทบทั้งหมด

คำตอบว่าถือศีลอดกันอย่างไรนั้นง่ายมากก็แค่ตื่นมาตอนช่วงตีสี่ก่อนแสงทอง จับท้องฟ้าแล้วกินอาหารเช้าที่ภาษาอาหรับเรียกว่า “สะฮูร” สมัยเด็กๆพวกเราเรียกกันว่า “ข้าวโซโฮ” จากนั้นก็อดทั้งอาหารทั้งน้ำ งดการใส่สิ่งของเข้าปากทั้งหมด งดบุหรี่ซึ่งผมไม่สูบอยู่แล้ว งดการเสพกาม ส่วนที่ต้องพยายามงดให้ได้ด้วยคือการนินทาว่าร้าย การปฏิบัติศาสนกิจ ทำตนให้ดีตลอดทั้งวัน กินอาหารดื่มน้ำอีกครั้งที่เรียกว่า “อิฟตะห์” เมื่อดวงตะวันลับขอบฟ้าประมาณใกล้หนึ่งทุ่ม ปฏิบัติกันเพียงเท่านี้ ซึ่งง่ายมาก

เด็กบ้านผมถูกฝึกกันมาตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบทั้งๆที่ศาสนากำหนดสำหรับมุสลิม ที่เข้าเกณฑ์ศาสนาบังคับคือหญิงเริ่มมีประจำเดือน ชายเริ่มมีการเคลื่อนของอสุจิซึ่งก็คือประมาณสิบสามถึงสิบห้าขวบ แต่มุสลิมทั่วไปมักฝึกกันมาก่อนหน้านั้น อดอาหารครึ่งวันบ้างค่อนวันบ้าง ฝึกกันจนชิน เมื่อชินจึงไม่หิวหรือถึงหิวแค่ไหนก็ทนได้

อดกันไปทำไม ในศาสนาอิสลามซึ่งมีคนนับถือกันประมาณ 1,900 ล้านคนทั่วโลกกำหนดเรื่องการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนหรือเดือนที่เก้าตาม ปฏิทินอาหรับเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญทางศาสนา อันได้แก่การปฏิญานตน การละหมาด การถือศีลอด การบริจาคทาน (ซะกาต) และการทำฮัจย์ ส่วนเดือนรอมฎอนในแต่ละปีจะตรงกับวันไหนนั้น ขอให้ดูกันที่ปฏิทินอาหรับเป็นหลักซึ่งยึดปีทางจันทรคติที่มี 354 วัน 6 ชั่วโมง น้อยกว่าปีทางสุริยคติอยู่ 11 วัน หมายถึงว่า 33 ปีจันทรคติจะเท่ากับ 32 ปีสุริยคติ ใครที่มีอายุเกินสี่สิบปีจึงมีโอกาสถือศีลอดกันมาแล้วครบทุกเดือนในปฏิทิน สากล

แต่ละปีเดือนรอมฎอนจะเลื่อนมาเร็วขึ้นปีละ 11-12 วัน อย่างเช่นปี 2557 จะเริ่มประมาณวันที่ 28 เดือนมิถุนายนสิ้นสุดประมาณวันที่ 27 เดือนกรกฎาคม เหตุที่ต้องประมาณก็เพราะมุสลิมบ้านเรายึดถือสำนักคิดหรือมัซฮับชาฟีอี นิยมดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันขึ้นหนึ่งค่ำให้เป็นวันเริ่มต้นของเดือน ขณะที่มุสลิมในบางประเทศที่ยึดถือมัซฮับอื่นหรือแม้กระทั่งชาฟีอีแนวใหม่เขา กำหนดเดือนกันตามการคำนวณ ใครที่อยากสับสน ง่ายที่สุดคืออยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติตามคนที่นั้น

ถือศีลอดได้ประโยชน์ตรงไหน ในคัมภีร์อัลกุรอ่านระบุไว้ว่าการถือศีลอดเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระผู้ เป็นเจ้า เพื่อการมีสุขภาพที่ดี เพื่อความอดทน เพื่อประพฤติดี เพื่อความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่อดอยาก การถือศีลอดจึงมีหลายวัตถุประสงค์ ว่าแต่ว่าอดอาหารอย่างมุสลิมแล้วได้สุขภาพดีจริงหรือเปล่าหรือแค่พูดกันไป ตามความเชื่อเท่านั้น เรื่องอย่างนี้มันต้องพิสูจน์ ซึ่งวิธีดีที่สุดขณะนี้คือพิสูจน์กันในทางวิทยาศาสตร์

แพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์และนักโภชนาการทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิมให้ ความสนใจการถือศีลอดของมุสลิมในเดือนรอมฎอนกันมานานแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ประเด็นด้านสุขภาพ ในเรื่องนี้อิสลามกำหนดไว้แล้วว่าการถือศีลอดบังคับแก่ผู้มีสุขภาพดี เท่านั้น หากป่วย ตั้งครรภ์ ให้นมบุตรหรือเดินทางไกล อนุโลมให้บริจาคทานทดแทนการถือศีลอดได้ อนุโลมกันถึงขนาดนี้ มุสลิมจำนวนไม่น้อยแม้จะป่วยหรือตั้งครรภ์หรือเดินทางไกลก็ยังนิยมถือศีลอด เช่นเดียวกับคนปกติ หลายประเทศในช่วงเดือนรอมฎอนจึงต้องออกคำเตือนทางการแพทย์ออกมาให้เห็นกัน บ่อยๆว่าหากป่วยขอให้ระวังการถือศีลอด

ในส่วนของคนปกตินั้น มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นถึงผลดีต่อสุขภาพของการถือศีลอดแบบ มุสลิมในเดือนรอมฎอนตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการการแพทย์อยู่นับเป็นพันชิ้น ทั่วโลก ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นของนายแพทย์แมคซิโม เมสลอส (Maximo Maislos) ชาวยิวเกิดในอาร์เจนตินาแต่ไปเป็นแพทย์ทหารทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเบนกู เรียนของอิสราเอล

หมอคนนี้สนใจว่าเหตุใดมุสลิมจึงเข้มแข็งขึ้นในเดือนรอมฎอน ดูเอาเถอะอาหรับรบกับอิสราเอลทีไรก็แพ้แทบทุกครั้ง กระทั่งเมื่อ ค.ศ. 1973 เท่านั้นในเดือนรอมฎอนที่ทหารยิวแทบจะเป็นฝ่ายแพ้ หมอเมสลอสจึงศึกษาวิจัยในคนอาหรับเบดูอินในทะเลทรายนาเกฟแล้วก็พบประโยชน์ มหาศาลของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนโดยพบว่าการถือศีลอดอย่างถูกต้องแม้อด อาหารแต่หากทำงานตามปกติ ไม่กินอาหารหนักมื้อค่ำ ผลที่ได้คือระดับเอชดีแอลในเลือดซึ่งเป็นดัชนีเชิงบวกของการป้องกันโรคหัวใจ ดีขึ้น

หมอเมสลอสแม้จะเป็นหมอยิวที่เป็นขมิ้นกับปูนกับมุสลิมแต่ก็ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่องรอมฎอนไว้หลายชิ้นลองไปหาอ่านได้ใน http://profiler.bgu.ac.il/frontoffice/ShowUser.aspx?id=822 หมอ ศรัทธากระบวนการถือศีลอดเดือนรอมฎอนถึงขนาดสร้างโมเดลรอมฎอนไว้เพื่อใช้ แนะนำผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนและโรคเสื่อมอีกหลายโรคสร้างเป็นหลักสูตรเป็นเรื่องเป็นราว นี่คือหนึ่งตัวอย่างของข้อพิสูจน์ว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนให้ประโยชน์ ต่อสุขภาพได้จริงๆ

ยังมีตัวอย่างทางการแพทย์อีกมากมาย อย่างเช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในปารีสพัฒนาโปรแกรมลดน้ำหนักให้กับผู้ป่วยโรคอ้วนที่มี อาการแทรกซ้อนด้านอื่นๆโดยให้อดอาหาร 45 วัน ตามแบบมุสลิม เหตุผลที่ต้องเป็น 45 วันแทนที่จะเป็น 30 วันผู้อำนวยการโครงการอธิบายว่าเป็นเพราะมุสลิมถือศีลอดด้วยศรัทธา ทำให้ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนคนที่ไม่ใช่มุสลิมหากจะให้ได้ผลอย่างนั้นต้องถือศีลอดเพิ่มขึ้นอีกสิบ ห้าวัน ซึ่งก็น่าสนใจไม่น้อย โปรแกรมนี้จะอยู่ที่โรงพยาบาลไหนของปารีส ผมเองจดจำไม่ได้เสียแล้ว

เมื่อมีมุมมองทางด้านบวกก็ต้องไปดูทางด้านลบบ้าง ปรากฏว่ามีงานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นที่กล่าวถึงข้อเสียของการถือศีลอดแบบ มุสลิม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผู้ป่วย เช่น โรคเก๊าท์ โรคไต โรคตับ ที่ในความเป็นจริงน่าจะละเว้นไม่ต้องถือศีลอดอยู่แล้ว มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าแปลกตรงที่มีรายงานจำนวนไม่น้อยกล่าวถึงมุสลิมที่ อ้วนขึ้น เสี่ยงต่อเบาหวานและโรคหัวใจมากขึ้นหลังการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

รายงานในลักษณะหลังไม่ได้ทำให้ผมแปลกใจเลย ลองไปดูเอาเถอะรอมฎอนยุคใหม่แทนที่จะเป็นเทศกาลถือศีลอด ในหลายชุมชนมุสลิมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจึงแปลงสภาพเป็นเทศกาลแห่ง การกินกันไปหมด มีงานกินบุญกินเลี้ยงละศีลอดกันทั้งเดือน แถมช่วงค่ำยังมีอาหารขายกันจนดึกดื่น หมอเมสลอสจึงได้บอกไงว่ามุสลิมที่เข้มแข็งขึ้นในเดือนรอมฎอนคือมุสลิมที่ เคร่งครัดตามหลักอิสลามแนวเก่าที่ถือปฏิบัติกันเมื่อพันปีมาแล้ว อย่างเช่น ชนเผ่าเบดูอินในทะเลทราย

มุสลิมยุคใหม่หากต้องการมีสุขภาพดีและเข้มแข็งขึ้นในเดือนรอมฎอนเห็นทีจะ ต้องถือศีลอดกันอย่างการถือศีลอดแท้ๆ นั่นคือต้องงดการกินเวลากลางวัน ลดการกินในเวลากลางคืน ว่ากันอย่างนั้น

เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.วินัย ดะห์ลัน เป็นผู้อำนวยการ/ผู้ก่อตั้ง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อดีตคณบดี คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ติดตาม : https://www.facebook.com/winaidahlan