การกดขี่ชาวอุยกูร์โดยรัฐบาลจีนเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในเวทีโลกมาโดยตลอด โดยเฉพาะจากประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้กลับไม่ได้รับความสนใจมากนักจากโลกมุสลิม แม้ว่าชาวอุยกูร์จะเป็นประชากรมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในซินเจียง
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
เบื้องหลังของเรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน แต่เกี่ยวพันกับเกมการเมืองระดับโลก โดยเฉพาะ “ความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการอุยกูร์กับสหรัฐฯ และกลุ่มอิทธิพลตะวันตก” ซึ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้ว การเคลื่อนไหวของกลุ่มอุยกูร์เป็นไปเพื่อปกป้องศาสนาและสิทธิของประชาชน หรือเป็นเพียงเครื่องมือของวอชิงตันในการกดดันปักกิ่ง
รากฐานทางประวัติศาสตร์กับการอ้างสิทธิ์เหนือซินเจียง
ความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์กับจีนแผ่นดินใหญ่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ย้อนไปได้หลายศตวรรษ
ดินแดนซินเจียง อยู่นอกเหนือการควบคุมของจีนมาเกือบพันปี (ค.ศ. 750-1750) ก่อนที่ ราชวงศ์ชิง จะเข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าวในที่สุด แม้ว่าจีนจะผนวกรวมซินเจียงเป็นมณฑลอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1884 แต่การควบคุมของรัฐบาลกลางยังคงเปราะบางและเป็นเพียงผิวเผิน
ชาวอุยกูร์ได้อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนซินเจียงมาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 โดยถือว่าเป็นมาตุภูมิของตนเอง จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1944 เมื่อชาวอุยกูร์สามารถจัดตั้ง สาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก (Eastern Turkestan Republic – ETR) ขึ้นได้สำเร็จ โดยมี สหภาพโซเวียต ให้การสนับสนุน แต่เพียงไม่กี่ปีต่อมา กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) ได้เข้าควบคุมซินเจียงในปี 1949 ส่งผลให้ ETR ล่มสลาย
ผู้นำอุยกูร์ที่เหลืออยู่ถูกกวาดล้างหรือหลบหนีไปยัง เอเชียกลาง อินเดีย และตุรกี หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ลี้ภัยคือ เมห์เม็ต เอมิน บุกรา (Mehmet Emin Bughra) และ อิสซา ยูซุฟ อัลป์เตกิน (Isa Yusuf Alptekin) ซึ่งต่อมากลายเป็นแกนนำของขบวนการอุยกูร์พลัดถิ่น ทั้งคู่ตั้งรกรากในตุรกีและเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชของอุยกูร์ผ่านช่องทางการทูต
การเปลี่ยนแปลงและความพยายามในการรวมกลุ่ม
หลัง เหมา เจ๋อตง เสียชีวิตในปี 1976 และการล่มสลายของ สหภาพโซเวียต ในปี 1991 ขบวนการอุยกูร์ได้รับแรงผลักดันใหม่จากการเกิดขึ้นของรัฐอิสระในเอเชียกลาง
ความพยายามแรกในการจัดตั้งองค์กรอุยกูร์ระดับนานาชาติเกิดขึ้นใน ปี 1992 ที่อิสตันบูล ภายใต้ชื่อ สภาแห่งชาติเตอร์กิสถานตะวันออกโลก (Eastern Turkestan World National Congress – ETWNC) แต่ขาดโครงสร้างที่เข้มแข็ง
ต่อมาในปี 1998 ได้มีการก่อตั้ง ศูนย์แห่งชาติเตอร์กิสถานตะวันออก (Eastern Turkestan National Center – ETNC) ซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐบาลพลัดถิ่น แต่ถูกจีนกดดันจนต้องย้ายไป มิวนิก เยอรมนี
ในปี 1999 ศูนย์แห่งชาติเตอร์กิสถานตะวันออก ETNC ได้รับการยกระดับเป็น สภาแห่งชาติเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan National Congress – ETNC) ถือเป็นองค์กรร่มของชาวอุยกูร์พลัดถิ่น อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุยกูร์หลายกลุ่มยังคงดำเนินการอย่างเป็นอิสระ
ต่อมาเกิดความแตกแยกภายครั้งสำคัญภายใน ETNC เกี่ยวกับเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว โดยฝ่ายหนึ่งสนับสนุนการเรียกร้อง “เขตปกครองตนเอง” ภายใต้จีน ขณะที่อีกฝ่ายยืนกรานแนวทาง “เอกราช” ขาดจากจีน ทำให้ต้องประนีประนอมผ่านการก่อตั้งองค์กรใหม่
นำไปสู่การก่อตั้ง สององค์กรหลัก ในปี 2004 ได้แก่
- สภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress – WUC) วางเป้าหมายในการเรียกร้องสิทธิของชาวอุยกูร์โดยใช้แนวทาง สันติวิธีและประชาธิปไตย โดยเลี่ยงการใช้คำว่า “เอกราช” และมุ่งเน้นไปที่สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (self-determination) เพื่อลดแรงกดดันจากนานาชาติที่อาจมองว่าเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือถูกตีตราว่าเป็นการก่อการร้าย และเพื่อเน้นย้ำว่าชาวอุยกูร์ต้องการความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานภายใต้กรอบสันติวิธี
- รัฐบาลพลัดถิ่นแห่งสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Government-in-Exile – ETGE) ที่ต้องการยืนยันการเรียกร้องเอกราชอย่างแข็งกร้าว
ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าเป็น “เป็นองค์กรที่ชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวของชาวอุยกูร์ ทั้งในซินเจียงและต่างประเทศ” ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดและการแข่งขันกัน สมาชิก WUC วิจารณ์ ETGE ว่าเป็นองค์กรกลวงๆ ที่มีสมาชิกหัวรุนแรงซึ่งมีเป้าหมายที่ไม่สมจริง ETGE ตอบโต้ด้วยการกล่าวหาว่า WUC ก่อกบฏและประนีประนอมกับเป้าหมายซึ่งปักกิ่งจะไม่มอบให้
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม องค์กร สภาอุยกูร์โลก (WUC) ได้เติบโตจนกลายเป็นตัวแทนหลักของชาวอุยกูร์ โดยถูกขนานนามว่าเป็น “องค์กรตัวแทนที่ใหญ่ที่สุดของชาวอุยกูร์ทั่วโลก” มีสำนักงานใหญ่ในเมืองมิวนิก เยอรมนี เป็นองค์กรร่มระดับนานาชาติที่มีเครือข่าย 33 องค์กรใน 18 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่ รัฐบาลพลัดถิ่นแห่งสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก ก็ถูกขนานนามว่าเป็น “องค์กรอุยกูร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดนอกเหนือจากสภาอุยกูร์โลก (WUC)”
ขบวนการอุยกูร์กับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
ปัจจุบันองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นอุยกูร์ในเวทีโลกคือ สภาอุยกูร์โลก (WUC) และพันธมิตร
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ก่อตั้ง สภาอุยกูร์โลกได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ National Endowment for Democracy (NED) ซึ่งเป็นองค์กรใต้ร่มรัฐบาลสหรัฐฯ และถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการส่งเสริม “การเปลี่ยนแปลงระบอบ” (Regime Change) ในประเทศที่ขัดแย้งกับวอชิงตัน ผ่านการให้ทุนสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อในประเทศที่เป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
นอกจากนั้น องค์กรในเครือข่ายของสภาอุยกูร์โลก ที่มีบทบาทสำคัญต่อประเด็นอุยกุร์ อย่าง สมาคมอุยกูร์อเมริกัน (Uyghur American Association – UAA) โครงการสิทธิมนุษยชนอุยกูร์ (Uyghur Human Rights Project – UHRP) และ แคมเปญเพื่อชาวอุยกูร์ (Campaign for Uyghurs) ก็พบว่าองค์กรเหล่านี้ล้วนได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก มูลนิธิเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ (NED)
NED ให้การสนับสนุนองค์กรที่นำโดยชาวอุยกูร์เป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 8.758 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2004–2020 ตามข้อมูลของ NED เอง
ตัวอย่างการสนับสนุนรายปี เช่น ปี 2020 NED มอบทุนให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับชาวอุยกูร์ ประมาณ 1.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่ส่งไปยัง WUC และเครือข่ายองค์กรพันธมิตรของ WUC และ ปี 2018 NED ให้ทุนแก่ WUC และโครงการที่แตกออกมา รวมเกือบ 665,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ สมาชิกระดับนำของ WUC หลายคนเคยทำงานในตำแหน่งระดับสูงให้กับ Radio Free Asia (RFA) และ Radio Free Europe/Radio Liberty (RFE/RL) ซึ่งเป็นสื่อที่ก่อตั้งขึ้นโดย CIA ในช่วงสงครามเย็น
สำนักข่าวเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อในจีนและสหภาพโซเวียต และเพื่อปลุกปั่นการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศเหล่านี้
และไม่ใช่แค่ WUC เท่านั้นที่มีความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ ที่สำคัญแม้แต่ รัฐบาลพลัดถิ่นแห่งสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Government-in-Exile – ETGE) ก็ถูกประกาศจัดตั้งภายใน อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ (ห้อง HC-6) อย่างเป็นทางการ และมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตันดี.ซี.
ดังนั้นความเชื่อมโยงและข้อเท็จจริงเหล่านี้นำไปสู่คำถามว่า ทั้ง สภาอุยกูร์โลก (WUC) และ รัฐบาลพลัดถิ่นแห่งสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออก ( ETGE) ซึ่งเป็น 2 ขบวนการที่ใหญ่ที่สุดของชาวอุยกูร์ เป็นขบวนการเพื่อสิทธิของชาวมุสลิมจริง หรือเป็นแค่เครื่องมือของ CIA และรัฐบาลสหรัฐฯในการกดดันจีน?
การขับเคลื่อนข่าวอุยกูร์: เครือข่ายสื่อที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ
ทุกวันนี้ข้อมูลที่เผยแพร่เกี่ยวกับ “การกดขี่ชาวอุยกูร์” โดยรัฐบาลจีน ที่ปรากฏในรายงานของสื่อชาติตะวันตกแทบทุกฉบับ ล้วนมาจากองค์กรที่กล่าวถึงไปข้างต้นซึ่งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรง
แม้ว่าจะมีข้อกล่าวหาต่อจีนเรื่องการใช้แรงงานบังคับและค่ายกักกัน แต่หลักฐานหลายชิ้นถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับแหล่งที่มา เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ถูกผลิตโดย องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เหล่านี้
ตัวอย่างเช่น
- รายงานเกี่ยวกับ “การใช้แรงงานบังคับ” ของชาวอุยกูร์ในจีนส่วนใหญ่มาจาก Australian Strategic Policy Institute (ASPI) ซึ่งได้รับเงินทุนจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และบริษัทอุตสาหกรรมอาวุธของตะวันตก
- รายงานของ Uyghur Human Rights Project (UHRP) เกี่ยวกับ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ถูกสนับสนุนโดย NED และทำงานร่วมกับสำนักข่าวของรัฐบาลสหรัฐฯ
และหากสังเกตลึกลงไปอีกเกี่ยวกับการรายงานข่าวอุยกูร์ จะพบว่าสื่อที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังมักเป็น สื่อที่อยู่ในกำกับของรัฐบาลสหรัฐฯ เช่น เริดโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia – RFA) เบนาร์ริวส์ (BenarNews) วอยซ์ออฟอเมริกา (Voice of America – VOA) เป็นต้น
สำหรับในกรณี ไทยส่งตัวอุยกูร์กลับจีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2025 สื่อเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระแสกดดันรัฐบาลไทย โดยเริ่มรายงานข่าวตั้งแต่เดือนมกราคม และพยายามชี้นำให้รัฐบาลไทยตกอยู่ในสภาวะถูกโจมตีจากนานาชาติ
นอกจากนั้น นักการเมืองในไทยบางคน รวมถึง สำนักข่าวบางแห่งที่ขับเคลื่อนประเด็นนี้ภายในประเทศ ก็ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ หรือชาติตะวันตก หรือได้รับทุนสนับสนุน
คำถามสำคัญคือ การขับเคลื่อนประเด็นอุยกูร์ในไทยและในเวทีโลก เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง หรือเป็นการเคลื่อนไหวที่ได้รับแรงผลักดันจากวอชิงตัน?
เหตุใดประเทศมุสลิมไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นอุยกูร์?
แม้ตะวันตกจะโจมตีจีนเรื่องอุยกูร์ แต่ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่กลับ ไม่ได้ออกมาสนับสนุนขบวนการอุยกูร์อย่างเป็นทางการ โลกมุสลิมโดยรวม ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนในประเด็นอุยกูร์ ต่างจากปฏิกิริยาที่มีต่อปาเลสไตน์หรือโรฮิงญา
สาเหตุหลักคือ จีนเป็นพันธมิตรสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศมุสลิมหลายประเทศ
- ตุรกี เคยสนับสนุนขบวนการอุยกูร์ แต่ภายหลังลดระดับการสนับสนุนเพราะต้องการรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน
- ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นพันธมิตรหลักของจีนในด้านพลังงานและการลงทุน
- ในปี 2019 ประเทศมุสลิม 37 ประเทศ รวมถึงซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และปากีสถาน ออกแถลงการณ์สนับสนุนนโยบายของจีนในซินเจียง แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์
เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ขบวนการอุยกูร์บางส่วนมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธ เช่น
- พรรคอิสลามเตอร์กิสถาน (TIP) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์
- ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก (ETIM) ซึ่งถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้าย (แม้จะถูกถอดออกภายหลัง)
ด้วยเหตุนี้ โลกมุสลิมจึงมองว่าประเด็นอุยกูร์ เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของตะวันตกมากกว่าการต่อสู้เพื่อศาสนาและสิทธิมนุษยชน
อุยกูร์: เหยื่อของสงครามข้อมูลข่าวสาร? หรือหมากในเกมมหาอำนาจ?
แม้ว่าจะมีรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของชาวอุยกูร์โดยจีน แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า ขบวนการอุยกูร์หลักได้รับเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึง WUC และองค์กรอื่น ๆ มีความเชื่อมโยงกับหน่วยข่าวกรองตะวันตก และ สื่อที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ล้วนได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตัน ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า นี่คือการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของมหาอำนาจในการเล่นเกมภูมิรัฐศาสตร์?
สำหรับโลกมุสลิม นี่ไม่ใช่คำถามง่าย ๆ ที่จะตอบ เพราะแม้ชาวอุยกูร์จะเป็นพี่น้องมุสลิม แต่ เครือข่ายที่สนับสนุนพวกเขากลับเต็มไปด้วยกลุ่มที่เคยสร้างสงครามและความวุ่นวายในโลกมุสลิมเอง ตั้งแต่ตะวันออกกลางไปจนถึงอัฟกานิสถาน
ท้ายที่สุด ชาวมุสลิมจำนวนมากจึงเลือกที่จะมองประเด็นอุยกูร์ด้วยความระแวดระวัง มากกว่าที่จะเข้าร่วมกระแสต่อต้านจีนตามแนวทางของตะวันตก เพราะสำหรับพวกเขา นี่อาจเป็นอีกหนึ่งแผนการของมหาอำนาจ มากกว่าการต่อสู้เพื่อศาสนาและสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง
ดังนั้น คำตอบของเรื่องนี้ อาจขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองมันจากมุมไหน…
—
โต๊ะข่าวต่างประเทศ เดอะพับลิกโพสต์
—
**อ้างอิง
- https://www.ned.org/2019-democracy-award/world-uyghur-congress/
- http://english.scio.gov.cn/xinjiangfocus/2020-03/05/content_77241200.htm
- https://en.wikipedia.org/wiki/World_Uyghur_Congress
- https://www.uyghurcongress.org/en/steering-committee/
- https://www.youtube.com/watch?v=hNVcK9Ycb7Y
- https://east-turkistan.net/history-of-east-turkistan/
- https://jamestown.org/program/changing-the-guard-at-the-world-uyghur-congress-3/
- https://en.wikipedia.org/wiki/East_Turkistan_Government_in_Exile
- https://www.reuters.com/article/world/saudi-arabia-and-russia-among-37-states-backing-chinas-xinjiang-policy-idUSKCN1UA1FD/