SACIT ผลักดันคนรุ่นใหม่นำแฟชั่นผ้าไทยให้ก้าวไปสู่ระดับโลก ผ่านโครงการ SACIT YOUTH CRAFTS CAMP ด้วย Concept “The Future of Crafts” พร้อมประกาศผู้ชนะเลิศในงาน “Crafts Bangkok 2024”
สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(องค์การมหาชน) หรือ SACIT ได้จัด “Crafts Bangkok 2024” ขึ้นในระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคม ณ ไบเทค บางนา เพื่อต่อยอดอัตลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยสู่เวทีโลก ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านทางหัตถกรรม หัตถศิลป์ ในหลากหลายรูปแบบ โดยงาน “Crafts Bangkok 2024” เป็นงานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยและงานคราฟต์ที่ยิ่งใหญ่แห่งปี โดยมุ่งหวังให้ Sacit. ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้แก่งานหัตถกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากลเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางงานศิลปหัตถกรรมในระดับภูมิภาคอาเซียน และเพื่อขยายตลาดงานศิลปหัตถกรรมให้แพร่หลายและตรงกับรสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคของโลกและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อันจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นำไปสู่การขยายตลาดส่งออกงานหัตถกรรมไทย สอดรับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่มีรูปแบบที่ร่วมสมัยเป็นการแสดงพลังแห่งความมุ่งมั่นของการพัฒนาต่อยอดจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่วงการศิลปหัตถกรรมไทย
โดยในงาน “Crafts Bangkok 2024″ครั้งนี้ งานผ้าไทย ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้งานผ้าของไทยก้าวไปสู่ในระดับสากลมากขึ้น จึงได้จัดให้มี โครงการ SACIT YOUTH CRAFTS CAMP ซึ่งในปีนี้ ใช้ Concept “The Future of Crafts” เพื่อให้คนรุ่นใหม่ทั้งในระดับนิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้เข้าสู่กิจกรรม Camp ที่ให้ความรู้ จนถึงการเริ่มทำชุดของผู้ร่วมโครงการทั้ง 30 ทีม ตลอดระยะเวลาหลายเดือน จนถึงวันตัดสินในวันนี้ การจัดแคมป์ความรู้เพื่อให้ทุกทีมได้ออกแบบ พัฒนาแฟชั่นจากผ้าไทย สร้างสรรค์ให้ออกมาเป็นแฟชั่นที่ทันสมัยและสามารถใช้ได้ในชีวิตจริง เพื่อให้ผ้าไทยของเรา สามารถนำไปต่อยอดออกไปสู่ในระดับแฟชั่นในระดับโลกต่อไป
โดยมีเกณฑ์การตัดสินทั้งหมด 9 ด้าน
เกณฑ์ข้อที่ 1 เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ มีความโดดเด่นของผลงานที่แตกต่างจากผลงานทั่วไป และไม่เคยส่ง เข้าร่วมประกวดที่ไหนมาก่อน
เกณฑ์ข้อที่ 2 ตอบโจทย์หัวข้อการประกวด”The Future of Crafts”
เกณฑ์ข้อที่ 3 การนำผ้าจากสมาชิก สศท. ประเภทเครื่องทอ มาใช้เป็น ส่วนประกอบในการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างสวยงาม และน่าสนใจ
เกณฑ์ข้อที่ 4 นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ด้านการใช้วัสดุและเทคนิคในการจัดทำผลงาน
เกณฑ์ข้อที่ 5 มีความสวยงาม เหมาะสมตามหลักการออกแบบ
เกณฑ์ข้อที่ 6 คุณภาพของผลงานในด้านความประณีต ความเรียบร้อย การใช้วัสดุที่เหมาะสม
เกณฑ์ข้อที่ 7 อรรถประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ในการที่จะสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง มีความทันสมัยใช้งานได้จริง
เกณฑ์ข้อที่ 8 ความเป็นไปได้ในการนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์
เกณฑ์ข้อที่9 ภาพรวมของการนำเสนอผลงานความรู้ทางเทคนิค Collection และความสอดคล้องผ่าน Collection
การตัดสินได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านแฟชั่นเป็นผู้ตัดสิน อาทิ
-รศ. (พิเศษ) ระพี ลีละสิริ Fashion Designer ผู้มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านงานสิ่งทอและหัตถศิลป์ไทย
-รศ.ดร.น้ำฝน ไล่ศัตรูไกล ศิลปินผู้ชำนาญด้านแฟชั่น และสิ่งทอ นักวิชาการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประธานบริหารหลักสูตร สาขาวิชาออกแบบเครื่องแต่งกายและปริญญาเอก สาขา ศิลปะการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
-คุณ เฉลิมเกียรติ คติเกษมเลิศ Creative Fashion Designer ผู้มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี
-คุณเอก ทองประเสริฐ Fashion Designer ผู้เชียวชาญงานออกแบบ เจ้าของแบรนด์ “เอก ทองประเสริฐ”
-คุณหิรัญกฤษฎิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล Designer ผู้ออกแบบชุด ตุ๊กตุ๊กไทยแลนด์ ผู้ชนะรางวัล Grand Prize จากเวที Art of Fashion Design Competition เวที่ประกวดระดับโลก จากเมือง Miami สหรัฐอเมริกา
โดยมี คุณพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(องค์การมหาชน) หรือ Sacit ได้เป็นประธานในการจัดงาน พร้อมทั้งจัดให้มีการแสดงแฟชั่นโชว์โดยเหล่านางแบบ-นายแบบมืออาชีพ นำโดย คุณแนท อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ นางแบบ-นักแสดงชื่อดัง โดยจัดให้มีการแสดงแบบด้วยชุดทั้งหมดที่ผ่านการคัดเลือก มาแสดงแฟชั่นโชว์แก่ผู้เข้าร่วมงาน จนได้รับเสียงปรบมือกึกก้องด้วยความทึ่งและชื่นชมในความสวยงามของผ้าไทย ที่ผ่านการดีไซด์อย่างมีเอกลักษณ์จากเหล่านิสิต นักศึกษา และประชาชน ในทุกๆภาคที่ร่วมส่งผลงานเข้ามาร่วมประกวดครั้งนี้
และผลการตัดสิน ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับรางวัลเงินสด 30,000 บาท รองอันดับหนึ่งได้รับรางวัลเงินสด 10,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล ได้แก่
– รางวัลชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษา ในชื่อผลงานโคนม และผู้ออกแบบคือ อมิตา ทิมอุดม และ อรจิรา จงรักษ์ จาก วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ชื่อผลงาน ชนเผ่า (TRIBE) ชื่อผู้ออกแบบน้ำฝน ก่อสูงสิทธิ์
– รางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป ชื่อผู้ออกแบบ ปุญชรัศมิ์ สาลี ในชื่อผลงาน “รุ่งเรือง” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทบุคคลทั่วไปชื่อผลงานความบันเทิงศิลป์ (Crafts Entertainment) ชื่อผู้ออกแบบนายนภัต ตันสุวรรณ
“Crafts Bangkok 2024″ จากการจัดของ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(องค์การมหาชน) หรือ SACIT เป็นงานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย และ เป็นงานคราฟต์ที่ยิ่งใหญ่แห่งปี โดยจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ตั้งแต่วันที่ 24-28 สิงหาคม ตลอด 5 วัน ซึ่งคาดการณ์กันว่า งาน “Crafts Bangkok 2024”ในปีนี้ จะสามารถสร้างเม็ดเงินให้สะพัดกว่า 150 ล้านบาทแน่นอน