ถอดรหัสแผนยุทธศาสตร์ชาติ “กลไกพิเศษ” คุมรัฐบาลเลือกตั้ง 20 ปี

“เขาอยากอยู่ยาว” เป็นบทสรุปสั้นๆ จาก “ดร.ปื๊ด-บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อดีตประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีข้อแนะนำจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) “ข้อ 16”   ที่มีไปถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และขยายความจาก “บิ๊กจิ๋ว-พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ”  ที่ว่า จำเป็นต้องมี “กลไกคุมเปลี่ยนผ่าน 5 ปี”  ทำให้วงการเมือง “ตาเหลือก” เพราะเป็นครั้งแรกที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมากล่าวตัวเลขชัดๆ เท่ากับการเมืองปกติของไทยจะปิดเทอมยาว จาก 2557-2565 กันเลย ซึ่งนอกจากการ “เปลี่ยนผ่าน 5 ปี” แล้ว รัฐบาลและคสช.ยังมี “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่ง “กลไก” ในการรองรับแผนการอยู่ยาว

“สัญญาณ” ให้มีกลไกการเปลี่ยนผ่านอำนาจถูกส่งมาจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะผู้บัญชาการฝ่ายบริหาร และพรรคพวกในทำเนียบรัฐบาลช่วยกันตีปี๊บอย่างต่อเนื่อง

สัญญาณกลไกพิเศษที่คุมการเปลี่ยนผ่าน ถูกแปลงเป็นลายลักษณ์อักษรไปถึงมือของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 16 ข้อ ใจความสำคัญอยู่ในข้อ 16 ให้มีรัฐธรรมนูญ 2 ขยัก เพื่อบรรจุในบทเฉพาะกาล คุมการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในช่วงแรกอย่างน้อย 5 ปี

ขณะที่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม พี่ใหญ่แห่งค่ายบูรพาพยัคฆ์ ขยายความข้อ 16 ว่า “จะมีบทเฉพาะกาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ตามเจตนารมณ์ คสช.ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เป็นการวางกรอบกว้าง ๆ ไม่ได้เป็นการกำหนดเจาะจง”

แม้ยังไม่มีคำตอบจากทีมงาน “มีชัย” ว่าจะออกแบบกลไก เปลี่ยนผ่านอย่างไร เพราะว่าตามรูปการณ์แล้ว ไม่อาจรับรู้ได้มากนัก ต้องรอแบให้เห็นหลังจาก ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเสร็จสมบูรณ์แล้วเท่านั้น แต่สัญญาณที่ออกมาก่อนก็คือ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” และ  ส.ว.ที่มาจากการสรรหาทั้งหมด รวมทั้งการเปิดทางให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ “นายกฯ คนนอก” เป็นต้น ซึ่งบางเรื่องดังกล่าว เริ่มเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้น ในทำนองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำลังจะไม่ยอมวางมือ ต้องการรักษาอำนาจหรือ “ลากยาว” ออกไปอย่างน้อยก็อีก 5 ปี

เรื่องดังกล่าวที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์ในอดีตถือเป็นเรื่องอ่อนไหวมาตลอด โดยเฉพาะสำหรับรัฐบาลทหารที่มาจากการก่อรัฐประหารที่จบไม่สวยมาแล้วหลายชุด เช่นในอดีต การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2519 หลังการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของ “พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่” ยึดอำนาจ “รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” ฉีกรัฐธรรมนูญ 2517 พร้อมแต่งตั้ง “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” เป็นรัฐมนตรี มีการโปรดเกล้าฯก่อนเขียนกลไกขึ้นมากำกับทิศทางการทำงานรัฐบาลเป็น 3 ระยะ ต่อเนื่องถึง 12 ปี จน “รัฐบาลธานินทร์” ถูกตั้งฉายาว่า “รัฐบาลหอย”

แต่แล้วรัฐบาลธานินทร์ ก็ถูก “พล.ร.อ.สงัด” เข้ายึดอำนาจซ้ำ ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 และตั้ง “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” ขึ้นเป็นนายกฯ พร้อมกับเขียนธรรมนูญการปกครอง ปี 2520 ขึ้นมาบังคับใช้ แผนการปิดประเทศเพื่อระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 12 ปี จึงถูกยกเลิกตามไปด้วย!

สำหรับในยุคของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่มีความต้องการให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่

โดยในร่างรัฐธรรมนูญในยุคที่มี “บวรศักดิ์” นั่งเป็นประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญนั้นได้ “ปั้น” แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สอดรับคำสั่งผู้นำประเทศตั้งแต่ยุคสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  ได้ตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ” (คปป.) ขึ้นมารับผิดชอบด้านปฏิรูปประเทศ และการปรองดอง

แต่ก็ “ไปไม่รอด” เมื่อ คปป.ถูกรุมถล่มอย่างหนักหน่วง จากทั้งแวดวงวิชาการ นักการเมืองอาชีพ โดยข้อกล่าวหาที่แก้ไม่ได้คือ กำลังพยายาม “ต่อท่อ” อำนาจ เพราะองค์ประกอบ คปป. มีทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผบ. 3 เหล่าทัพ บก เรือ อากาศ รวมถึง ผบ.ตร. และยังมอบดาบให้ คปป. ดำเนินการป้องกันและระงับความขัดแย้ง ความ

รุนแรง หรือการขัดขวางการปฏิรูป หรือการสร้างความปรองดอง รวมถึง “ครอบงำ” ด้านการบริหารประเทศและในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถทำตามแผนยุทธศาสตร์ได้ ให้ คปป.ทบทวนแผนปฏิรูป หากยืนตามด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 คณะรัฐมนตรีต้องทำตามแผนที่ คปป.กำหนด พร้อมกับอายุของ คปป.ที่อยู่ยาว 5 ปี พอพ้นระยะ 5 ปี จึงจะส่งไม้ต่อให้ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ”  ที่จะตั้งขึ้นมาภายหลัง คปป.พ้นอำนาจ สุดท้าย คปป.ก็เป็น “ชนวน” ที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ “ถูกคว่ำ”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า สปช.จะถูกโละพ้นไปจากแม่น้ำ 5 สาย ไปพร้อม ๆ กับการ “คว่ำ” รัฐธรรมนูญ ฉบับบวรศักดิ์ แต่แผนการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยังคงอยู่ และนำมาปัดฝุ่นใหม่โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี “พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ” เป็นหัวขบวนจัดทำร่าง “พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ..” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เป็นสปช.และได้กลับมาเป็น สปท.แล้วได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะเป็นผู้ทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงกลับขึ้นมากลายเป็น “หัวใจ”แผนที่จะ “ฝังราก” ไปถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง

หลังมีเสียงวิพากษ์อย่างหนักต่อเรื่องดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดาหน้าออกมาอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องมี พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะ “คนชง”  อย่าง พ.ต.ต.ยงยุทธที่ต้องออกมาระบุว่า การมีพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติก็เพื่อ ต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง โดยแผนยุทธศาสตร์ชาติจะครอบคลุมระยะเวลา 20 ปี

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นกฎหมายที่ “ควบคุม”  การทำงานของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อนั้น ขอชี้แจงว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติจะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ในทุกๆ 5 ปี และหากมีสถานการณ์ที่กระทบต่อยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีนัยยะสำคัญก็สามารถปรับ แก้ไขได้

ที่หลายฝ่ายกังวลว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะเข้ามามีอำนาจ “ครอบ” รัฐบาลนั้น ขอชี้แจงว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินั้นไม่มีอำนาจในตัวเอง มีหน้าที่เพียงเข้าไปติดตาม ตรวจสอบ และเตือนเมื่อรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์เท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิไปลงโทษใคร หากทำแล้วผิดร้ายแรง ถ้าเป็นฝ่ายการเมืองก็ต้องส่ง

เรื่องไปที่วุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอน และหากเป็นข้าราชการก็ต้องส่งเรื่องไปที่ ครม. หากทำผิดฐานทุจริตต้องส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช.  ทั้งนี้ผู้ที่จะทำหน้าที่ประเมินว่าการกระทำใดผิดร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงก็ คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเอง หากแต่ในมุมมองของนักวิชาการ และนักการเมืองเห็นว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวนี้จะมีอำนาจเหนือรัฐบาล เหนือรัฐสภา และที่สำคัญในช่วงการเลือกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชุดแรกที่มีอายุยาวถึง 8 ปี ได้ให้อำนาจ สนช.ที่ถือกำเนิดจาก คสช.เป็นองค์กรเลือก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการ “สืบทอดอำนาจ”  ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ส่งสัญญาณชัดเจนในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีต้องเป็นประชาธิปไตย “ครึ่งใบ”

รูปการณ์เช่นนี้มันช่างหมดสอดคล้องกันที่จะมองเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากมีเจตนาลายาวและสืบทอดอำนาจของคณะยึดอำนาจเมือพฤษภาคม 2557 ภายใต้การสืบทอดภารกิจ

“ปฏิรูปประเทศไทย”!!.