นักวิชาการซัด!! ไทย “ไม่ควร” ร่วมงานเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเยรูซาเล็ม

33 ประเทศที่ยืนยันเข้าร่วมพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯในกรุงเยรูซาเล็มครั้งนี้ และในจำนวนนี้มี “ประเทศไทย” รวมอยู่ด้วย / กราฟฟิก อัลจาซีรา

ดร.มาโนชญ์ อารีย์ หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้เหตุผลอย่างน้อย 5 ข้อ ที่ประเทศไทยไม่ควรไปร่วมงานเปิดสถานทูตสหรัฐฯในกรุงเยรูซาเล็ม

สหรัฐอเมริกาได้เปิดสถานทูตอย่างเป็นทางการในกรุงเยรูซาเล็มท่ามกลางการประท้วงอย่างรุนแรงของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์

การย้ายสถานทูตไปยังเยรูซาเล็มในวันจันทร์ ที่ 15 พ.ค. 61 วานนี้ เป็นไปตามการตัดสินของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ในเดือนธันวาคม ปี 2017 ที่ประกาศรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และจะย้ายสถานทำการทางการทูตของสหรัฐฯ จากเทลอาวีฟไปยังเมืองแห่งนี้

การประกาศดังกล่าวของทรัมป์นำมาซึ่งการประณามอย่างกว้างขวางจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยในที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาชาติสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการรับรองของสหรัฐฯ

ประเทศส่วนใหญ่ระบุว่า สถานะของกรุงเยรูซาเล็มซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิว มุสลิม และคริสเตียน ควรได้รับการตัดสินในข้อตกลงสันติภาพครั้งสุดท้าย และการย้ายสถานทูตของสหรัฐฯ ตอนนี้จะเป็นการตัดสินล่วงหน้าต่อข้อตกลงดังกล่าว

ดร.มาโนชญ์ อารีย์ หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ / ภาพจาก http://soc.swu.ac.th

อัลจาซีรารายงานอ้างกระทรวงต่างประเทศของอิสราเอลระบุว่า ทั้ง 86 ประเทศที่มีภารกิจทางการทูตในอิสราเอลได้รับเชิญให้ไปร่วมพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯในกรุงเยรูซาเล็มครั้งนี้ โดยมี 33 ประเทศยืนยันเข้าร่วมพิธี และในจำนวนนี้มี “ประเทศไทย” รวมอยู่ด้วย

ซึ่งกรณีนี้ ดร.มาโนชญ์ อารีย์ นักวิชาการมุสลิม และหัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวไม่เห็นกับท่าทีดังกล่าวของไทย โดยระบุว่า

ประเทศไทยไม่ควรไปร่วมงานเปิดสถานทูตสหรัฐฯในเยรูซาเล็มเลยจริง ๆ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 5 ข้อ

1. การย้ายสถานทูตสหรัฐฯไปเยรูซาเล็มและรับรองเป็นเมืองหลวงนั้นละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

2. ไทยเองก็โหวตค้านสหรัฐฯ ร่วมกับประชาคมโลกในเวทีสหประชาชาติมาก่อนหน้านี้ การไปร่วมจึงเท่ากับไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน

3. ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ไปร่วม ยกเว้นพม่าและฟิลิปปินส์ (ในการโหวตค้านสหรัฐฯกรณีสถานะของเยรูซาเล็มใน UN ครั้งก่อน พม่าไม่ได้เข้าร่วม ฟิลิปปินส์งดออกเสียง แต่ไทยโหวตสวนสหรัฐฯ )

4. พิธีเปิดและการเฉลิมฉลองดำเนินไปคู่ขนานกับการสุ่มยิงชาวปาเลสไตน์ที่ประท้วงในเขตกาซ่า บางสำนักข่าวใช้คำว่าสังหารหมู่ เหมือนเดินข้ามศพและรอยเลือดเพื่อไปร่วมเป็นเกียรติในพิธี

5.เราไปร่วมในพิธีที่ทั่วโลกกำลังประณามและคัดค้าน โดยเฉพาะโลกมุสลิมที่รู้สึกว่าโดนสหรัฐฯหักหลัง

“เราไม่ควรอ้างเหตุผลความจำเป็นเพียงเพราะว่าทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯ เป็นมิตรประเทศกับเราหรือมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกันอยู่ อย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกที่มีระเบียบกติกาสากลและมีมิตรสหายอีกจำนวนมากกว่า 190 ประเทศที่ต้องคบหากัน การดำเนินนโยบายทางการทูตนอกจากผลประโยชน์แล้วต้องมีความสง่างามด้วยครับ” ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ระบุ

ทั้งนี้ หลังการย้ายสถานทำการทางการทูตของสหรัฐฯ จากเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเล็มแห่งนี้ ประชาชนชาวปาเลสไตน์ได้ออกมาประท้วงจำนวนมาก และจนถึงขณะนี้กองกำลังอิสราเอลได้สังหารผู้ประท้วงไปแล้วจำนวน 59 รายซึ่งรวมถึงเด็กอายุตำ่กว่า 18 ปี อาร์ทีรายงาานอ้างข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์

ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บมีจำนวนสูงถึง 2,771 คน โดยกว่าครึ่งบาดเจ็บจากกระสุนปืน ขณะที่อีกหลายร้อยบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา

การถูกสังหารล่าสุดของชาวปาเลสไตน์เมื่อวานนี้ เมื่อนับรวมกับผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิกลับคืนมาตุภูมิวึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 6 สัปดาห์ก่อน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดพุ่งถึง 103 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้องคลิ๊ก : ก.ต่างประเทศแถลงโต้ ไทยไม่ได้เข้าร่วมงานเปิด “สถานทูตสหรัฐ” ในเยรูซาเล็ม