ฮาร่า ชินทาโร่ มองการเมืองไทย สุเทพสร้างปัญหามากกว่าแก้ ส่วนรัฐบาลจะไปไม่รอดถ้ายังทำเพื่อแม้ว

อาจารย์ฮาร่า ชินทาโร่

14 ปีกับการใช้ชีวิตในปัตตานีของชายคนนี้ อาจารย์ฮาร่า ชินทาโร่ (HARA SHINTARO) อาจารย์สอนวิชาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ที่ใครๆ เรียกว่า  “อาจารย์ชินทาโร่” ชายชาวญี่ปุ่นขนานแท้ ที่หลงรักภาษามลายู เข้ารับอิสลามมาสิบกว่าปี และยังใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในปัตตานี

อ.ชิน ทาโร่ ชาวโตเกียว เริ่มจากการเรียนรู้ภาษามลายู ที่มหาวิทยาลัยเคโอะ (keio) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเพราะเป็นภาษาที่น่าสนใจ มีคนเรียนน้อย จากนั้นไปเรียนต่อสาขามลายูศึกษาที่ University Malaya ประเทศมาเลเซีย และรับอิสลามที่มาเลเซีย เขาศึกษาเรื่อง การเปรียบเทียบภาษามลายูกลางกับภาษามลายูถิ่นปาตานี โดยมาวิจัยข้อมูลในปัตตานี 4 เดือน แล้วกลับไปมาเลเซียอีก 1 ปี จากนั้นกลับมาอยู่ปัตตานีอีกครั้งจนถึงทุกวันนี้ โดยปัจจุบันอ.ชินทาโร่ ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการของม.อ.ปัตตานี

การ เข้ามาใช้ชีวิตตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุความไม่สงบเป็นความสวยงามที่อ.ชินทาโร่ บอกว่า ปัตตานีเป็นเมืองที่น่าอยู่มาก แม้ขณะนี้จะมีเหตุเกิดขึ้นแต่ยังอยู่ได้ โดยต้องอยู่ให้เป็นและปลอดภัย ตั้งใจอยู่ที่นี่ไปตลอด

“เรา มีหน้าที่ การงานในสังคมที่นี่ อยากช่วยที่นี่ให้มีความแข็งแรง อยากเป็นหนึ่งแรงที่ช่วยขับเคลื่อนสันติภาพที่สำคัญ ตอนนี้ยังฝึกฝีมืออยู่ ให้สังคมที่นี่มีความเข้มแข็งและแข็งแรงมากขึ้น”

อ.ชินทาโร่ มีความคิดเห็นต่อการเมืองของไทยในช่วงนี้และมุมมองต่อแต่ละฝ่ายที่กำลังต่อสู้กันว่า

“ผม เห็นด้วยกับการชุมนุมทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ของส่วนรวม แต่วิธีการของคุณสุเทพสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ซึ่งเริ่มต้นมาดีจากเรื่องต้านนิรโทษกรรม แต่การเรียกร้องถึงตอนนี้ได้เปลี่ยนไปเรื่อย การแสดงจุดยืนที่ไม่ยอมเจรจา ไม่ประนีประนอม ปิดประตูด้วยท่าทีแข็งกร้าว วิธีนี้สร้างความเสียหายต่อประชาชนและประเทศอย่างใหญ่หลวง สื่อต่างประเทศก็มองว่ากรุงเทพฯถูกยึดโดยพวกต่อต้าน Democracy ภาพลักษณ์ของไทยเสียหายไปแล้วทุกด้าน ซึ่งประเมินค่าความเสียหายเป็นตัวเงินไม่ได้ ที่เห็นชัดคือคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ”

DSC_0325

ด้านฝ่ายรัฐบาล อ.ชินทาโร่ให้ความเห็นว่า เป็นความไม่ฉลาดของรัฐบาลและต้องปรับปรุงขนานใหญ่

“ตราบ ใดที่ยังทำเพื่อแม้ว รัฐบาลนี้ก็ไปไม่รอด โดยเฉพาะเรื่องนิรโทษกรรมที่ทำโดยพรรคเพื่อแม้ว รวมทั้งทำในเรื่องที่เพื่อประโยชน์ทักษิณทุกอย่าง ประชาชนก็รับไม่ได้อยู่แล้ว ต้องปรับปรุงในหลายเรื่องมาก อีกทั้งโครงสร้างอำนาจของไทยมีความซับซ้อนพอสมควรมากกว่าประเทศที่มี ประธานาธิบดี ไทยมีหลายขั้วหลายขามาโยงใยกันไปหมด ยากที่จะให้คนใดคนหนึ่งรับผิดชอบ เป็นโครงสร้างที่แปลก ควรจะปฏิรูปโครงสร้างอำนาจก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ความเป็นประชาธิปไตยของไทยยังน้อยมาก ทั้งที่ในระบอบประชาธิปไตยเสียงของประชาชนมีอำนาจมากที่สุด แต่ในปัจจุบันไม่มีเสียงของประชาชนพอสมควร”

อ.ชิน ทาโร่บอกว่าความขัดแย้งทางความคิดนำไปสู่ความรุนแรงได้ การประนีประนอม การรับฟังกันและกันไม่ใช่การเสียศักดิ์ศรี เป็นการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้คิด หาจุดร่วม และการยอมรับดีกว่าการถืออาวุธและใช้ความรุนแรง การมีเวทีกลางที่คุยกันและคนกลางที่ช่วยไกล่เกลี่ยคือทางแก้ของปัญหานี้ การแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงและความเสียหายต้องใช้สันติวิธี

“ดี ที่ยังมีการเกรงใจประชาชนอยู่ ยังไม่มีการปราบปราม เป็นพัฒนาการที่สำคัญมากและหวังว่าคงไม่เกิดขึ้น ให้แก้ปัญหานี้โดยปราศจากความเสียหาย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการเปิดไฟเขียวให้ทหารออกมายึดอำนาจ แต่การใช้ระเบิดและมีคนเสียชีวิตเป็นการกระทำที่เลวร้ายที่สุด มีเป้าหมายของฝ่ายหนึ่งที่ใช้ความรุนแรง

ส่วน การมีเวทีของแต่ละฝ่ายทำให้มีการพูดต่อสาธารณะออกมาโดยคำพูดโจมตีอีกฝ่าย อย่างไม่ยั้งคิดบวกกับการสื่อสารที่เร็วมากในโลกโซเชียลและการติดตามของ สื่อมวลชนที่นำเสนออย่างต่อเนื่อง ทำให้คำพูดที่สื่อออกไปถึงผู้ฟังผู้ชมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน การจัดเวทีด่ากันไปมาไร้ประโยชน์ทั้งสิ้น แบ่งพรรคแบ่งพวกอย่างชัดเจน ทั้งที่คนที่ขึ้นเวทีพูดของแต่ละฝ่ายต่างมีความรู้ความสามารถกันทั้งสิ้น อยากให้คิดว่าสิ่งที่พูดออกไปมีผลกระทบกับสังคม ควรคิดก่อนพูด รู้จักกาลเทศะเพราะการพูดในที่สาธารณะต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่พูดออกไป ต้องมีกติกาเหมือนมวย ไม่เป็นวาทกรรมที่เป็นเชื้อเพลิงหรือทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น”

“คน ที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายสุเทพหรือร่วมจุดเทียน ต้องเคารพสิทธิของแต่ละคน เป็นไปไม่ได้ที่ในแต่ละสถาบันที่แต่ละคนสังกัดจะมีความเห็นเหมือนกันร้อย เปอร์เซ็นต์ จึงไม่ควรเอาชื่อของสถาบันไปกล่าวว่าที่โน่นที่นี่สนับสนุน ควรไปในนามของแต่ละคน ไม่ต้องอ้างชื่อของสถาบันที่สังกัด รวมทั้งสถานการณ์แบบนี้ทำให้บางคนไม่คิดอะไร แต่คิดตามภูมิภาคว่าถ้าอยู่อีสานต้องสนับสนุนฝ่ายแดง อยู่ทางใต้ต้องหนุนสุเทพ”

สำหรับ คนในพื้นที่ชายแดนใต้กับการเมืองขณะนี้ อ.ชินทาโร่ให้ความเห็นว่า “การเมืองที่กรุงเทพฯ ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่ของคนมลายู ไม่ใช่ประเด็นของคนที่นี่ แต่เราไม่ปฏิเสธสิทธิของเรา คนในชายแดนใต้แสดงสีเสื้อชัดเจนน้อยมาก ใครไปร่วมก็เป็นสิทธิของเขา แต่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งตามสิทธิที่พึงมี”