กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน รณรงค์ล้างส้วมทั่วไทย 1-7 เมษายน 2558 สะอาด ปลอดภัยจากเชื้อโรค รับวันสงกรานต์ โดยเฉพาะส้วมสาธารณะ 12 แห่ง อาทิ ปั้มน้ำมัน ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว เผยสำรวจพบว่าประชาชนให้ความสำคัญความสะอาดส้วมสาธารณะสูงถึงร้อยละ 86 ชี้ 7 จุดเสี่ยงในส้วมที่พบมีเชื้อโรคสะสมมากที่สุดอันดับ 1 คือที่จับสายฉีดน้ำชำระ ร้อยละ 85 รองลงมาคือ พื้นห้อง ที่กดน้ำโถส้วมชาย เร่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศประเมินส้วมในปั๊มน้ำมัน และ ส้วมที่ผ่านมาตรฐาน HAS จะบันทึกลงในแผนที่ดิจิตอล ให้ผู้เดินทางเลือกใช้อย่างสบายใจ
วัน นี้(1 เมษายน 2558) ที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเสวนาเรื่อง “การรณรงค์ล้างส้วมพร้อมกัน…รับวันสงกรานต์” ร่วมกับ นางกอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒนวรางกูลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมลงนามความร่วมมือพัฒนาส้วมสาธารณะให้สะอาด ได้มาตรฐาน เพียงพอสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว ส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง รวมถึงพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีให้สะอาด ถูกสุขอนามัย ปลอดภัย ส่งสริมการลด/เลิกใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร และให้ร้านจำหน่ายอาหาร ใช้น้ำแข็งบริโภคที่สะอาด ผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน ป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะกล่าวว่า รัฐบาลกำหนดให้ปี 2558 เป็นปีการท่องเที่ยววิถีไทย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่าง ชาติ เดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ทั้งกทม.และต่างจังหวัดไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน กระทรวง สาธารณสุขมีนโยบายยกระดับความสะอาดระบบสุขาภิบาล โดยเฉพาะส้วมสาธารณะต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวอย่างมีความสุข โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาและกทม.รวมทั้งภาคีหน่วยงาน รัฐเอกชนรณรงค์ทุกจังหวัดทั่วประเทศล้างทำความสะอาดส้วมสาธารณะในสถานที่ เป้าหมาย 12ประเภท พร้อมกันวันที่ 1-7 เมษายน 2558 ทั้งนี้เนื่องจากผลจากของกรมอนามัย พบว่า ประชาชนให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดมากเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 86 แสดง ว่าหากส้วมสาธารณะสะอาดจะช่วยให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในเรื่องสุขภาพอนามัย ยิ่งขึ้น และไม่กลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงประเทศ
ศ.นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อว่า ส้วมสาธารณะ ที่มีคนใช้ร่วมกันเป็นจำนวนมาก โอกาสที่จะติดเชื้อโรคจะมีมากขึ้นโดยเฉพาะเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของโรค อุจจาระร่วงและโรคตาแดง เนื่องจากผลการทดสอบการปนเปื้อนของอุจจาระในห้องส้วมสาธารณะ 7 จุด พบว่าจุดที่พบเชื้อโรคมากที่สุดได้แก่ที่จับสายฉีดน้ำชำระ ร้อยละ 85 รองลงมาคือพื้นห้องส้วม ร้อยละ 50 ที่รองนั่งโถส้วมชนิดนั่งราบ ร้อยละ31 ที่กดน้ำโถส้วม และโถปัสสาวะชาย พบร้อยละ 8 เท่ากัน ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือร้อยละ 7 และที่กลอนประตูหรือลูกบิดภายในร้อยละ 3 ดังนั้นการทำความสะอาดจะเป็นการตัดวงจรเชื้อโรค ช่วยให้ส้วมสาธารณะสะอาด ปลอดเชื้อโรค
ทางด้านนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการพัฒนาส้วมสาธารณะไทยตามนโยบายที่ผ่านมา ซึ่งเน้นหนักใน 12 สถานที่ได้แก่ 1.สถานศึกษา 2.สถานที่ราชการ 3.โรงพยาบาล 4.ศาสนสถาน 5.สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 6.แหล่งท่องเที่ยว 7.สวนสาธารณะ 8.ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า 9.ร้านจำหน่ายอาหาร 10.ตลาดสด 11.สถานีขนส่งทางบก/ทางอากาศ และ12.ส้วมสาธารณะริมทาง ให้ได้มาตรฐานแฮส(HAS) คือ 1.สะอาด(Health) ถูกหลักสุขาภิบาล ไม่มีกลิ่นเหม็น มีวัสดุอุปกรณ์บริการครบถ้วน เช่น น้ำสะอาด สบู่ล้างมือ กระดาษชำระ 2.เพียงพอ(Accessibility) ทั้งประชาชนทั่วไป และผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาส และ3.ปลอดภัย(Safety) ขณะ ใช้ส้วม เช่น สถานที่ตั้งส้วมไม่เปลี่ยว แยกเพศชายหญิง มีแสงสว่างเพียงพอ ขณะนี้มีส้วมสาธารณะที่ผ่านมาตรฐานแล้วร้อยละ 70 ส้วมสาธารณะที่ประชาชนเลือกใช้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ปั๊มน้ำมันร้อยละ 46 แหล่งท่องเที่ยวร้อยละ 39 และสถานีขนส่งทางบกและทางอากาศร้อยละ 37โดยได้ มอบหมายให้กรมอนามัยร่วมกับบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ปรับปรุงส้วมในปั๊มน้ำมัน ปั้มแก๊สทั่วประเทศทั้งบนถนนสายหลักและสายรองให้ได้มาตรฐาน และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศตรวจประเมิน หากผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จะได้รับป้ายส้วมสะอาด ได้มาตรฐาน หรือแฮปปี้ ทอยเล็ต (Happy Toilet) ให้ประชาชนเลือกใช้ โดยได้บันทึกข้อมูลลงบนแผนที่ดิจิตอล (GPS navigator) ขณะนี้มีแล้ว 855 แห่ง อย่างไร ก็ตาม ประชาชนสามารถป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ โดยยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง และที่สำคัญที่สุด คือ ล้างมือ เนื่องจากมือเป็นอวัยวะเริ่มต้นที่สัมผัสสิ่งต่างๆ รวมทั้งเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายเราด้วย ดังนั้นหลังจากเข้าห้องส้วม ควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วมือ หลังมือ และข้อมือ เพราะเป็นจุดที่คนส่วนใหญ่ละเลยล้าง นอกจากนี้ควรมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะด้วย คือ ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุอื่นนอกจากกระดาษชำระลงโถส้วม และราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม ทั้งหมดนี้จะสามารถลดการแพร่เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ตนเองและผู้อื่นได้ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี2558 เป็นต้นไปกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกทม.ยกระดับมาตรฐานและพัฒนาความสะอาด 4 จุด ใหญ่ คือ ส้วมสาธารณะ ร้านอาหารริมบาทวิถีการลดการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารและรณรงค์ให้ร้านอาหารใช้ น้ำแข็งบริโภคที่ผลิตจากโรงงานที่มาตรฐานอย.เพื่อสุขภาพดีของผู้บริโภค