ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์พระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่าน และสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน
คดีวิสามัญฆาตกรรมเยาวขนจำนวน 4 ศพ ที่บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี มิใช่เป็นเรื่องธรรมดา มิใช่เป็นเรื่องเล็กอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้นแล้วทั้งรัฐบาล กองทัพบก กองทัพภาคที่ 4 จะไม่มีฉันทานุมัติให้ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวขึ้นมาในจณะที่ผลการสอบสวนปรากฏแล้วเมื่อ 7เมษายนที่ผ่านมา
นายเถกิงศักดิ์ ยศสิริ รอง ผวจ.ปัตตานี ในฐานะประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริง พร้อมคณะกรรมการอีก 13 คน ร่วมแถลงผลการสอบข้อเท็จจริง
นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี 1 ในกรรมการ อ่านผลสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ อาทิ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. พล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงค์ ผบก.ภ.จว.ปัตตานี สื่อมวลชนทุกแขนง และญาติของผู้เสียชีวิตมาร่วมรับฟังจำนวนมาก ซึ่งสรุปเป็น 3 ประเด็นคือ
1.ผู้ตายทั้ง 4 คนเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา หรือเป็นกลุ่มก่อเหตุรุนแรง หรือแนวร่วมหรือไม่
2.การริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ถูกต้องและสมเหตุผลหรือไม่
3.การวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาวุธปืนรวมทั้งวัตถุระเบิดของกลางเป็นของผู้ตายหรือไม่
ผู้ตายทั้ง 4 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ประกอบด้วย นายคอลิด สาแม็ง นายมะดารี แมเราะ นายซัดดำ วานุ และ นายซูไฮมี เซ็นและ โดยตรวจพบอาวุธปืนและวัตถุระเบิดจำนวนหลายรายการตกอยู่บริเวณศพผู้ตายทั้ง 4 คน
ในชั้นนี้กรรมการมีความเห็นว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คนไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรง และไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มก่อเหตุ
แต่จุดเริ่มต้นของการปิดล้อมครั้งนี้ชอบด้วยเหตุผลในการปฏิบัติการ
ส่วนประเด็นการวิสามัญฆาตกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นหน้าที่การแสวงหาพยานหลักฐานในชั้นกระบวนการยุติธรรมและอาวุธปืนของกลางไม่ใช่ของผู้ตายตั้งแต่ต้น
โดยคณะกรรมการมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเยียวยาและมาตรการแก้ไขป้องกัน ดังนี้
1.คดีนี้ก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำจึงต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม และทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการให้ความคุ้มครองพยาน
2.กรณีที่เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย 4 คน จึงเห็นสมควรเสนอให้มีการเยียวยาตามระเบียบโดยเร็ว
พล.ท.ปราการ แม่ทัพภาคที่ 4 แถลงข่าวในทันทีว่า…ในห้องนี้ไม่ได้มีหลายฝ่าย มีเพียงแค่ฝ่ายเดียวเท่านั้น คือฝ่ายที่มุ่งแสวงหาสันติสุข…วันนี้เกิดเรื่องวิกฤต แต่ผมเชื่อว่าเราที่อยู่ในห้องนี้จะช่วยก้าวข้ามกับวิกฤตที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยความจริงใจและความจริงจัง ในกรอบของสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ผมน้อมรับข้อพิจารณาข้อแนะนำของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกท่าน เป็นพระคุณอย่างยิ่งและจะนำไปปฏิบัติในพื้นที่เพื่อให้เกิดผลที่ดี ผมกราบเรียนว่า แม้แต่ผู้ที่เห็นต่างหรือผู้ที่ก่อเหตุความรุนแรง วันนี้เราได้ใช้แนวทางสันติในการปฏิบัติ 4 ครั้งที่ผ่านมา ผมได้รับปากกับคณะกรรมการสภาอุลามาอฺฟาฏอนีย์ว่า การปฏิบัติการเจ้าหน้าที่จะต้องมีความอดทนถึงที่สุดในการควบคุมตัวเอง ซึ่งเราใช้และประสบความสำเร็จมาแล้ว 4-5 ครั้งที่ผ่านมา…ขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งมีความรุนแรงที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้มอบหมายให้ ขออภัยต่อพี่น้องประชาชน ขออภัยต่อผู้ที่เป็นญาติของพี่น้องผู้สูญเสีย ขออภัยต่อท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ขออภัยนะครับ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น จะนำไปแก้ไข
หลังคำขออภัย ประชาชนได้จับตาว่าจะมีผลในทางปฏิบัติอะไรเกิดขึ้นตามมา หรือไม่?(โปรดดู ที่มา:มติชนรายวัน 9 เมษายน 2558http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1428564602)
ที่สำคัญอาวุธปืนของกลางที่แถลงว่าไม่ใช่ของผู้ตายตั้งแต่ต้นนั้นจะรอเวลานานแค่ไหนที่จะแถลงว่าเป็นของใคร
ข้อเสนอแนะต่อรัฐหลังเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นบทเรียนการใข้กฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือของรัฐในการใช้ปราบปรามจับกลุ่มกับผู้กระทำความผิดที่เป็นอาชญากรทางสังคมน่าจะถูกทบทวนอย่างจริงจังในรัฐบาลทหารที่มีอำนาจเต็ม
ข้อสังเกตกล่าวคือในสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่การต่อสู้ทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว ซึ่ง 10 ปีมาแล้วที่ฝ่ายรัฐใช้กฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือที่น่าจะผิดในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ เพราะบุคคลที่ต่อสู้มีเหตุผลจูงใจหลายอย่าง แต่เมื่อถูกควบคุมตัวแล้วก็มักจะถูกบังคับให้รับสารภาพทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นกลไกของรัฐยังไม่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมตรงนี้ได้
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้, ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา
E-mail : shukur2003@yahoo.co.uk