ในวันพุธ 12 มิ.ย. สมาชิกองค์กรอัลบาเกี๊ยะอ์ (Al Baqee Organisation) จากชุมชนมุสลิมชีอะห์ ได้ประท้วงในกรุงนิวเดลี โจมตีรัฐบาลซาอุดิอาระเบียที่ทำลายอย่างเป็นระบบต่อมรดกทางศาสนาอิสลามที่ยูเนสโกให้การคุ้มครอง รวมถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพในประเทศนี้ สำนักข่าว ANI ของอินเดียรายงาน
ผู้ประท้วงเรียกร้องให้มีการบูรณะสุสานยันนาตุลบาเกี๊ยะอ์ (Jannatul-Baqi) ขึ้นมาใหม่ หลังถูกทำลายราบคาบเมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี 1925 โดยผู้ปกครองประเทศซาอุดิอาระเบีย
ถ้านับตามปฏิทินอิสลาม วันที่ 8 เดือนเชาวาล คือวันที่ซาอุฯ ทำลายสุสานบาเกี๊ยะอ์ ซึ่งเมื่อวาน (วันพุธ 12 มิ.ย.) ถือเป็นวันครอบบรอบ 94 ปี แห่งการทำลายมรดกทางศาสนาอิสลามแห่งนี้
ดร.อาลี ตาฮา นักวิชาการมุสลิมชาวอินเดีย บอกกับสำนักข่าว ANI ว่า “ตามปฏิทินอิสลาม ในวันนี้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ทำลายสุสานยันนาตุลบาเกี๊ยะอ์”
“เราได้ประท้วงมาหลายปีเพื่อเรียกร้องให้สร้างมาขึ้นใหม่ เราเชื่อว่ารัฐบาลอินเดียจะส่งข้อความของเราไปยังซาอุดิอาระเบีย” เธอกล่าว
ด้านอิหม่ามมุหซิน ตักวี (Mohshin Taqvi) กล่าวกีบ ANI ว่า “รัฐบาลซาอุดิอาระเบียทำลายอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ในประเทศซึ่งขัดต่อความเชื่อของเรา เราต้องการให้มีการบูรณะสุสานที่ถูกทำลายในประเทศนี้ขึ้นมาใหม่”
สุสานบาเกี๊ยะอ์เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของชุมชนมุสลิมส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นสุสานที่ใช้ฝังบางส่วนจากบุคคลในครอบครัวของศาสดามูฮัมหมัด และเหล่าซอฮาบะห์ (สาวกผู้ใกล้ชิดศาสดา) หลายคน นอกจากนั้นมุสลิมบางกลุ่มยังเชื่อว่า ฟาติมะห์ บุตรีของศาสดามุฮัมหมัด ก็ถูกฝังอยู่ที่นั่น
ขณะเดียวกันสำหรับมุสลิมนิกายชีอะห์นั้นได้ให้ความสำคัญกับสุสานแห่งนี้เป็นพิเศษ ด้วยมีอิมาม (ผู้นำ) ของพวกเขาฝังอยู่ที่นี่ 4 คน ได้แก่ หะซัน บินอะลี, ซัยนุลอาบิดีน บินหุเซน, มูฮัมหมัด บาเกร และญะฟัร ซอดิก
ทั้งนี้เมื่อราชวงศ์อัลซาอูด ซึ่งยึดแนวทางอิสลามแบบวะฮาบี ได้ขึ้นมามีอำนาจในดินแดนฮิยาซ (ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็นซาอุฯ) พวกเขาก็ได้ทำลายสิ่งปลูกสร้างบนสุสานบาเกี๊ยะอ์แลสุสานอื่นๆ ในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อของแนวคิดแบบวะฮาบี ที่ระบุว่า การสร้างสิ่งก่อสร้างบนหลุมฝังศพต่างๆ นั้นเป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม) และเป็นหน้าที่จำเป็น (วาญิบ) ที่จะต้องทำลายสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นโดยเร็วเมื่อมีอำนาจที่จะทำลาย