ศอ.บต.เร่งเดินหน้าถอดบทเรียนการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้าน จชต. (พนม.)

นายสำอาง ศิริรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวพบปะผู้เข้าร่วมการประชุมว่า โครงการพนม.เป็นโครงการที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากในปี 2550 รัฐบาลได้มอบหมายให้ ศอ.บต.ดำเนินโครงการพนม.ดังกล่าว เป็นโครงการหลักของการวางระบบการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต.โดยมุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนด้วยวิธีการส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้าน

ในการนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.ได้ร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง “ นโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า กลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ จชต.นั้น รัฐบาลได้วางแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในการขับเคลื่อนนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับหมู่บ้านให้ยั่งยืน กระตุ้นพื้นที่ให้เกิดสันติสุข เกิดรายได้อย่างยั่งยืน  และทุกคนที่เข้าร่วมในกิจกรรมการประชุมในครั้งนี้ ท่านคือบุคคลที่จะนำนโยบายไปขยายสู่ชุมชนให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดอีกด้วย

ตามที่รัฐบาลได้เร่งพัฒนาและแก้ไขปัญหา จชต.นั้น ศอ.บต.ได้สนองนโยบาย จึงได้ดำเนินงานภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ และคุณภาพชีวิตของประชาชน กล่าวคือ “ คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน และเป็นการแก้ไขปัญหาตามความเป็นจริงที่สอดคล้องกับช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ” รวมทั้ง “ มีจุดมุ่งหมาย ต้องการให้ข้าราชการที่ปฎิบัติงานในพื้นที่หมู่บ้าน ลงไปปฎิบัติงานลักษณะบูรณาการทำงานตามยุทธศาสตร์ประชารัฐ ร่วมใจสันติสุข ร่วมใจสันติสุข เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับประชาชน สร้างความอบอุ่นใจและเชื่อมั่นต่อทางราชการ ” โดยโครงการนี้ จะเป็นเครื่องมือในการทำงานทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายความมั่นคง ร่วมกับประชาชนในหมู่บ้าน ก่อให้เกิดการทำงานที่เข้มแข็งเกิดขึ้นในหมู่บ้าน โดยมุ่งเน้น การส่งเสริมความเข้มแข็งในระดับหมู่บ้านให้ยั่งยืน โดยใช้กลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ขับเคลื่อนการปฎิบัติการให้สามารถบริหาร  จัดการ หมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีภูมิคุ้มกันให้กับหมู่บ้านของตนเอง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และได้สามารถทำงานร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนในหมู่บ้าน จึงได้เกิดโครงการพนม.เพื่อประโยชน์สูงสุดคือประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ได้ทบทวนประสบการณ์ในการปฎิบัติงานที่ผ่าน เพื่อเป็นแนวทางและนำการถอดบทเรียนนี้ได้ไปใช้ในการขับเคลื่อนโครงการให้ก้าวหน้าต่อไปพร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่อีกด้วย