ติวเข้มฝ่ายกิจการฮาลาล ปรับกระบวนทัศน์มุ่งยกระดับฮาลาลไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“คนส่วนใหญ่มองฮาลาลเป็นเรื่องของธุรกิจ เป็นเรื่องของการค้า แต่เราไม่ได้มองตรงนั้น เรามองตรงที่คุณภาพและความปลอดภัย ถือว่างานนี้เป็นงานที่ปรับกระบวนทัศน์ของการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลให้มี คุณสมบัติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

9 สิงหาคม – ที่ห้องประชุมพรรณรายโรงแรมเอ-วัน เดอะรอยัลครูส  พัทยา ฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ  “การพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจประเมิน ที่ปรึกษา และนักวิทยาศาสตร์ฮาลาลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ.2557” โดยมีฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเข้ารับการอบรมดังกล่าวประมาณ 400 คน

ในงานดังกล่าวมีการบรรยายกฎระเบียบและข้อกำหนดต่างๆ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันที่จำเป็นต้องรู้เพื่อให้ผู้ตรวจประเมิน และที่ปรึกษาฮาลาล ได้นำไปใช้ในการปฏิบัติงานในการตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองฮาลาล เช่น มาตรฐานฮาลาลโคเด็กซ์ , มาตรฐานอาหารฮาลาล มกอช.8400-2550 ,พระราชบัญญัติบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ระเบียบต่างๆ ของ สกอท.ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดการตรวจรับรองกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล พ.ศ.2554 ข้อกำหนดการตรวจรับรองฮาลาล โรงเชือดและชำและ พ.ศ.2554 ระเบียบ สกอท.ว่าด้วยการคุ้มครองผลประโยชน์เครื่องหมายรับรองฮาลาล พ.ศ.2554 ,การ ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ฮาลาล การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการตรวจประเมินคุณภาพฮาลาล เป็นต้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมฮาลาลในตลาด AEC และตลาดโลกที่กำลังเกิดกระแสการตื่นตัวในเรื่องอาหารปลอดภัยและสอดคล้องกับศาสนบัญญัติ

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ประธานสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ในส่วนของคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย เราจะคุยกันในเรื่องของคุณภาพเป็นหลัก เรื่องเกี่ยวฮาลาลมันได้ก้าวไปไกลแล้ว ลูกค้าหรือผู้บริโภคไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศเขาต้องการความเชื่อมั่น ในมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งในความเชื่อมั่นนั้นมีมาตรฐานฮาลาลรวมอยู่ด้วย ในความเป็นมาเป็นไปในโลกของฮาลาลนั้น พวกเราที่ได้มีโอกาสไปดูไปศึกษามา จึงนำเรื่องนี้มาเล่าให้ผู้เข้ารับอบรมฟัง แล้วก็ใส่ความเป็นวิชาการเข้าไปด้วย ผู้ที่เข้ารับการอบรมในวันนี้นั้นเขามีพื้นฐานมาก่อน แต่ถ้าเปรียบกับ 2 ปีผ่านมาเราจะเห็นข้อเปรียบเทียบที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เมื่อถึงเวลาที่อาเซียนมีความพร้อม OIC มีความพร้อมในเรื่องฮาลาล พวกเราก็เป็นผู้ที่ไปยืนในจุดที่อาเซียนคิดแล้วในเรื่องที่เกี่ยวกับฮาลาล  เพราะตอนนี้เรากำลังอยู่ที่ตรงนั้นแล้ว  อย่างเช่นเขาบอกว่าใครที่จะมาอยู่ในระบบตรวจสอบคุณภาพฮาลาลจะต้องผ่านงาน ด้านนี้มาไม่ต่ำกว่า 5 ปี หน่วยงานไหนที่ไม่ผ่านงานนี้มาครบ 5 ปี ก็จะมาทำงานนี้ไม่ได้ ประเทศอื่นนี่เขายังไม่ได้เตรียมงานนี้ แต่เราทำงานนี้หลายสิบปีแล้ว”

รศ.ดร.วินัย กล่าวต่อว่า “สำหรับบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการในการรับรองฮาลาลในประเทศไทยของเรานั้น เราเริ่มทำงานนี้มาตั้งแต่ปี 2542 และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เข้า มาให้การสนับสนุน และเอาระบบตรงนี้  คือการบริหารจัดการการศึกษาเข้ามาด้วย ในอนาคตคนที่ทำงานด้านนี้จะต้องมีชั่วโมงบิน ว่าเข้าไปตรวจโรงงาน เข้าไปรับรองโรงงานกี่ชั่วโมงแล้ว  และ ในที่สุดเรื่องที่เราทำที่ผ่านมาก็จะเป็นมาตรฐานของโลกในเรื่องที่เกี่ยวฮา ลาล นี่คือสิ่งที่เราทำ คือเรามองในเรื่องของความเป็นผู้นำในการดำเนินงานที่เกี่ยวกับกระบวนการการ ตรวจสอบรับรองมาตรฐานฮาลาลให้เป็นการรับรองที่มีมาตรฐานในระดับโลก”

“เป้า หมายของงานนี้แล้วจริงๆ คือ การพัฒนาคุณภาพการรับรองฮาลาลของประเทศไทยให้ก้าวขึ้นไปสู่การพัฒนาในระดับ สากล และคนที่จะทำงานตรงนี้ต้องเป็นมุสลิม และต้องเป็นคนที่คณะกรรมการอิสลามรับรองมา ซึ่งเรามีคุณสมบัติเหล่านี้เรามีครบถ้วนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราขาดประสบการณ์หรือขาดการฝึกอบรมที่เป็นระบบ  คนส่วนใหญ่มองฮาลาลเป็นเรื่องของธุรกิจ เป็นเรื่องของการค้า แต่เราไม่ได้มองตรงนั้น เรามองตรงที่คุณภาพและความปลอดภัย ถือว่างานนี้เป็นงานที่ต้องปรับกระบวนทัศน์ของการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลให้ มีคุณสมบัติที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล” ประธานสถาบันมาตรฐานฮาลาลและ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล กล่าวสรุปเป้าหมายของงานครั้งนี้