กอท.จัดงาน “ฮาลาล” ชายแดนใต้ ดันจุดเชื่อมสร้างสันติภาพ อิหม่ามเกือบสามพันคนเข้าร่วมคึกคัก

คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) จับมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านฮาลาล (Southern Border Halal International Fair 2015 -SHIF 2015) หวังดัน “ฮาลาล” เป็นจุดเชื่อมการสร้างสันติภาพในภาคใต้ อิหม่ามเกือบ 3,000 คนจากทุกมัสยิดในจชต.ร่วมงานคึกคัก

เทศกาลนานาชาติฮาลาลชายแดนใต้ หรือ Southern Border Halal International Fair (SHIF 2015) จัดขึ้น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระหว่าง วันที่ 8-10 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา แม่งานคือ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) จับมือกับศูนย์วิทยาศาสตรฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยร่วมกับ คณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอจ.ใต้) และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

งานครั้งนี้ประกอบไปด้วย การประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยสัญจร การประชุมอิหม่ามจาก 2,800 มัสยิด ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเสวนาศักยภาพฮาลาลไทย การเสวนาทางออกของปัญหาชายแดนภาคใต้ การเสวนาศักยภาพนักธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมและงานคุ้มครองผู้บริโภค การจัดนิทรรศการ Sultan of Science นิทรรศการ Demo Lab นิทรรศการคัมภีร์กุรอานและกีตาบโบราณ การจัดแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศ มาเลเซีย นิทรรศการหน่วยงานราชการและองค์กรเอกชนจำนวน 200 บูธ

11998841_1152523591431087_1674723600574947421_nโดยวัตถุประสงค์ในการจัดงานนอกจากเพื่อสร้างมิติใหม่ในการขับเคลื่อนจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นสู่ผู้นำธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวฮาลาลในระดับอาเซียนและนานาชาติแล้ว ที่สำคัญมีความคาดหวังว่า เศรษฐกิจฮาลาลจะเป็นจุดเชื่อมในการช่วยแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้

พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวบนเวทีว่า เรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาสามชั่วอายุคนแล้ว หากเรายึดหลักตามรัฐประศาสนนโยบายของรัชกาลที่ 6 ในเรื่องของการปฏิบัติต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าการออกระเบียบก็ดี การส่งงบุคคลเข้ามาในภาคใต้ก็ดี การจัดเก็บภาษีก็ดี เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจไม่เกิดขึ้นอย่างในทุกวันนี้ หากนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ในปี 2547 รัฐบาลใช้งบประมาณแผ่นดินไปไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก

พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่
พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่

“ในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาด้านการปกครอง ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนได้แก้ปัญหาภายในประเทศไปแล้ว มาเลเซียมีปัญหาใหญ่กว่าเราคือปัญหาเชื้อชาติ แต่แก้ได้หมดแล้ว ฟิลิปปินส์มีปัญหาเกาะมินดาเนา อินโดนีเซียมีปัญหาอาเจะห์ กัมพูชามีปัญหาเรื่องเขมรสี่ฝ่าย ทั้งหมดแก้ไขได้แล้ว”

“การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ เป็นครั้งแรกที่มาจัดในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในอดีตไม่มีการจัดงานเช่นนี้ ที่พิเศษคือการประชุมอิหม่าม รวมทั้งสัมมนาศักยภาพฮาลาลไทย ศักยภาพนักธุรกิจฮาลาลและการแสดงสินค้าฮาลาล และคาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความสันติสุข และสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้” พลตำรวจตรี สุรินทร์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ชายแดนใต้กับการเข้าสู่อาเซียน” ว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีโอกาสได้พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้มานั่งคุยกันว่า เราจะต้องช่วยในอีกมิติหนึ่ง คือ มิติของศาสนา วัฒนธรรม การกินดีอยู่ดีของพี่น้อง ส่วนมิติเรื่องการปกครอง การทหาร นั้นให้เป็นเรื่องของรัฐบาล

ดร.วินัย ดะห์ลัน
ดร.วินัย ดะห์ลัน

“เราจึงคิดว่า กลุ่มที่สามารถคุยกันได้ดีคือ กลุ่มอิหม่าม ตามพรบ.พ.ศ.2540 มุสลิมไทยมีประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรชาวไทย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกผู้นำของตนเอง เลือกอิหม่ามดูแลในชุมชน เลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และเลือกตัวแทนไปเป็นคณะกรรมการกลางฯ ผู้แทนเหล่านี้มีประมาณ 60,000 คน มีมัสยิดทั่วไทย 2,700 แห่ง โครงสร้างนี้คือตัวแทนมุสลิมทั้งหมดในไทย จึงใช้โอกาสนี้มาพูดคุยกับอิหม่ามทุกชุมชน โดยถือเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้มาพบกับบรรดาอีหม่ามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

“เมื่อมองไปในการแก้ปัญหาเรื่องการเมือง การปกครอง รัฐบาลชอบมองไปที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งที่ลืมมองคือ อิหม่าม ซึ่งเป็นทางออกของคนในชุมชน อิสลามเป็นศาสนาของทุกคน ฮาลาลเป็นสะพานเชื่อมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง” ดร.วินัย กล่าว

สำหรับการจัดงานในวันแรกว่าด้วยเรื่องของศักยภาพฮาลาลไทย  มีการปาฐกถาพิเศษ “ชายแดนใต้กับการเข้าสู่อาเซียน” และการเสวนาหัวข้อ ศักยภาพแบรนด์ฮาลาลไทยสู่ฮาลาลโลก  ส่วนวันที่ 2 ว่าด้วยเรื่องทางออกปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นสำคัญมีการเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ “เดินหน้าประเทศไทยสู่สันติภาพชายแดนใต้” โดยประธานในพิธี พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์  องคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี   มีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ทางออกปัญหาชายแดนใต้”  โดย นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และวันที่ 3 เรื่อง ศักยภาพนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( SMEs) และงานคุ้มครองผู้บริโภค มีการเสวนา หัวข้อ “ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ  นอกจากนั้นในแต่ละวันจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น งานประชุมสัมมนาคณะกรรมการกลางสัญจร เสวนาทางวิชาการ งานแสดงวัฒนธรรม ขับร้องอันนาชีด งานแสดงสินค้าฮาลาล จำนวน 150 บูธ  และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลจำลอง เป็นต้น

IMG_5078 11998841_1152523591431087_1674723600574947421_n 11986351_1152523198097793_7632090710694356651_n