กรมปศุสัตว์ร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตรวจรับรองโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้ได้มาตรฐานฮาลาล สร้างความเชื่อมั่นในสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ฮาลาลและความปลอดภัยต่อผู้ บริโภคทุกศาสนาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รองรับประชากรมุสลิมในอาเซียน กว่า 300 ล้านคน ในการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย
นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้เริ่มดำเนินงานโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้าน ปศุสัตว์ ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันนี้ ด้วยกรมปศุสัตว์ คำนึงถึงความปลอดภัยด้านอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคและประเทศคู่ค้ามีความตื่นตัวในเรื่องมาตรฐานสินค้าและ สุขภาพอนามัย ประกอบกับในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีกลุ่มประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และสิงคโปร์ ทำให้เกิดความร่วมมือทางการค้าและบริการต่างๆระหว่างกัน เพราะฉะนั้นไทยจึงต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงจากการมีประชาชนจากต่างประเทศ เข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากขึ้นทั้งด้านการทำงาน การลงทุน การท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกอาเซียนจากประเทศที่มีประชากรมุสลิมมาก ทั้งนี้กลุ่มประเทศในอาเซียนมีจำนวนประชากรรวมประมาณ 600 ล้านคน เป็นประชากรมุสลิมประมาณ 300 ล้านคน
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์เป็นโครงการที่รองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยกรมปศุสัตว์ร่วมมือกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการตรวจรับรอง โรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้ได้มาตรฐานฮาลาล เพื่อให้สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคมุสลิมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
โอกาสดีๆ ร่วมโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์
เพื่อเป็นการขยายผลการดำเนินงานกรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานตรวจประเมินโรงฆ่า สัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานฮาลาลประจำจังหวัด ซึ่งผู้ประกอบการที่มีความสนใจในการเข้าร่วมโครงการฯสามารถขอรายละเอียดและ ยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย กรมปศุสัตว์ได้จัดงบอุดหนุนให้แก่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าธรรมเนียมการตรวจประเมินตามมาตรฐานฮาลาลแก่ สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ
ผลการดำเนินงานของโครงการ ฯ ปี 2556 – ปี 2558 (ผลดำเนินงาน ณ วันที่ 30 กย. 2558)
– การตรวจประเมินโรงฆ่าสัตว์ตามมาตรฐานฮาลาล 80 แห่ง
– การตรวจประเมินสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานฮาลาล 250 แห่ง
– การตรวจวิเคราะห์คุณภาพสินค้าปศุสัตว์ตามมาตรฐานฮาลาล 2400 ตัวอย่าง
นาย สัตวแพทย์อยุทธ์ กล่าวว่า “กรมปศุสัตว์คาดหมายว่าโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล ด้านปศุสัตว์จะทำให้ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศ และนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีการรับรอง มาตรฐานฮาลาลจากโครงการฯ ประชาชนได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่สด สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐานฮาลาล เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตฯ และผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ได้รับรองมาตรฐานฮาลาล นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย”
“โครงการดังกล่าว เริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2556 จนถึงปัจจุบันปี 2558 การผลิตสินค้าปศุสัตว์ประเภทสัตว์ปีกส่งต่างประเทศ ซึ่งได้รับรองฮาลาลอยู่แล้ว โดยมูลค่าการส่งออกประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ส่งออกไปยังตะวันออกกลาง อียู ประมาณ 395 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลทั้งหมด ซึ่งตลาดสินค้าฮาลาลยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้เป็นเพราะว่าประชากรโลกกว่า 1/3 เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม สินค้าที่ได้เครื่องหมายรับรองฮาลาลเป็นสินค้าที่บริโภคได้ทุกศาสนา สำหรับมุมมองในอาเซียนประชากรรวม 600 ล้านคน ในจำนวนนี้ประชากร 300 ล้านคน เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม นับได้ว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก”
“การดำเนินโครงการกรมปศุสัตว์ ร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เริ่มจากการอบรมผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ กว่า 150 แห่ง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หลักปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อการรับรองฮาลาล ทำความเข้าใจ ชี้แนะ ผู้จำหน่ายกว่า 300 แห่ง เก็บตัวอย่างตรวจทั่วประเทศกว่า 2400 ตัวอย่าง ปี 2556 ดำเนินการได้ 77 % สำหรับปี 2557 ดำเนินการได้ 78 % และปี 2558 ดำเนินการได้ 80 % ทั้งนี้เพื่อกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ เพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค มีมาตรฐาน ปลอดสารตกค้าง และเป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล จากครัวไทยยกระดับสู่ครัวโลก”