(19 ตุลาคม 2558) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงาน “STEM DAY: เรียนรู้ให้สนุก ฝึกคิดแบบสะเต็ม เติมเต็มทักษะชีวิต” ระหว่างวันที่ 19-20 ต.ค. 58 เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ครู ผู้ปกครอง เยาวชน เครือข่ายภาครัฐและเอกชน ตระหนักถึงคุณค่าของการเรียนรู้ในศาสตร์ 4 ด้านคือ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) โดยนำความรู้ต่างศาสตร์มาเชื่อมโยงกันและนำสู่การแก้ปัญหาในชีวิตจริง ที่ต้องวางแผน แก้ปัญหา ลงมือทำ จนเกิดเป็นวิธีการหรือกระบวนการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน รวมทั้งเพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพครูแกนนำผู้สอนสะเต็มศึกษาให้สามารถจัดการเรียนการสอนด้านสะเต็มได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีครู นักเรียน และผู้สนใจในวงการสะเต็มศึกษาเข้าร่วมงานกว่า 400 คน
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “สวทช. ได้กำหนดให้การพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพันธกิจหนึ่งขององค์กร ซึ่งดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน มาเป็นเวลานาน และในโอกาสที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ให้การสนับสนุน สวทช. จัดทำโครงการ “ส่งเสริมการใช้ศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมโดยการยกระดับและทักษะความรู้ด้าน STEM ให้แก่ นักเรียน ครู และบุคลากรวัยทำงาน” ในปีงบประมาณ 2557 ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ 2558 ทำให้การดำเนินงานที่ผ่านมาเน้นแนวทาง STEM เพื่อเตรียมเยาวชนทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบการศึกษา และบุคลากรกลุ่มแรงงานหรือ STEM Workforce เพิ่มทักษะและคุณภาพด้าน STEM ให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ด้วยการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ บริษัทอินเทลอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทยจำกัด เพื่อสร้างบุคลากรในสาขาสะเต็มให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งการเชื่อมโยงการเรียนรู้โดยใช้โจทย์วิจัยและศักยภาพของนักวิจัยจาก 4 ศูนย์แห่งชาติของ สวทช. คือ ไบโอเทค เนคเทค เอ็มเทค และนาโนเทค การทำงานร่วมกับคลัสเตอร์วิจัยต่างๆ และใช้ประโยชน์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และความสามารถการบริหารงานด้านพัฒนาบุคลากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสำนักพัฒนากำลังคน สวทช. อย่างเต็มศักยภาพ”
“โดยการดำเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 – สิงหาคม 2558 โครงการฯ ได้พัฒนาต้นแบบสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ หลักสูตรการจัดอบรม และแนวทางการจัดกิจกรรมด้านสะเต็มที่เหมาะสมและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ได้แก่ เยาวชน ผู้ปกครอง ครู ตลอดจนบุคลากรวัยทำงานได้มากกว่า 12,000 คน จึงได้จัดงาน ‘STEM Day 2015: เรียนรู้ให้สนุก ฝึกคิดแบบสะเต็ม เติมเต็มทักษะชีวิต’ ครั้งนี้ขึ้น ซึ่งนับเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษา ตั้งแต่เด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ชุมชน นักวิจัย ผู้ประกอบการ และผู้บริหารสายงานด้านการศึกษา ได้สรุปผลงานที่ผ่านมา พร้อมนำเสนอกรณีตัวอย่างนวัตกรรมที่เกิดขึ้น รวมทั้งหารือแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการทำงานด้าน STEM Education และการพัฒนา STEM Workforce ต่อไปในอนาคต ถือเป็นกิจกรรมที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายสะเต็มศึกษา เพื่อยกระดับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และกระตุ้นความสนใจให้เด็กและเยาวชนรู้จักการนำความรู้ด้านสะเต็มไปใช้ประโยชน์ทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงานในอนาคต รวมทั้งพัฒนาครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนด้านสะเต็ม ตลอดจนพัฒนาบุคลากรวัยทำงานให้มีทักษะและความรู้ในการทำงานที่จำเป็นต่อการสร้างอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และเพิ่มผลิตภาพได้ต่อไป”
ทั้งนี้ งาน STEM DAY 2015 ประกอบด้วยกิจกรรมไฮไลท์ อาทิ การบรรยายพิเศษเรื่อง สะเต็มศึกษากับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / รองประธานกรรมการ สสค. ที่พูดถึงความจำเป็นในการปรับการเรียนการสอนเพื่อนำพาเด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกในศตวรรษที่ 21 และเรื่อง ทิศทางของสะเต็มศึกษาในประเทศไทย โดย ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. ที่พูดถึงสะเต็มศึกษาจากระดับสากลสู่ทิศทางและนโยบายสะเต็มศึกษาในประเทศไทยและการนำมาปรับใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ การประชุมปฏิบัติการที่เป็นเวทีให้ครูนำเสนอและแลกเปลี่ยนผลงานที่ได้ดำเนินงานจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาในชั้นเรียน และการแนะแนวอาชีพด้านสะเต็มจากฑูตสะเต็ม เป็นต้น
ในปัจจุบันการบูรณาการการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาถือเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนสามารถบูรณาการเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์เข้ากับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นรอบตัว เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์และการวางแผนในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 กล่าวคือ สะเต็มศึกษาจะมุ่งเน้นให้เชื่อมโยงความรู้ในหลายๆ วิชาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในชีวิตจริง ที่นักเรียนต้องมีการวางแผนเพื่อแก้ปัญหา ลงมือปฏิบัติ และได้ผลลัพธ์ออกมา ซึ่งอาจเป็นวิธีการที่ช่วยแก้ปัญหาหรือทำให้ดีขึ้นหรือเกิดเป็นชิ้นงาน/โครงงานวิทยาศาสตร์ก็ได้ นับเป็นกระบวนการทางวิศวกรรมที่เกิดขึ้นนั่นเอง กิจกรรมสะเต็มถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่เพิ่มเสริมขึ้นมาเพื่อให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงความรู้เข้ากับชีวิตจริง เกิดเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมายมากขึ้นในท้ายที่สุด